‘ป้อม ภาวุธ’ ฉายภาพ ‘อีคอมเมิร์ซไทย’ ปี 2024 ในวันที่ถูกต่างชาติ ‘ผูกขาด’ โดยสมบูรณ์

เปิดปีใหม่มาแบบนี้ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานบริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้บุกเบิกวงการอีคอมเมิร์ซไทย ก็ออกมาพูดถึง ภาพอีคอมเมิร์ซไทย ในปี 2024 ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ป้อม ภาวุธมองก็คือ อีคอมเมิร์ซไทยถูกผูกขาดโดยต่างชาติอย่างสมบูรณ์แบบ

E-Commerce ไทยถูกผูกขาดโดยต่างชาติโดยสมบูรณ์

ปัจจุบันช่องทางการค้าขายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือ การซื้อขายผ่านทางอีมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) รองลงมาคือทางโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce) ซึ่งปีนี้การซื้อขายผ่านทาง แอปพลิเคชันสั่งอาหาร หรือ On-Demand Commerce กลายเป็นช่องทางใหม่ที่คนไทยนิยมซื้อสินค้า ซึ่งแทบทุกช่องทางมาจากผู้ให้บริการจากต่างประเทศทั้งสิ้น

โดยหลังจากที่ขาดทุนติดต่อกันหลายปีเป็นหมื่นล้าน เหล่าผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสต่างเริ่มทำกำไรแบบชัดเจน โดยผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศไม่ได้สร้างระบบตลาดนัดเพื่อการซื้อขายเท่านั้น แต่เน้นให้บริการครบทั้งระบบนิเวศของการค้าออนไลน์ 3 ส่วน ได้แก่

  • ซื้อ (Buy) ผ่านทาง Marketplace (Shopee, Lazada)
  • จ่าย (Pay) ผ่านบริการกระเป๋าชำระเงินของตัวเอง (Shopee Pay, LazPay)
  • ส่ง (Delivery) ผ่านบริการบริษัทส่งของๆ ตัวเอง (Shopee Express, Lazada Express)

ด้วยความที่มีระบบนิเวศครบวงจร ทำให้บริษัทเหล่านี้มีจุดแข็งเหนือกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่มีให้บริการเฉพาะทางเท่านั้น เมื่อสามารถควบคุมตลาดซื้อขายออนไลน์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ฮั้ว’ และขึ้นราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้ชัดจากกรณีการขึ้นราคาค่าบริการของการขายของในอีมาร์เก็ตเพลสอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ ที่ผ่านมา Shopee และ Lazada มีการขึ้นราคาค่าบริการสูงถึง 150% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 7 เดือน

ดังนั้น จะเห็นว่าผลประกอบการของบริษัทขนส่งในประเทศไทยที่ขาดทุนเกือบทุกราย อย่างไปรษณีย์ไทยขาดทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท Kerry Express และ Flash Express ขาดทุนนับหมื่นล้านบาทเช่นกัน แต่ผู้ให้บริการขนส่งครบวงจรอย่าง Shopee, Lazada และ J&T มีกำไรมากกว่า เพราะให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองและขนส่งสินค้าด้วยบริษัทขนส่งของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและบริการได้ดีกว่า

สินค้าจีนยังคงเข้ามาขายในไทยอย่างต่อเนื่อง

อีกจุดที่ประเด็นที่ป้อม ภาวุธ เน้นย้ำเสมอก็คือ สินค้าจีนยังคงเข้ามาขายในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบบขนส่งจากจีนมาไทยสะดวกขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรขาเข้า โดยนำสินค้าไปวางไว้ในโกดังเขตปลอดอากร (FreeZone) ทำให้สินค้าจีนมีความได้เปรียบกว่าสินค้าในประเทศหรือผู้ที่นำเข้าเสียภาษีอย่างถูกต้อง

แม้ว่าภาครัฐไทยได้ออกมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าที่ไม่มี มอก. อย. และมาตรฐานต่าง ๆ ออกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำให้สินค้าจีนที่ไม่ได้มาตรฐานบางส่วนไม่สามารถขายได้ แต่สินค้าเหล่านี้ก็ยังคงลักลอบขายในช่องทางออนไลน์อื่นที่รัฐควบคุมไม่ถึง

แนะรัฐควรมีมาตรการกำกับดูแล

สำหรับประเด็นที่อีคอมเมิร์ซถูกผูกขาดโดยต่างชาติ ป้อม ภาวุธ แนะนำว่า ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการค้าออนไลน์อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เพราะหากปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามามีบทบาทในการค้าออนไลน์โดยไม่มีข้อจำกัด ในอนาคตอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยถูกครอบงำและเสียเปรียบได้

ด้านการทะลักของสินค้าจีน ต่อไปในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ มีมาตรฐาน และถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยอย่างตรงไปตรงมา โดยสินค้าจีนจะมีความได้เปรียบในด้านราคา ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวหรือปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ส่วนธุรกิจไทยไม่ควรแข่งขันด้านราคากับธุรกิจสินค้าจีน เพราะสินค้าจีนมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน ผู้ประกอบการไทยควรปรับธุรกิจให้โดดเด่นในด้านอื่น เช่น บริการหลังการขายที่มีคุณภาพ และการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น บริการซ่อมแซม รับประกัน หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีจุดแข็งในด้านความใกล้ชิดกับลูกค้าและการให้บริการที่ครบวงจร ที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือกว่าธุรกิจสินค้าจีนได้