เจาะแผน ‘เมกา บางนา’ จะเพิ่มทราฟฟิกอย่างไรหลังทำ New High และมี ‘ห้างฯ ใหม่’ มาท้าชน

นับตั้งแต่เปิดตัวไปครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555 ปัจจุบัน เมกา บางนา (Mega Bangna) ก็ให้บริการมา 11 ปีเต็ม โดยมีจำนวนลูกค้ามากกว่า 550 ล้านคน แม้ว่าโควิดจะทำให้เมกา บางนาสะดุดไปบ้าง แต่ในปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯ ก็สามารถเพิ่มจำนวนทราฟฟิกสู่ระดับ New High ได้ คำถามคือ ไม่ใช่แค่รักษาระดับทราฟฟิก แต่จะดันให้เติบโตได้อย่างไร

New High 53 ล้านคน

ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 เมกาบางนา (Mega Bangna) มียอดทราฟฟิกปีละประมาณ 50 ล้านคน แต่ในปี 2566 นี้ วรรณวิมล อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเมกา บางนา เล่าว่า จำนวนทราฟฟิกเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราว 10% อยู่ที่ 53 ล้านคน ซึ่งทำสถิติ New High โดยเฉลี่ยแล้วมีทราฟฟิกประมาณเดือนละ 4.4 ล้านคน โดยในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) มีลูกค้าเฉลี่ยกว่า 1.2 แสนคนต่อวัน และมากกว่า 2.2 แสนคนต่อวัน ในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยลูกค้า

  • 81% มาเพื่อทานอาหาร
  • 32% ช้อปปิ้งสินค้าไลฟ์สไตล์
  • 23% ซื้อของตกแต่งบ้าน

ที่น่าสนใจคือ 53% ของลูกค้ามาเป็น ครอบครัว นอกจากนี้ 40% ของลูกค้ายังมี สัตว์เลี้ยง อีกด้วย

เฟิร์สจ็อบเบอร์ เป้าหมายเพิ่มทราฟฟิก 10%

วรรณวิมล ยอมรับว่า การที่เมกา บางนาทำยอด New High ไปในปีที่ผ่านมา ปีนี้จึงถือเป็นความท้าทายว่าจะทำให้จำนวนทราฟฟิกของศูนย์ เติบโต 10% ตามเป้าอย่างไร อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ฯ มองว่า กลุ่มผู้สูงวัยและคนรักสัตว์ ถือเป็น 2 กลุ่มที่มีการเติบโตอย่างมาก อีกทั้งยังมีการใช้จ่ายที่สูง ทำให้ศูนย์ฯ ต้องการจะสร้างคอมมูนิตี้ของ 2 กลุ่มนี้เพื่อ สร้างความผูกพัน ทำให้มาบ่อยขึ้น และกลุ่มที่อยากเพิ่มจำนวนก็คือ นักศึกษา-เฟิร์สจ็อบเบอร์ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 22%

“กลุ่มผู้สูงวัยและคนรักสัตว์เราเห็นศักยภาพด้านกำลังการใช้จ่าย เพราะคนที่มีสัตว์เลี้ยงเขายอมจ่าย ส่วนกลุ่มผู้สูงวัยเขาไม่ได้มีภาระ แต่มีเงินพร้อมใช้จ่าย ซึ่งเราไม่ได้หวังว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องการเพิ่มความใกล้ชิด ส่วนที่เราอยากเพิ่มคือกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยและเฟิร์สจ็อบเบอร์”

ปัจจุบัน นอกเหนือจากเมกา บางนาแล้ว ฝั่งของ IKEA เป็น Pet friendly โดยอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้

