แม้ปีที่ผ่านมา ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยจะซบเซา แต่หนึ่งในสมาร์ทโฟนที่กำลังกลายเป็นกระแสในตอนนี้คงหนีไม่พ้น Samsung Galaxy S24 Series ที่เปิดตัวมาก็มียอดจองมากกว่ารุ่น S23 Series ถึง 200% โดยตลาดไทยขึ้นแท่นเป็นยอดจองสูงสุดเป็นเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย ซึ่ง 1 ใน 4 หรือ 25% ของยอดพรีออเดอร์นั้นมาจากแบรนด์คู่แข่ง อะไรทำให้ Samsung Galaxy S24 Series ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ไปหาคำตอบกัน
เอไอถูกพูดถึงมากกว่าสมาร์ทโฟน
หากพูดถึงตลาดสมาร์ทโฟนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ส่วนใหญ่จะเน้นการสื่อสารไปที่ ‘กล้อง’ เป็นหลัก แม้หลัง ๆ จะมีสมาร์ทโฟน ‘จอพับ’ แต่ก็ไม่ใช่ผู้บริโภคทุกคนจะตอบรับกับเทรนด์ดังกล่าว กลับกัน การมาของ ChatGPT ได้ปลุกให้คนตื่นตัวกับความสามารถของเอไอ
วัดได้จากกราฟการค้นหาของ Google ที่จะพบว่าการค้นหาเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนลดลงเรื่อย ๆ แต่เรื่องเอไอกลับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากการมาของ Samsung Galaxy S24 Series จะเรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้
ดีมานด์สมาร์ทโฟนพรีเมียมไม่มีตก
หากดูจากตัวเลขภาพรวมของตลาดสมาร์ทโฟนตั้งแต่ปี 2020-2023 แม้จำนวนจะลดลงเรื่อย ๆ แต่สมาร์ทโฟนในกลุ่ม ‘พรีเมียม’ (ราคา 20,000 บาท+) ยังเติบโตได้ โดยจำนวนสมาร์ทโฟนในกลุ่มพรีเมียมแม้จะมีเพียง 1.5 ล้านเครื่อง จากจำนวนทั้งหมด 10.7 ล้านเครื่อง แต่ในแง่มูลค่ากลับสูงถึง 1,755 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 3,533 ล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดสมาร์ทโฟน
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดพรีเมียมยังเติบโตได้เป็นเพราะวิกฤฤตเศรษฐกิจไม่กระทบกับกลุ่มที่มีกำลังซื้อ กลับกัน เมื่อผู้บริโภคมีความเข้าใจมากขึ้น มีประสบการณ์จากสมาร์ทโฟนที่ใช้ก็อยากจะอัปเกรดไปใช้รุ่นที่ดีขึ้น และในปัจจุบัน ผู้บริโภคก็มีทางเลือกที่จะผ่อนชำระได้ ทำให้การซื้อสมาร์ทโฟนที่มีราคาสูงขึ้นไม่ได้มีอุปสรรคมากนัก
ซื้อก่อนไม่เจ็บก่อนอีกต่อไป
หนึ่งในการคิดมุมกลับของ สิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานองค์กร ธุรกิจโมบายล์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ ได้เล่าให้ฟังก็คือ เขาไม่อยากได้ยินคำว่า “ซื้อก่อนเจ็บก่อน” เพราะซื้อในราคาเต็ม แต่ผ่านไปสักระยะมีโปรโมชั่นลดราคา ดังนั้น ซัมซุงต้องการเปลี่ยนมายเซ็ทนี้ ทำให้แนวคิดของซัมซุงคือ อัดโปรให้ตั้งเเต่จองเลย เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า ลูกค้าเก่าเองก็จะไม่รู้สึกเหมือนถูกทิ้งด้วย
จากนี้ ซัมซุงก็มีแผนจะใช้งบการตลาดกับการสอนให้ลูกค้าใช้งานสมาร์ทโฟนให้คุ้มค่ามากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเห็นประโยชน์จากสมาร์ทโฟนที่ซื้อไปมากขึ้น
พรีเซ็นเตอร์ที่ใช่ในเวลาที่ใช่
ที่ผ่านมา ซัมซุงมีการใช้พรีเซ็นเตอร์มาหลากหลาย แต่ต้องยอมรับว่าการใช้ “พี่จอง-คัลแลน” ที่กำลังโด่งดังอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดียไทย นอกจากจะได้ใจแฟนคลับแล้ว แต่ยังสื่อสารได้เข้าเป้าสุด ๆ เนื่องจากพี่จอง-คัลแลนเป็นชาวเกาหลีใต้ แม้จะอยู่ในประเทศไทยจนสื่อสารได้แต่ก็ไม่ได้ 100% เหมือนเจ้าของภาษา ขณะที่ Samsung Galaxy S24 Series ที่มีหนึ่งในฟีเจอร์เด่นอย่าง Live Translate และ Interpreter ที่สามารถแปลภาษาได้เรียลไทม์ ก็ยิ่งช่วยเร่งสร้างกับรับรู้ให้กับผู้บริโภค เรียกได้ว่ากระแสของพี่จอง-คัลแลนมาได้ถูกเวลาจริง ๆ
ปัจจุบัน ตลาดพรีเมียมของไทยถูกครองโดยผู้เล่นเพียง 2 ราย และหนึ่งในนั้นคือ ซัมซุง แน่นอนว่าด้วยการเติบโตของกลุ่มพรีเมียมทำให้หลายแบรนด์พยายามจะเจาะตลาดนี้โดยพยายามหาจุดเด่นมาดึงดูดผู้บริโภค แต่หนึ่งในสิ่งที่ สิทธิโชค มองว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้แบรนด์อื่นนั้นสอดแทรกเข้ามาได้ยากก็คือ ความเชื่อมั่น เพราะซัมซุงอยู่ในตลาดไทยมานาน และเรื่องความเชื่อมั่นหรือความเชื่อใจเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง สิทธิโชคทิ้งท้าย