‘AIS’ ชี้ตลาดโทรคมนาคมยังคงแข่งขัน! เชื่อคลื่น 700 MHz จาก ‘NT’ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสัญญาณขึ้น 30%

หลังจากที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ออกมายืนยันว่า ไม่เคยมีการ ฮั้วราคา กับ เอไอเอส ตามที่มีประเด็นในโลกโซเชียลฯ หลังจากที่หลายคนบ่นว่าคุณภาพสัญญาณมีปัญหา และปรับราคาแพ็กเกจใหม่ โดยล่าสุด ทางเอไอเอสก็ออกมายืนยันอีกเสียงว่า การแข่งขันยังมี เพราะเอไอเอสก็ไม่ยอม

การแข่งขันยังมี แต่ราคากลับสู่ภาวะปกติ

จากประเด็นในโลกโซเชียลฯ ว่าหลังจากที่ตลาดโทรคมนาคมเหลือผู้เล่นหลัก 2 ราย ทำให้ราคาค่าบริการสูงขึ้นสวนทางกับคุณภาพหรือไม่ ทาง สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS อธิบายว่า หากเทียบคุณภาพกับราคา ตลาดไทยถือว่า ถูกกว่าหลายประเทศ เพียงแต่ในช่วง 2-3 ปีก่อนมีการแข่งขัน ผิดปกติ เพราะมีการแข่งขันเพื่อขยับจากเบอร์ 3 ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ซึ่งผู้บริโภคอาจจะเคยชิน แต่ปัจจุบันตลาดกลับไปสู่ ราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ ตลาดไทยมี กสทช. ควบคุมราคาอยู่แล้ว ซึ่งราคาในปัจจุบันยังถือว่า ต่ำกว่าที่ กสทช. กำหนด

“การแข่งขันยังมีเพราะเราก็ไม่ยอมอยู่แล้ว ตอนนี้สงครามราคาก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ตอนนี้มันถูกปรับมาสู่ภาวะการตลาด เพราะเรามีการลงทุนปีละหลายหมื่นล้านบาท ตอนนี้ต้นทุนเรื่องค่าไฟต่าง ๆ ก็สูงขึ้น” สมชัย อธิบาย

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS

คลื่น 700 MHz ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น 30%

ในส่วนของเรื่องคุณภาพ Network สมชัยก็ย้ำว่า ไม่เกี่ยวกับที่เหลือผู้เล่น 2 ราย แต่เป็นหน้าที่ของเอไอเอสที่จะทำให้ดีขึ้น โดยนอกจากการลงทุนปีละหลายหมื่นล้านบาทแล้ว ล่าสุด เอไอเอสได้ร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นำคลื่น 700 MHz จำนวน จำนวน 5 MHz มาเสริมทำให้เอไอเอสมีคลื่น 700 MHz รวม 20 MHz ก็จะยิ่งทำให้เน็ตเวิร์กกว้างขึ้น ทะลุทะลวงมากขึ้น

“การที่ได้คลื่น 700 MHz มาอีก 5 MHz จะช่วยให้สัญญาณเราดีขึ้น 30%” สมชัย ย้ำ

นอกจากนี้ เอไอเอสเปิดตัวบริการ 5G Living Network ที่เป็นบริการ Network on Demand ให้ผู้ใช้สามารถเลือกความเร็ว เลือกเวลา และเลือกสถานที่ที่จะอัปสปีดความเร็วของสัญญาณได้ ซึ่งจะมีค่าบริการเพิ่มเติม และใช้ได้ 3 ชั่วโมง โดยจะเปิดให้ใช้บริการในช่วงต้นเดือนหน้า

ย้ำ 3BB ไม่ผูกขาด

ในส่วนของดีลระหว่างเอไอเอสกับ 3BB ที่ยังไม่จบนั้น สมชัย เชื่อว่า ไม่ผูกขาด เพราะในตลาด อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ยังมีผู้เล่นรายใหญ่อีกหลายราย อาทิ ทรู และ ToT อีกทั้งธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยัง ไม่ต้องมีคลื่นความถี่ ดังนั้น สามารถมีผู้เล่นใหม่เข้ามาได้ตลอด ซึ่งปัจจุบันตลาดก็มีผู้เล่นรายย่อยหลายร้อยราย

