สรุปวงการ ‘ไอที’ 2023 ปีแห่ง เอไอ, การควบรวม และปลดพนักงาน 

สำหรับวงการไอทีในปีนี้คงต้องยกให้เป็นปีแห่งการ ควบรวม, เอไอ และการ ปลดพนักงาน อย่างแท้จริง เพราะทั้งไทยและต่างประเทศต่างก็มีดีลการควบรวมใหญ่ ๆ ที่สำเร็จเสร็จสิ้นในปีนี้ ขณะที่เอไอเองก็กลายเป็น Topic สำคัญที่ทุกคนพูดถึง แต่นอกจากเรื่องควบรวมกับเอไอ ยังมีเหตุการณ์อะไรน่าสนใจอีกบ้าง Positioning สรุปมาไว้แล้ว 

ควบรวม True-Dtac

หลังจากที่มีข่าวลือตั้งแต่ปี 2022 และแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากหลาย ๆ ที่ แต่ในที่สุดวันที่ 1 มีนาคม 2023 True และ Dtac บอร์ 2 และ 3 ของตลาดโทรคมนาคมไทย (ตามลำดับ) ก็ควบรวมกันสำเร็จ โดยมีมูลค่าดีลสูงถึง 1.38 แสนล้านบาท พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม แม้จะควบรวมกันสำเร็จแต่ทั้ง True และ Dtac ก็ยังคงทำตลาดภายใต้แบรนด์เดิมไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขของกสทช. และหลังจากที่ควบรวมกันได้ไม่ถึงปี หลายคนเริ่มบ่นว่าค่าบริการปรับแพงขึ้น แต่คุณภาพลดลง จนในที่สุด กสทช. ก็ออกมาลงดาบให้ต้องลดค่าบริการลง 12%

โดยหลังจากควบรวม ส่งผลให้ทรู คอร์ปอเรชั่นเป็น เบอร์ 1 ของตลาด มีลูกค้ารวม 51.7 ล้านเลขหมาย (True 32.6 + Dtac 19.1 ล้านเลขหมาย) แซงหน้า AIS ที่มี 42.8 ล้านเลขหมาย

ควบรวม AIS Fiber-3BB

ถ้า True ได้ Dtac ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ตลาดโมบาย AIS เองก็ขอดึง 3BB เข้ามาเป็นครอบครัวเพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 1 ตลาดเน็ตบ้าน โดยดีลนี้ AIS ได้ยื่นเรื่องถึงกสทช. เพื่อขออนุญาตซื้อหุ้น TTTBB หรือ 3BB ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2022 ซึ่งบอร์ดก็ได้พิจารณาการควบรวมไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา เรียกว่าใช้เวลาเกือบ 1 ปีพอดี กว่าดีลมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท จะเสร็จสิ้น

ที่ผ่านมา 3BB มีลูกค้าจำนวน 2.31 ล้านครัวเรือน ถือเป็นเบอร์ 3 ของตลาด ขณะที่ AIS เป็นเบอร์ 2 ของตลาดด้วยจำนวนลูกค้า 2.38 ล้านครัวเรือน ซึ่งการควบรวมนี้ทำให้เอไอเอสมีลูกค้ารวม 4.69 ล้านครัวเรือน ขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงหน้า True ที่มีลูกค้า 3.79 ล้านครัวเรือน

ปีของเอไอ

หลังจากที่ ChatGPT เอไอสุดอัจฉริยะที่พัฒนาโดย OpenAI สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ทำให้ Microsoft ยอมที่จะควักเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงในทุนกับ OpenAI โดยได้ผลตอบแทนเป็นการใช้โมเดลของ OpenAI กับผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ อาทิ Microsoft Office ไม่ว่าจะเป็น Outlook, PowerPoint, Excel และ Word

หลังจากที่ Microsoft ได้ลงทุนใน OpenAI แล้ว บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่น ๆ ก็ไม่น้อยหน้า อย่าง Google ประกาศเปิดตัว Bard เอไอแชทบอทมาชนกับ ChatGPT จากนั้นก็เปิดตัว ตัวโมเดลเอไอของตัวเองในชื่อ Gemini ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ก็มี Adobe ที่เปิดตัว Firefly เครื่องมือช่วยสร้างภาพโดยเอไอ

