ส่อง 5 กลุ่มสินค้าไทย ที่ ‘ขายดี’ บนแพลตฟอร์ม ‘Amazon’ สำหรับ SME ไทยที่อยาก Go Inter!

Photo : Shutterstock
ในวันที่ สินค้าจีน เข้ามาถล่มตลาดไทยอย่างหนัก ทำให้ SME ไทยในปัจจุบันก็ต้องเร่งหา ตลาดใหม่ เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ และหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีจุดเด่นในตลาดฝั่งตะวันตกอย่าง Amazon ก็เป็นอีกโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการ Go Inter

อีก 3 ปี ส่งออกไทยทะลุ 3 แสนล้าน

จากการสำรวจโดย Access Partnership ถึงโอกาสการ ส่งออก ของผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ไทย พบว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยทั้งหมดมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนประมาณ 38% มาจากกลุ่ม SME และคาดว่าภายในปี 2028 มูลค่าการส่งออกของไทยจะเติบโตได้ 1.5 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท และสัดส่วนของ SME จะเพิ่มเป็น 55%

ขณะที่ SME กว่า 87% มองว่า อีคอมเมิร์ซ เป็นตัวช่วยให้สามารถ รุกตลาดต่างประเทศ และมี SME ถึง 37% ระบุว่า รายได้กว่าครึ่งมาจากการส่งออก นอกจากนี้ กว่า 56% เชื่อว่า อีคอมเมิร์ซช่วยให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น โดยปัจจุบัน ประเทศที่ SME ไทยส่งออกสินค้าไปมากที่สุด ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อังกฤษ และสหภาพยุโรป

ชูจุดขายความเป็นไทย แต่ไม่ทิ้งฟังก์ชัน

หนึ่งในแพลตฟอร์มที่ SME ไทยใช้ Go Inter ก็คือ Amazon ที่ให้บริการใน 23 ประเทศทั่วโลก โดย อนันต์ ปาลิต หัวหน้า อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า บนแพลตฟอร์ม Amazon มี SME ไทยกว่า 1,000 ราย โดยกลุ่มสินค้ายอดนิยม ได้แก่ 

  • ของใช้ในบ้าน 
  • เสื้อผ้า 
  • อาหารและเครื่องดื่ม 
  • ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม
  • สินค้ากีฬา

สำหรับแบรนด์ไทยที่โดดเด่น อาทิ Tuff แบรนด์ กางเกงมวย ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ และอีกแบรนด์ก็คือ Wel-B ซึ่งเป็นผลไม้ฟรีซดราย (Freeze Drying) ขายเป็นขนม

โดย อนันต์ มองว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่น่าเริ่มต้นสำหรับ SME ไทย เพราะมีกำลังซื้อสูง ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคสหรัฐฯ นั้นต้องการ สินค้าที่มีความแตกต่างจากสินค้าที่มีในประเทศ ดังนั้น ต้องมี จุดขายความเป็นไทย แต่ก็ไม่ทิ้งจุดขายด้านฟังก์ชัน

“อย่างกางเกงมวยของ Tuff ไม่ได้ขายได้เพราะเป็นกางเกงมวย แต่มีฟังก์ชันที่เหมาะสำหรับใส่ออกกำลังกาย และมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่วนขนมขบเคี้ยว ก็เป็นกลุ่มที่ไทยพัฒนาได้ดี และทั้งรสชาติดีและมีประโยชน์ ซึ่งสินค้าในสหรัฐฯ ไม่ค่อยมี”

อยาก Go Inter แต่ยังติดหลายสิ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหลายคนยังติดปัญหาเกี่ยวกับการส่งออก โดยพบว่า

  • 88% ระบุว่า ค่าใช้จ่าย เช่น การขนส่ง ค่าธรรมเนียมกรมศุล ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ 
  • 89% มองว่ายัง ขาดความรู้ โดยไม่รู้ว่าโมเดลที่เอื้อต่อการทำธุรกิจข้ามพรมแดนต้องมีอะไร
  • 93% มองว่า กฎระเบียบด้านการส่งออก ถือเป็นอุปสรรคอย่างมาก 
  • 91% ขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยทำ Cross-border เช่น ด้าน Digital Marketing ด้านซัพพลายเชน

โดย อนันต์ มองว่า การจะสนับสนุนให้ SME ไทยสามารถ Go Inter ได้ ควรสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับตลาด สร้างอีโคซิสเต็มส์ให้ทำงานได้ง่าย เช่น รวมโลจิสติกส์ไว้บนแพลตฟอร์มเดียว สุดท้าย ภาครัฐควรช่วยเหลือด้านกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้า

สำหรับ Amazon เองก็มีโปรแกรมช่วยเหลืออย่าง Amazon Global Selling อาทิ บริการ Fulfillment by Amazon (FBA) ที่เป็นบริการ Fullfillment คือ หยิบ แพ็ก ส่ง โดย Amazon จะเก็บสินค้าของลูกค้าไว้ในคลังที่มีกว่า 400 แห่ง และจะจัดส่งให้เมื่อมีคำสั่งซื้อ โดยการันตีจัดส่งถึงปลายทางได้ภายใน 2 วัน นอกจากนี้ Amazon ยังมีโครงการอื่น ๆ เช่น Amazon Brand Registry ช่วยเรื่องการตลาดให้ลูกค้าเจอแบรนด์ได้มากขึ้น หรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น รวมถึง Shopping Event เช่น  Black Friday เป็นต้น

“ผู้ประกอบการหลายคนยังไม่ใช่งาน FBA อาจเป็นเพราะกระบวนการอาจซับซ้อน รวมถึงค่าใช้จ่าย ซึ่งเราเองก็ตระหนักเรื่องนี้ โดยจะปรับกระบวนการให้ง่ายขึ้น รวมถึงสื่อสารถึงข้อดีของบริการ อย่าง ลูกค้าที่ใช้บริการ FBA ก็มียอดขายเพิ่มขึ้น 20-25% และลดต้นทุนได้ 30% เมื่อเทียบกับลูกค้าที่ไม่ใช้”

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยกว่า 1,000 รายบน Amazon มียอดขายสินค้ากว่า 1 ล้านชิ้น/ปี และข้อมูลจาก Statista พบว่า ในปี 2023 สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีรายได้รวมจากอีคอมเมิร์ซสูงเป็นอันดับที่สองของโลก มีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากผลสำรวจของ Amazon ที่จัดทำโดย Access Partnership ในปีเดียวกัน พบว่ามากกว่า 65% ของธุรกิจ SMEs ของไทย มองว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีความสำคัญในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้