‘เซ็นทรัล ทำ’ สานต่อภารกิจความยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงจาก ‘พลังร่วมมือทำ’

เพราะความยั่งยืน เป็นหนึ่งนโยบายที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ บวกกับความเชื่อมั่นที่ว่า ‘การเติบโตของธุรกิจ ต้องเดินไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล’ ทำให้ ‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ได้ขับเคลื่อนนโยบายนี้ผ่านโครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ภายใต้แนวคิด ‘เซ็นทรัล ทำ ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 8 ปี

 

โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Values : CSVs) ให้ธุรกิจและสังคมเติบโตไปพร้อม ๆ กันอย่าง ‘ยั่งยืน’ ตาม 6 แนวทาง ประกอบด้วย

 

แนวทางที่ 1 Community – พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

แนวทางที่ 2 Inclusion – การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม

แนวทางที่ 3 Talent – พัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร

แนวทางที่ 4 Circularity – ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

แนวทางที่ 5 Climate – การฟื้นฟูสภาพอากาศ

แนวทางที่ 6 Nature – การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

 

ปัจจุบันเซ็นทรัล ทำ ได้ดำเนินงานใน 44 จังหวัด โดยปี 2567 ได้สร้างงานและสนับสนุนอาชีพให้แก่คนพิการกว่า 1,100 คน, สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 1,700 ล้านบาท, ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนมากกว่า 150,000 ราย, สนับสนุนและพัฒนาโรงเรียน 192 แห่ง, เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่ากว่า 19,385ไร่

 

ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารกว่า 19,254 ตัน, ลดปริมาณขยะที่เข้าสู่หลุมฝังกลบกว่า 43,663 ตัน, ติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1,430 สถานที่, ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา 215 แห่ง และผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากถึง 207,176 เมกะวัตต์-ชั่วโมง

พิชัย  จิราธิวัฒน์  กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ในปี 2568 เซ็นทรัล ทำยังเดินสานหน้าต่อภารกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลักคิดที่ว่า เน้น ‘คุณภาพ’  มากกว่า ‘ปริมาณ’ โดยพยายามสร้างให้แต่ละชุมชนที่เข้าไปให้กลายเป็น ‘ชุมชนแข็งแรง’ อย่างยั่งยืน มากกว่าจะเน้นเพิ่มจำนวนชุมชนหรือจำนวนจังหวัดให้มากขึ้น

 

สำคัญไปกว่านั้น ทุกที่ที่เซ็นทรัล ทำ เข้าไป ชาวบ้านต้องร่วมมือและลงมือทำไปด้วยกัน เพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เกิดความภูมิใจ และพร้อมใจกันช่วยพัฒนาต่อได้ในระยะยาว ซึ่งแต่ละที่จะมีการตั้ง KPI วัดความสำเร็จจาก Pain Point ของแต่ละพื้นที่

 

“ก่อนเราจะเข้าไปทำโครงการที่ไหน เราจะลงไปสัมผัสในพื้นที่นั้นก่อนว่าเป็นอย่างไร มี Pain point อะไร โดยเราจะเริ่มจากจังหวัดที่มีธุรกิจของเซ็นทรัล เพราะเราต้องใช้คนในเซ็นทรัลเป็นคนทำ และดึงให้ทุกคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างการพัฒนาแบบยั่งยืน”

 

ความคืบหน้าในปี 2568 ของ 4 จังหวัดต้นแบบ

 

1.จังหวัดน่าน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปลูกไม้ยืนต้น ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และพัฒนาผลผลิตเพื่อเตรียมเข้าสู่การจดทะเบียนเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เช่น ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ รวมถึงส่งต่อไปยังธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล เช่น ท็อปส์ ฯลฯ โดยในปี 2567 สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน 10 ล้านบาท

 

ด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างฝาย แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ ช่วย 50 ครัวเรือนทำเกษตรอินทรีย์ ลดภัยแล้ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 2,800 ไร่ ส่วนด้านการศึกษา พัฒนาโรงเรียนชุมชนบ้านอ้อยครบวงจร สนับสนุนห้องเรียน ICAP ทักษะ EF, STEM, ห้องสมุด จัดตั้งห้องทักษะอาชีพ สนับสนุนห้องกีฬาปันจักสีลัต และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