ภาพจาก Shutterstock

Microsoft ปิดดีล Activision Blizzard

นอกจากนี้ Microsoft ยังปิดดีลค่ายเกม Activision Blizzard ในมูลค่าสูงถึง 68,700 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ประกาศว่าจะเข้าซื้อตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่ดีลก็ต้องสะดุดเนื่องจากถูกหน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรและยุโรประงับการเข้าซื้อ เพราะกังวลว่าอาจจะ ผูกขาดธุรกิจเกม โดยหลังจากที่ Microsoft ได้ Activision Blizzard ทำให้ Microsoft ขึ้นแท่นเป็นบริษัทเกมอันดับ 3 ของโลก เป็นรองจาก Tencent และ Sony 

สำหรับ Activision Blizzard ถือเป็นค่ายเกมที่มีเกมดัง ๆ มากมาย อาทิ Call of Duty, Candy Cruch, Overwatch, Diablo และ Warcraft

ปีแห่งการลดคนของบริษัทไอที

เริ่มปลดพนักงานตั้งแต่ปี 2022 ลากยาวมาถึง 2023 ที่รวม ๆ แล้วแตะหลักแสนคนเลยทีเดียว สำหรับพนักงานบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกที่แทบจะนับนิ้วไม่ไหว โดยข้อมูลจาก Trueup แพลตฟอร์มติดตามการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกพบว่า ปีนี้มีบริษัทเทคโนโลยีถึง 1,992 ราย ที่ทำการปลดพนักงาน รวมแล้วเป็นจำนวนสูงถึง 428,335 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2023) ซึ่ง สูงกว่าปีก่อนถึง 50% โดยบริษัทใหญ่ ๆ ที่ลดคน ได้แก่

  • Amazon – 27,000 คน
  • Google – 12,000 คน
  • Microsoft – 10,000 คน
  • Meta – 10,000 คน
  • Nokia – 14,000 คน
  • Spotify – 1,500 คน
  • Dell – 6,650 คน
  • Accenture – 19,000 คน
  • Zoom – 1,300 คน

NFT ที่ล่มสลาย

NFT หรือ Non-fungible token กระแสรุ่งพุ่งแรงในปี 2021-2022 ที่ตลาดสามารถเติบโตได้ถีง 21,000% มีมูลค่าตลาดทะลุ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2023 ตลาด NFTs ไม่ต่างอะไรจากอากาศ เพราะ 95% ของงานศิลปะดิจิทัลในตลาดลดมูลค่าลงเหลือ 0 ETH ส่วนคอลเลกชันที่ยังมีการถือครองแลกเปลี่ยน 5% ที่เหลือนั้นส่วนใหญ่มีราคาเพียงชิ้นละ 5-100 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 180-3,600 บาท) กลายเป็นว่านักสะสม 23 ล้านคน คงเอามือมาก่ายหน้าผากไม่พอแล้ว

ยกตัวอย่าง Bored Ape Yacht Club หนึ่งในคอลเลกชัน NFT ชื่อดังที่เคยมีมูลค่าหลายล้าน กลับตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองปี โดยคอลเลกชัน NFTs Bored Ape Yacht Club ของคนดังอย่าง Justin Bieber ที่เคยซื้อมาในราคา 1.3 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันมูลค่าลดลงประมาณ 95% เหลือเพียงประมาณ 59,000 ดอลลาร์เท่านั้น

จาก Twitter สู่ X และ Threads คู่แข่งใหม่

นับตั้งแต่ที่ อีลอน มัสก์ เข้ามาเป็นเจ้าของ Twitter แพลตฟอร์มก็อยู่ในช่วงขาลง นอกจากนี้ มัสก์ยังเลือกที่จะ รีแบรนด์ใหม่ จาก Twitter เป็น X ชื่อฟังก์ชันอย่าง ทวีต และ รีทวีต ก็เปลี่ยนชื่อเป็น โพสต์ และ รีโพสต์ เหมือนแพลตฟอร์มปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่มัสก์เปลี่ยนจาก Twitter เป็น X ก็เพราะเป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนแพลตฟอร์มให้เป็นซูเปอร์แอปฯ

