ดัชนีราคาอาหารของ FAO ปรับตัวลดลงเกือบ 14% แต่นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าราคาอาหารอาจไม่ได้ปรับตัวลดลงตาม

Photo : Shutterstock
ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติในปี 2023 นั้นปรับตัวลดลงเกือบ 14% ในปี 2023 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความคลี่คลายของราคาอาหารทั่วโลก อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์กลับชี้ว่าราคาอาหารอาจไม่ได้ปรับตัวลดลงตาม เนื่องจากต้นทุนอื่นๆ

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ได้รายงานดัชนี Food Price Index ที่รวบรวมราคาอาหารสำคัญๆ ซึ่งในปี 2023 ดัชนีดังกล่าวได้ปรับตัวลดลง 13.7% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของราคาอาหารทั่วโลก

ดัชนี Food Price Index ของ FAO ซึ่งติดตามสินค้าโภคภัณฑ์อาหารที่มีการซื้อขายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ไปจนถึงน้ำมันพืช นั้นตัวเลขในเดือนธันวาคมของปี 2023 อยู่ที่ 143.7 จุด ลดลง 13.7% เมื่อเทียบกับปี 2022 ซึ่งดัชนีดังกล่าวนั้นอยู่ที่ 124 จุด

นอกจากนี้ถ้าเทียบตัวเลขดัชนีในเดือนธันวาคมกับเดือนพฤศจิกายน ตัวเลขของดัชนีดังกล่าวก็ลดลงเช่นกัน

ราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในดัชนีคือราคาน้ำมันพืช ซึ่งปรับตัวลดลงมากถึง 32.7% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง 16.6% ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์นมปรับตัวลดลง 16.1% อย่างไรก็ดีราคาข้าวขาวกลับปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 21%

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการบุกยูเครนโดยรัสเซียนับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา และความกังวลในดังกล่าวทำให้หลายประเทศ เช่น อินเดีย หรือแม้แต่ไทย ได้งดส่งออกสินค้าทางการเกษตร หลายชนิด เพื่อที่จะทำให้ความต้องการในการบริโภคของประชาชนเพียงพอ

ดัชนีดังกล่าวนั้นมีท่าทีคลี่คลายเพิ่มมากขึ้น หลังจากในปี 2023 ราคาพลังงานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของต้นทุนทางการเกษตร หรือแม้แต่ราคาปุ๋ย นั้นปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี Bruno Parmentier นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารได้กล่าวกับ RTE สื่อของไอร์แลนด์ว่า “ดัชนีราคาสินค้าอาหารที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าราคาอาหารจะลดลงเสมอไป” โดยเขาชี้ว่าราคาอาหารนั้นมีต้นทุนอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นกันมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรง ราคาพลังงาน ฯลฯ

ที่มา – RTE