Hertz บริษัทเช่ารถรายใหญ่ ขาย Tesla รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่นทิ้งหมด ให้เหตุผลค่าซ่อมสูงหลังเกิดอุบัติเหตุ

ภาพจาก Unsplash
แบรนด์เช่ารถยนต์อย่าง Hertz ล่าสุดบริษัทไม่ทนกับรถยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไป ล่าสุดบริษัทได้ประกาศขาย Tesla รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่นทิ้งหมด โดยให้เหตุผลจากค่าใช้จ่ายในการซ่อม หรือแม้แต่ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่สูง ส่งผลต่อกำไรของบริษัท

Hertz บริษัทเช่ารถรายใหญ่ ได้แจ้งต่อ ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกาว่า บริษัทประกาศขายรถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทมีอยู่ทั้งหมดกว่า 20,000 คัน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนรถทั้งหมดของบริษัท และจะหันกลับมาซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแทน ซึ่งจะเพิ่มกำไรให้กับบริษัทได้

ในการขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 20,000 คัน ประกอบไปด้วยหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Tesla หรือแบรนด์อื่นๆ อย่าง Chevrolet Bolt และ Nissan Leaf หรือแม้แต่ BMW i3 บริษัทได้ประกาศขายบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถที่จะรับรถยนต์ได้ในสหรัฐอเมริกา

รายได้ส่วนหนึ่งในการขายรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ บริษัทจะนำไปซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแทน

ผู้บริหารของ Hertz ได้กล่าวว่า อีกปัญหาที่สำคัญคือ Tesla ซึ่งบริษัทมีรถยนต์แบรนด์ดังกล่าวจำนวนมากนั้นกลับไม่มีอะไหล่ทดแทนมากนัก และยังขาดแคลนช่างซ่อมที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี แตกต่างกับที่บริษัทรถยนต์อื่นๆ เช่น GM ฯลฯ ทำให้การซ่อมรถยนต์ไฟฟ้านั้นใช้เวลานานกว่ารถยนต์ทั่วไป

แผนการในการปลดระวางรถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทมีอยู่นั้นจะสามารถเพิ่มกระแสเงินสดให้กับบริษัทได้หลังจากนี้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงจากการซ่อมหลังจากรถยนต์ไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทแย่ลง

ไม่เพียงเท่านี้ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้บริษัทเช่ารถรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาไม่อดทนต่อรถยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไปก็คือ ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่ลดลงไวกว่าคาด ส่งผลทำให้การขายรถยนต์เหล่านี้ในตลาดรถยนต์มือสองนั้นได้ราคาที่แย่กว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

คาดว่า Hertz จะขาดทุนกับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากเหล่านี้เป็นเงินถึง 245 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย

การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าของ Hertz เริ่มต้นในปี 2021 บริษัทเช่ารถรายใหญ่ได้ให้เหตุผลในช่วงเวลาดังกล่าวว่าต้องการที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้าถึงผู้คนทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้สร้างความฮือฮาด้วยประกาศซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Tesla เป็นเม็ดเงินมากถึง 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนที่บริษัทจะมีมุมมองเปลี่ยนไปจากปัจจัยของค่าใช้จ่าย

ที่มา – CNN, Business Insider