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะขาลงของ Twitter หรือเปล่า ที่ทำให้ Meta เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลฯ อย่าง Facebook และ Instagram ได้เปิดตัว Threads แพลตฟอร์มที่มีฟีเจอร์คล้ายกับ Twitter โดยในช่วงที่เปิดตัวเพียงแค่ 7 ชั่วโมงที่เปิดให้โหลด Threads ก็มียอดผู้ใช้กว่า 10 ล้านราย แม้ว่าหลังจากนั้นการใช้งานจะลดลงฮวบฮาบก็ตาม

ปีแห่งการขึ้นราคาสตรีมมิ่ง

2 แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Netflix และ Disney+ ต่างจับมือกัน ขึ้นราคา โดยหลังจากที่ Netflix ประสบความสำเร็จในการป้องกันการแชร์รหัสผ่าน โดยใครที่มีปาร์ตี้นอกเหนือจากบ้านเดียวกันต้องจ่ายเพิ่มอีก 99 บาท แต่ดูเหมือนแค่นั้นยังไม่พอ เพราะในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Netflix ได้ประกาศขึ้นราคาสำหรับบางแผนการใช้งานใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส แม้ไทยจะยังไม่ขึ้นราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าปีหน้าจะรอดไหม

ส่วน Disney+ Hotstar ในไทยขึ้นแน่นอน โดยตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายนเป็นต้นไป จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่จาก 799 บาทต่อปี จะใช้ได้สำหรับมือถือเท่านั้น ถ้าจะรับชมผ่านทีวีต้องสมัคร Disney+ Hotstar พรีเมียม ซึ่งมีค่าบริการรายเดือน 289 บาท และค่าบริการรายปี 2,290 บาท และในปีหน้าคาดว่าแพลตฟอร์มจะออกมาตรการป้องกันการแชร์รหัสผ่านเหมือนกับ Netflix ด้วย

สมาร์ทโฟนตัวแพงขายดี

อ้างอิงจากข้อมูลของ IDC พบว่า ตลาดสมาร์ทโฟนไทยช่วง Q3/2023 เติบโตขึ้น 1.6% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ถือเป็นการสิ้นสุดการหดตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาสติด และที่น่าสนใจคือ การเติบโตในกลุ่มพรีเมียม (ราคา 35,000 บาทขึ้นไป) เติบโตได้ถึง +25.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงหนุนจากการเปิดตัวรุ่นใหม่ เช่น iPhone 15 series ของ Apple และ Galaxy Z Flip5 และ Galaxy Z Fold5 ของ Samsung 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้เล่นหลายรายจะเน้นหนักไปที่สมาร์ทโฟนเรือธง รวมถึง สมาร์ทโฟนจอพับ เพื่อที่จะดึงดูดผู้บริโภคกระเป๋าหนักให้มาซื้อ เพราะปัญหาเศรษฐกิจไม่กระทบคนมีเงิน ทำให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้สามารถ เปลี่ยนมือถือบ่อยกว่า และมีแนวโน้มจะ ซื้อในราคาที่สูงขึ้น ทำให้สินค้าในกลุ่มนี้มีการ แข่งขันราคาน้อย กว่ากลุ่มล่าง ดังนั้น แบรนด์มือถือก็คิดแล้วว่าจะไปหั่นราคาแข่งกันในตลาดเริ่มต้นทำไม มาจับพรีเมียมดีกว่าเพราะผู้บริโภคยอมจ่าย

จะเห็นว่ากระเเสบางอย่างที่เคยมาแรงสุด ๆ ในปีที่ผ่านมา กลับกลายเป็นดาวดับในปีนี้ เช่น NFT ที่แทบจะกลายเป็นของไร้ค่าไปเลย ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าปีหน้าในวงการไอทีจะมีอะไรใหม่ ๆ ที่ขึ้นมาเป็นกระแสอีกบ้าง หรืออะไรที่ในปีนี้ที่จะกลายเป็นดาวดับในปีหน้า