เอไอเอส x กลุ่มเซ็นทรัล สานภารกิจความยั่งยืน ปั้นโมเดลการจัดการขยะแบบครบวงจร

เอไอเอส ร่วมกับ กลุ่มเซ็นทรัล เดินหน้าสานพันธกิจ ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม สร้างโมเดลด้านการจัดการขยะทุกประเภทให้ถูกวิธีด้วยการร่วมมือกันของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ เร่งการเปลี่ยนแปลงผ่านการสร้างความร่วมมือส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เกิดการจัดการขยะแบบ 100 % เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมที่เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากตัวเรา

ทั้งนี้การยกทีมผู้บริหารลงพื้นที่ ณ หมู่บ้านคามิคัตสึ (Kamikatsu) เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ที่เกาะชินโชกุประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการซึมซับแนวคิด Zero Waste และกระบวนการจัดการขยะที่ทรงประสิทธิภาพและต่อเนื่องอย่างการแยกขยะมากถึง 45 ประเภท ผ่านหลักการพื้นฐานที่ทุกคนทำได้โดยการลดขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) จนกลายเป็นเมืองต้นแบบปลอดขยะระดับโลกพร้อมนำมาต่อยอดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า

“นโยบายหลักของเรา นอกจากสร้างมาตรฐานของสินค้า บริการ นวัตกรรม และการดูแลลูกค้าอย่างเป็นเลิศแล้ว ยังมีภารกิจในการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม สนับสนุนสู่ Sustainable Nation โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ใน 2 แกนหลัก คือ 1) ลดผลกระทบผ่านกระบวนการดำเนินธุรกิจ 2) ลดและรีไซเคิลของเสียจากการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมให้คนไทยร่วมกำจัด E-Waste อย่างถูกวิธี เพราะการมาถึงของ Digital ส่งผลให้เกิดขยะ E-Waste มากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาระดับโลก เช่นกรณีมูลค่าขยะ E-Waste ที่ถูกเผาทำลายมีมากถึง 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับมีการจัดเก็บอย่างถูกวิธีและรีไซเคิลได้เพียง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ปริมาณที่สูญหายในระหว่างทางนั้นมีอยู่มหาศาลและสามารถส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหากกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง”

“จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนภารกิจคนไทยไร้ e-waste ในปี 2562 เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ปี 2563 รณรงค์และเป็นช่องทางรับทิ้ง E-Waste ได้สะดวกกับประชาชนยิ่งขึ้น ผ่านศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 37 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงร้าน Power Buy ผู้นำธุรกิจค้าปลีกศูนย์รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไอที มือถือ แกดเจ็ต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร รวม 40 สาขาทั่วประเทศ และผ่าน Application E-Waste Plus ที่เพิ่มเติมเข้ามา อันเป็นการร่วมเสริมพลังกับ 190 องค์กร ขับเคลื่อน HUB of e-waste ศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะแห่งแรกของไทย ที่มีทั้งความรู้ เครือข่ายที่มาช่วยกันแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ การขยายจุดรับทิ้งให้ครอบคลุม การบริการด้านการขนส่ง และการรีไซเคิลสู่กระบวนการ Zero e-waste to landfill ได้ในท้ายที่สุด”

พิชัย  จิราธิวัฒน์  กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า

การจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากตัวเราเองที่ต้องทำทุกวันและต่อเนื่องจนเป็นนิสัย และเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะสำเร็จได้ต้องร่วมมือกันทำจากทุกภาคส่วน จึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังกันระหว่าง กลุ่มเซ็นทรัล และ เอไอเอส ซึ่งเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการสานต่อจากโครงการ การทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี ซึ่งทางกลุ่มเซ็นทรัลมุ่งมั่นสานต่อเจตนารมณ์ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านโครงการ “เซ็นทรัล ทำ – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” โครงการเพื่อความยั่งยืนดำเนินการโดยกลุ่มเซ็นทรัลผ่าน 6 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน

