กัลฟ์ ดัน ศูนย์การเรียนรู้เกษตรฯ โรงไฟฟ้าหนองแซง ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน


นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่พิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนกับภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล สำหรับ ศูนย์การเรียนรู้เกษตร และแปลงนาสาธิต บนพื้นที่ 42 ไร่ ภายในโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี ที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเกษตรให้กับคนในชุมชนได้เรียนรู้มาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี

ล่าสุด กัลฟ์ ได้จัดกิจกรรม “กัลฟ์สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว” เพื่อสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวนาไทยที่มีความผูกพันกับธรรมชาติ รวมทั้งยังมีการนำผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้แก่ ข้าวเหนียวเขี้ยวงูและไข่จากฟาร์มไก่ไข่ มาสาธิตการทำข้าวจี่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นำแนวคิดไปต่อยอดและพัฒนาเป็นอาชีพสร้างรายได้ รวมทั้งยังมีการนำผลิตภัณฑ์จากข้าวหลายสายพันธุ์ ซึ่งบางส่วนเป็นผลผลิตที่ได้จากแปลงนามาทำ ไอศกรีมข้าวกล้องมรกต ข้าวเม่าจากข้าวเหนียวเขี้ยวงู และซีเรียลจากข้าวไรซ์เบอร์รี่

นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิตว่า ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงนั้น กัลฟ์ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โรงไฟฟ้าและวิถีเกษตรชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และด้วยพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม จึงได้เกิดโครงการสร้างศูนยการเรียนรู้ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และโครงการต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่คนในชุมชน

ซึ่งหลังจากที่ได้ดำเนินโครงการมาก็มีทั้งเกษตรกรชุมชนโดยรอบ นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการจากที่ต่างๆ เข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง กัลฟ์ จึงได้พยายามหาแนวทางพัฒนาโดยมีเป้าหมายเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการวางแผนและออกแบบให้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างคุณค่าจากทรัพยากรที่มีให้ได้มากที่สุดและที่สำคัญจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังได้จัดแปลงนาลดการสร้างมลภาวะเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยจะไม่เผาตอข้าวเก่าซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก แต่เปลี่ยนเป็นการทำนาข้าวตอที่ 2 แทน ซึ่งตอข้าวเก่าจะถูกหมุนเวียนโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยเป็นปุ๋ยสำหรับการปลูกข้าวรอบใหม่ สามารถสะท้อนแนวคิด “Zero Waste” หรือการกำจัดขยะจนไม่มีเหลือเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้ยังมีแผนที่จะนำพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบของศูนย์ฯ อย่างครบวงจรมากขึ้นในอนาคต

นายธนากิจ กายพรมราช ผู้จัดการโรงไฟฟ้าหนองแซง

ด้านนายธนากิจ กายพรมราช ผู้จัดการโรงไฟฟ้าหนองแซง อธิบายเพิ่มเติมถึงศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิตว่า ตอนนี้พื้นที่หลักเป็นนาสำหรับปลูกข้าว เสมือนห้องทดลองในการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดในที่นาของตัวเองได้ และยังมีการปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถนำไปแปรรูปต่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้

โดยศูนย์การเรียนรู้ฯ ตั้งเป้าที่จะผลักดันวิถีเกษตรอินทรีย์ผ่านการอบรมให้กับชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการให้ความรู้ในหลายเรื่อง เช่น การเลี้ยงไส้เดือนและทำปุ๋ยมูลไส้เดือนใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัว, การเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ ที่ใช้วิธีการนำปลายข้าวและเศษพืชผักมาเป็นอาหารให้หนอน และนำหนอนระยะดักแด้มาเป็นอาหารไก่ไข่ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในการนำร่องสู่การทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรและสร้างความยั่งยืนให้กับวิถีเกษตรชุมชนอย่างแท้จริง

นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ ปลัดจังหวัดสระบุรี

ขณะที่นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ ปลัดจังหวัดสระบุรี ได้ขอบคุณ กัลฟ์ ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชุมชนและได้ริเริ่มโครงการศูนย์การเรียนรู้ฯ ให้กับชุมชน ทั้งนี้ อ.หนองแซง มีการทำนาเป็นหลักเนื่องจากมีคลองชลประทาน ซึ่งการทำนาในปัจจุบันเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วมักจะเผาตอฟาง สร้างมลพิษในอากาศ ซึ่งการที่ กัลฟ์ ได้ทำแปลงนาสาธิต เพื่อเป็นแนวทางให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการทำนาโดยไม่ต้องเผาฟางนั้น เป็นการทำเกษตรแบบหมุนเวียนที่ได้ผลผลิตไม่ต่างไปจากการทำนาโดยใช้เครื่องจักรและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจการทำเกษตรแบบยั่งยืนก็สามารถเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี