Thai-BISPA ผนึกกำลัง AABI และ AIMs จัดงาน Thai-BISPA Day 2023 นิทรรศการพร้อมแจกรางวัลด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai Business Incubators and Science Parks Association : Thai-BISPA) ได้จัดการประชุมสัมมนาและนิทรรศการประจำปี Thai-BISPA Day 2023 การประชุมนานาชาติ 2023 AABI Summit and Awards Ceremony และกิจกรรมการประชุม  สุดยอดเครือข่ายผู้จัดการนวัตกรรม AIMs Summit ณ ห้อง Le Concorde Ballroom ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา

ทั้งนี้ งาน Thai-BISPA Day นั้น เป็นกิจกรรมที่ทางสมาคมฯ จัดอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม สำหรับงาน Thai-BISPA Day ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Low-Carbon Economy” เพื่อเน้นย้ำในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคสังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้จัดการประชุมนานาชาติ 2023 AABI Summit และมีพิธีมอบรางวัลธุรกิจนวัตกรรมยอดเยี่ยมระดับเอเชีย AABI Awards สมาคมส่ง 2 ธุรกิจนวัตกรรมไทยคว้ารางวัลนานาชาติเฉือนคู่แข่งจาก 18 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย:

1) บริษัท อินโน กรีน เทค จำกัด ผู้พัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียวงจรไฟฟ้าชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดไฟ ลดการปล่อยมลพิษ และมีราคาถูกลง ได้รับรางวัล 2023 AABI Torch Award for Technology Transfer และ 2023 Torch Award for Best Nominee (Thailand)

2) บริษัท เทสเต็ด เบ็ตเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้พัฒนานวัตกรรมขนมปังปราศจากแป้งและน้ำตาล สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อาหารสำหรับผู้ลดน้ำหนักแบบคีโตเจนิค ภายใต้แบรนด์ Dancing with a Baker ได้รับรางวัล 2023 AABI Torch Award for Internationalization

และในปีนี้ สมาคมฯ ยังได้มอบรางวัล Thai-BISPA Awards พร้อมเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 50,000 บาท แก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ซึ่งภายหลังจะได้รับการเสนอชื่อไปประกวดในเวทีระดับสากลต่อไป โดยผู้ประกอบการดีเด่น จำนวน 2 ราย ได้แก่

1) บริษัท พีร์ชญาลี้ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ OZ-P NOURISH OIL ผลิตภัณฑ์น้ำมันหัวหอม และหอมแดงออร์แกนิก สำหรับเด็กและคนที่เป็นภูมิแพ้ และผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์หัวหอมกระชาย สูตรต้านแบคทีเรีย และป้องกันไวรัส

2) บริษัท ไซเอนซ์ อินโนเวทีฟ โปรดักส์ จำกัด ผู้วิจัยพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง และสารสกัดโดยใช้เทคโนโลยีการทดสอบประสิทธิภาพในระดับเซลล์ แบรนด์ AUTOPHILE PLUS ย่อยเซลล์เก่าแล้วเปลี่ยนเป็นเซลล์ใหม่ ต้านความชราจากการทำงานหนักและพักผ่อนน้อย ผิวและรูปร่างกระชับ ดูอ่อนเยาว์

รศ.ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย นายกสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า “สมาคม Thai-BISPA ได้เป็นศูนย์กลางเครือข่ายของกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศ ในการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศและผลักดันสู่ระดับนานาชาติ ด้วยการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พัฒนาความรู้และทักษะในการบริหารจัดการ เสนอแนะแนวทางในการยกระดับกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Low-Carbon Economy ซึ่งสอดคล้องกับกับการสร้างเศรษฐกิจและสังคมด้วยความยั่งยืน และลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมสู่ Low Carbon Economy ไว้อย่างน่าสนใจว่า “มีปรากฏการณ์ที่แปลก ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้บานสะพรั่งในทวีปแอนตาร์กติกา ปูสีฟ้าบุกข้ามทวีปจากอเมริกาไปยุโรป ทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาเริ่มมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติว่า หากพวกเราไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำได้สำเร็จตามเวลาที่กำหนด อาจหมายถึงจุดจบของมวลมนุษยชาติ”

นอกจากนี้ ภายในงาน ยังเป็นครั้งแรกของเครือข่ายผู้จัดการนวัตกรรมของประเทศไทย (Alliance of Innovation Managers Thailand: AIMs) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจนำนวัตกรรมไปสร้างความเข้มแข็งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สามารถพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารจัดการนวัตกรรมอย่างยั่งยืนได้ ในหัวข้อ “Fueling Innovation Excellence: The Human Factor” พร้อมกับนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมจากทั่วประเทศกว่า 40 หน่วยงาน

ศ.ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการจัดตั้งเครือข่ายผู้จัดการนวัตกรรมประเทศไทย (AIMs) กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสดี ที่ AIMs ได้จัดกิจกรรมการประชุมสุดยอดเครือข่ายผู้จัดการนวัตกรรม AIMs Summit เป็นครั้งแรกในปีนี้ เพราะในโลกยุคที่มีความท้าทายด้านนวัตกรรม ประเทศไทยควรมีการจัดการนวัตกรรมเพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขัน รวมถึงการถ่ายทอดทางนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต พร้อมผลักดันให้เครือข่ายผู้จัดการนวัตกรรมของประเทศไทย ให้มีโอกาสสานสัมพันธ์ และพัฒนาความร่วมมือในด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกันต่อไป”

รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “การมีนโยบายและทิศทางการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายนักจัดการนวัตกรรมนั้น ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศได้ ซึ่งทาง สกสว. สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเครือข่ายดังกล่าวอย่างเต็มที่ผ่านความร่วมมือกับสมาคม Thai-BISPA ในการเร่งกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน”

 สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.thaibispa.or.th