  1. ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย (Community & Social Contribution)
  2. ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส อย่างเท่าเทียม (Inclusion) การศึกษา (Education)
  3. พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital Development)
  4. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Circular Economy & Waste Management)
  5. ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste Reduction)
  6. ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลภาวะ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน (Climate Action)ทำให้เรามีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจขององค์กร และขับเคลื่อนการลดการสร้างขยะให้เป็นศูนย์ผ่านแคมเปญ Journey to Zero เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 เพื่อสร้างคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทุกมิติ เป็นรีเทลแห่งแรกของไทยที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ต้นแบบในด้านการจัดการขยะทั่วประเทศ เราพร้อมที่จะเร่งปรับและเปลี่ยนเพื่อโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน

การเดินหน้าภารกิจศึกษาแนวคิด และกระบวนการจัดการขยะในครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทเห็นพ้องตรงกันว่า เราจะร่วมมือกันทำ ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน ที่อยากเห็นประเทศไทยมีโมเดลต้นแบบในการ คัด แยก ทิ้งขยะ ได้อย่างถูกที่และถูกวิธีและยังเป็นการลดการฝังกลบขยะที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมาย พร้อมสร้างพฤติกรรมการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นถัดไป

กรณีศึกษา Kamikatsu Zero Waste เมืองคามิคัตสึ

คามิคัตสึ เป็นเมืองในจังหวัดโทคุชิมะ ที่ตั้งอยู่บนเกาะชิโกกุทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น มีประชากรเพียง 1,401  คน หรือ 734 ครัวเรือน (ตัวเลข ณ วันที่ 1 ต.ค. 2023) โดยมีสัดส่วนเป็นผู้สูงอายุ เป็น 52.25%

เมืองคามิคัตสึ มีพื้นที่ขนาด 109.63 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ป่าไม้ 88% และ 80% เป็นป่าปลูก) มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-700 เมตร

โดยที่เมืองคามิคัตสึ เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องปลอดขยะ และการจัดการขยะอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นต้นแบบการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน จนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่เรียนรู้ของคนที่รักสิ่งแวดล้อม เริ่มทำโครงการ Zero Waste ตั้งแต่ปี 2003 มีการแยกขยะอย่างจริงจัง ส่งไปรีไซเคิล หรือรียูสได้

ในปี 2020 สามารถทำให้ขยะเป็นศูนย์ได้ราว 80% โดยมีกระบวนการเอาไปรียูส รีไซเคิล ส่วนอีก 19% ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ต้องนำไปฝังกลบ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหนังยางรัดแกง รองเท้า ของที่แยกชิ้นส่วนไม่ได้ และขยะอันตราย เช่น ผ้าอ้อม หน้ากากอนามัย ทิชชู และขยะปนเปื้อนต่างๆ

Zero waste หรือขยะเป็นศูนย์ หมายถึง การกำจัดของเสียและขยะ แต่สำหรับเมืองคามิคัตสึไม่เพียงหมายถึงการจัดการขยะเท่านั้น แต่ยังหมายถึงวิธีคิดที่จะไม่สร้างขยะตั้งแต่เริ่มแรก

ประวัติศาสตร์ของ เมืองคามิคัตสึ

1974       โรงบำบัดดินส่วนเกินฮิบิกาทานิถูกใช้เป็นโรงบำบัดขยะชั่วคราว

1991       มีการให้เงินอุดหนุนสำหรับซื้อถังหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร (โดยคนในชุมชนจ่ายเพียง 3,100 เยน) จนถึงปี 1999

1994       จัดทำแผนเมืองรีไซเคิลคามิคัตสึ

1995       มีการอุดหนุนการซื้อเครื่องกำจัดขยะไฟฟ้า (Gomi nice) สำหรับครัวเรือน (โดยคนในชุมชนจ่ายเพียง 10,000 เยน)