 

2.จังหวัดอยุธยา ความสำเร็จของเกษตรกรบ้านหมู่ใหญ่ใน หรือ ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา’ ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตเมล่อนภายใต้ชื่อ Smile Melon” สามารถเปิดช่องทางการขายในตลาดไปยังประเทศสิงคโปร์ และยังคงมียอดการสั่งต่อเนื่องมาถึงปี 2568 รวมยอดที่ส่งออกไปสิงคโปร์ 25.2 ตัน รายได้รวม 2 ล้านบาท

ด้านสิ่งแวดล้อม เน้นยกระดับการจัดการของเสียทางการเกษตร โดยฟาร์มเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนานำเมล่อนที่เน่าเสียมาเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงไก่ โดยมีแผนขยายโครงการไปยังชุมชนเกษตรและโรงเรียน รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์จากของเสียทางการเกษตร เช่น ฟางข้าวและผักตบชวา ฯลฯ

 

นอกจากนี้ได้พัฒนาโรงเรียนวัดหนองไม้ซุง สนับสนุนฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทักษะกีฬาเทเบิลเทนนิส และความเป็นอยู่ของนักเรียน พร้อมขยายเครือข่ายคนพิการเข้าสู่โครงการส่งเสริมอาชีพ โดยมีเป้าหมายปี 2568 ต้องการขยายเครือข่ายคนพิการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพให้มากขึ้น

 

3.จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน ได้พัฒนา ‘พื้นที่วิถียั่งยืนแม่ทา’ ตั้งแต่ปี 2560 สร้างเกษตรอินทรีย์ต้นแบบและผลักดันคนรุ่นใหม่สู่บทบาทเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารอบรมห้องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ อาคารคัดบรรจุผักมาตรฐาน อย. ตลอดจนรถขนส่งห้องเย็น ฯลฯ

 

นอกจากนี้ได้ดำเนินการจัดการขยะ ณ ตลาดจริงใจ แปรรูปขยะอินทรีย์ 7.52 ตัน เป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ รีไซเคิลวัสดุ 8.74 ตัน เตรียมเปิดศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขย ปี 2568 และพร้อมขยาย “กาแฟสร้างป่า” ที่แม่แจ่ม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,570 ไร่ ในปี 2568 จะเริ่มดำเนินโครงการความริเริ่มไม่เผา Zero Burning Initiatives ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อต่อสู้กับมลพิษ PM2.5 ในเชียงใหม่ เป็นต้น

 

4.จังหวัดชัยภูมิ วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจบ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เป็น 1 ใน 7 ของผู้ปลูกอะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสายพันธุ์คุณภาพระดับโลกสู่เกษตรอัจฉริยะแบบยั่งยืน และเพาะเห็ดเรืองแสง  สิรินรัศมี เพื่อแก้ปัญหาโรคพืชในการปลูกอะโวคาโด ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้แก่สมาชิกวิสาหกิจชุมชน 40 ล้านบาท และขยายผลเครือข่ายผู้ปลูกอะโวคาโดเป็น 1,000 ราย

 

นอกจากนี้ ได้พัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด โดยสร้างศูนย์การเรียนรู้ 2 อาคาร สามารถรองรับผู้เข้าอบรมและนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมด 14,000 คน โครงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวและส่งเสริมนวัตกรรมเกษตรยั่งยืน ครอบคลุม 5,000 ไร่ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมและรายได้ไม่มั่นคง โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง เช่น อะโวคาโด, แมคคาเดเมีย, ทุเรียน และกาแฟโรบัสต้า เป็นต้น

“หัวใจสำคัญของเซ็นทรัล ทำ คือได้ขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า และสะท้อนถึงแนวคิดการเติบโตของธุรกิจต้องเดินไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ชุมชน คู่ค้า ลูกค้า หรือพนักงาน นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” พิชัยทิ้งท้าย