ทั้งนี้ เอไอเอสเชื่อว่าหากควบรวมกับ 3BB สำเร็จจะทำให้บริการครอบคลุมกว่า 13 ล้านครัวเรือน ล่าสุด เอไอเอสได้เปิดตัวเทคโนโลยีล่าสุด WiFi 7 รายแรกในไทย โดยร่วมกับ TP-Link ที่มาพร้อมเราเตอร์มาตรฐาน WiFi 7 ในการรองรับดีไวซ์ Device ให้เชื่อมต่อได้ ลดปัญหาเกี่ยวกับช่องสัญญาณที่แออัด ทำให้ใช้งานได้ไหลลื่น รองรับการ สตรีมแบบวิดีโอแบบ 8K การใช้งาน VR ที่ตอบโจทย์ทุกคนในบ้านได้อย่างครบถ้วน

ยังยึดหลัก “พาย 3 ชิ้น”

สำหรับทิศทางของเอไอเอสยังคงอยู่บนเส้นทางการเป็น องค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co พร้อมยึดหลัก พาย 3 ชิ้น หรือ ECOSYSTEM ECONOMY โดยเอไอเอสยังคง 1. ลงทุนในอินฟราสตรักเจอร์พร้อมพัฒนาสู่โครงข่ายเน็ตเวิร์คอัจฉริยะ โดยจะมีบริการใหม่ ๆ เช่น 5G Living Network, WiFi 7, Enterprise Platform – CPaaS (Communication Platform as a Service) และ AIS Paragon ที่เชื่อมต่อเครือข่าย 5G, Fibre, Edge Computing, Cloud, และ Software Application

2. Cross Industry Collaboration เพราะเอไอเอสไม่อยากโตคนเดียว ดังนั้น ด้วยฐานลูกค้ากว่า 44 ล้านเลขหมาย จะช่วยให้พาร์ตเนอร์สามารถเติบโตไปพร้อมกับเอไอเอส อาทิ ความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เชื่อมโยงร้านค้าถุงเงินรวมกว่า 1.8 ล้านร้านค้า และจับมือห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมถึงร้านค้าพาร์ตเนอร์ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง ให้นำ AIS Point ใช้แทนเงินสด ล่าสุด สามารถนำ Point ของพันธมิตรเอไอเอสมาเปลี่ยนเป็น AIS Point ได้ด้วย

ในส่วนขององค์กร ได้ร่วมกับ ZTE เพื่อเตรียมเปิดตัวบริการ Cloud PC for Enterprise ให้องค์กรใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านคลาวด์ในรูปแบบ Desktop as a Service (DaaS) และถือเป็น ครั้งแรกในอาเซียน ที่พร้อมให้บริการ Microsoft Teams Phone ให้องค์กรและพนักงานสามารถโทรออกไปยังเบอร์ภายนอกและรับสายได้ผ่าน Microsoft Teams รวมไปถึงการนำสุดยอดนวัตกรรม genAI ช่วยยกระดับการทำงานของ Microsoft 365 Copilot for Enterprise

สุดท้าย 3. ความยั่งยืน เพราะองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการดูแล เศรษฐกิจ ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กัน ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ทำหลักสูตร AIS อุ่นใจ CYBER ตั้งแต่ปี 2009 ในด้านสิ่งแวดล้อมก็มุ่งสร้าง Green Network ผ่านการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม อาทิ การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในสถานีฐานเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้, การเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนจากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และการรณรงค์แยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste

“เราไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนเลย เรายังยึดมั่นในพาย 3 ชิ้น เราอยากทำ ECOSYSTEM ECONOMY หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เพราะเราเชื่อว่าพาย 3 ชิ้นนี้จะนำไปสู่ Sustainable Nation เพื่ออนาคตไทยอย่างยั่งยืน” สมชัย ทิ้งท้าย