1996       ปิดโรงบำบัดขยะฮิบิกาทานิบางส่วน (ยกเลิกในส่วนการฝังกลบขยะที่เผาไม่ได้และขยะขนาดใหญ่)

1997       เปิดสถานีกำจัดขยะฮิบิกาทานิ และเริ่มการคัดแยกขยะออกเป็น 9 ประเภท

1998       ปิดเตาเผาขยะขนาดเล็ก 2 แห่ง และปิดสถานที่เผาขยะฮิบิกาทานิ (เผาขยะกลางแจ้ง)

2001       ปิดเตาเผาขยะขนาดเล็ก เริ่มจัดระบบการคัดแยกเป็น 33 หมวดหมู่ (หลังจากปีนี้ไม่นานก็ได้เพิ่มเป็น 35 หมวดหมู่) ที่สถานีกำจัดขยะฮิบิกาทานิซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน

2003       ออกปฏิญญาขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste)

2005       เปิดตัวองค์กรไม่แสวงหากำไร (NPO) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ขยะเป็นศูนย์ ชื่อ Zero Waste Academy

2006       เปิดศูนย์ส่งเสริมการซื้อสินค้าใช้ซ้ำ Kurukuru Shop

2007       เปิดร้านรีเมค Kurukuru Kobo แหล่งรวบรวมสินค้ารีไซเคิล

2008       เริ่มมีการให้เช่าอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่ใช้แล้วนำไปใช้ซ้ำ

2013       เริ่มแคมเปญสะสมคะแนน Chiritsumo (เป็นคะแนนที่ได้จากจากการคัดแยกกระดาษต่างๆ ฯลฯ และดัดแปลงเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน)

2016       เปลี่ยนจำนวนหมวดหมู่การคัดแยกขยะอย่างเป็นทางการ จาก 34 ประเภทเป็น 13 ประเภท และ 45 หมวดหมู่สามารถทำยอดรีไซเคิลขยะได้ในอัตราสูงกว่า 80% เป็นครั้งแรก

2017       ริเริ่มการให้การรับรองขยะเป็นศูนย์เริ่มการทดสอบการขายขยะตามน้ำหนักเริ่มนำเสนอเซ็ตผ้าอ้อมที่ทำจากผ้า

2018       เริ่มรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก

2020       ก่อสร้างศูนย์ Kamikatsu-cho Zero Waste Center เพื่อช่วยกำจัดขยะเมืองคามิคัตสึให้เป็นศูนย์เสร็จสมบูรณ์

ปฏิญญาขยะเป็นศูนย์ของเมืองคามิคัตสึ

17 ปีหลังจากออกปฏิญญา Zero Waste ในปี 2003 คนในชุมชนทุกคนได้ร่วมกันลดขยะในเมืองคามิคัตสึและได้พิสูจน์ตนเองด้วยสถิติรีไซเคิลขยะได้ในอัตรามากกว่า 80% ซึ่งความท้าทายในการร่วมกันกำจัดขยะของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ได้ดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลก และได้ปูทางเมืองแห่งนี้ไปสู่สังคมที่ยั่งยืนโดยเมืองคามิคัตสึมีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้มีความงามทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่ที่ทำให้ทุกคนมีความสุข และสามารถเติมเต็มความฝันของพวกเขาได้ และในฐานะผู้บุกเบิกเรื่องขยะเป็นศูนย์ เมืองคามิคัตสึก็ได้ประกาศนโยบายขยะเป็นศูนย์อีกครั้ง ผ่านเป้าหมายหลัก “การคิดถึงอนาคตของสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลาน ภายใต้ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล และส่งเสริมผู้อื่นให้ร่วมลงมือ” โดยตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030

เมืองคามิคัตสึดำเนินโครงการริเริ่มการรีไซเคิลอย่างทั่วถึงเพื่อบรรลุสังคมขยะเป็นศูนย์ โดยสื่อสารปรัชญาและความคิดริเริ่มขยะเป็นศูนย์ มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มเปอร์เซ็นต์คนที่มีความคิดไปในแนวเดียวกันในสังคม