ทุ่มงบการตลาด 200 ล้านจัดอีเวนต์

หนึ่งในจุดที่ วรรณวิมล จะใช้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าก็คือ งานอีเวนต์ ซึ่งแต่ละปีเมกา บางนาจะจัดอีเวนต์เฉลี่ย 13 ครั้ง หรือเฉลี่ยราวเดือนละครั้ง และในปีนี้ศูนย์ฯ วางงบส่วนนี้ไว้ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา โดยจำนวนอีเวนต์จะเท่าเดิมแต่จะจัดใหญ่ขึ้น ซึ่งภายใน 13 อีเวนต์นี้ จะเป็น 5 งานซิกเนอเจอร์ของทางศูนย์ฯ ที่เหลือจะเป็นอีเวนต์ตามเทศกาล

“แม้เราจะต้องการจับกลุ่มผู้สูงวัย แต่คาแรกเตอร์ของเราจะต้องมีความทันสมัยตลอดเวลา และมีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น อย่างช่วงสงกรานต์เราจะใช้เป็นอีเวนต์สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยหรือกลุ่มครอบครัว ในส่วนของกลุ่มคนรักสัตว์เราก็จะมีงาน Mega Pets Day และมีสวนให้พาน้อง ๆ เดินเล่น”

นอกจากนี้ การสื่อสารของเมกา บางนาจะยังทำทั้งภายในศูนย์ฯ และบนโซเชียลมีเดีย โดยปีนี้จะเพิ่มแพลตฟอร์ม TikTok ในการสื่อสารกับลูกค้า เพราะพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลของลูกค้าแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน

เพิ่มแบรนด์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น

ในส่วนของร้านภายในเมกา บางนามีการเช่าเต็มพื้นที่รวมแล้ว 900 ร้าน โดยแบ่งเป็น ร้านอาหาร 30% สินค้าแฟชั่น 40% และร้านสินค้าไลฟ์สไตล์และเซอร์วิส 30% วรรณวิมล เล่าว่า ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ได้มีร้านที่ใหม่ อาทิ แฟลกชิปสโตร์ของ Nike, New Balance และร้าน Gentle Women มาเปิดใหม่ โดยทั้งหมดต่างเป็นแบรนด์ที่อยู่ในกระแสและเป็นที่นิยมของกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น ในส่วนของร้านอาหารก็มีแบรนด์ใหม่ ๆ เช่นกัน อาทิ Sushi Seki, Ampersand, Minimelts, Toro Fries และถ้วยถัง นอกจากนี้ ส่วนต่อขยายของเซ็นทรัลก็เพิ่งเปิดไปช่วงปลายเดือนที่แล้ว

โดยในปีนี้เมกา บางนาก็มีแผนจะดึงร้านเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และร้านอาหารมาเปิดใหม่ โดยจะเห็นความชัดเจนช่วงไตรมาส 2 ของปี

“เรามองว่าสัดส่วนของร้านในศูนย์ฯ จะไม่ได้เปลี่ยนแต่มีความวาไรตี้มากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าเรามีสิ่งที่ตรงใจลูกค้า”

เพิ่มสมาชิก MEGA SMILE REWARDS 10%

สำหรับลอยัลตี้โปรแกรมของเมกา บางนา ก็คือ เมกา สไมล์ รีวอร์ดส (MEGA SMILE REWARDS) ที่เปิดตัวในปี 2019 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 3.6 แสนคน แอคทีฟประมาณ 35% โดยสมาชิกมียอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จอยู่ที่ 4,500 บาทขึ้นไป โดยในปีนี้ เมกาบางนาตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกและยอดใช้จ่ายอีก 10%

จุดที่จะดึงดูดให้ลูกค้าเป็นสมาชิกมากขึ้นก็คือ ได้แต้ม 2 ต่อ โดยนอกจากจะนำใบเสร็จสะสมคะแนนกับร้านค้าที่ซื้อ จากนี้จะสามารถนำมาสะสมกับ Mega Smile Reword ได้ด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนแต้มในแพลตฟอร์มพันธมิตรได้ ปัจจุบันมีเมกาบางนามีพาร์ตเนอร์ 2 ราย ได้แก่ ปตท. และ The 1

Mega Smile Reword ช่วยให้เรารู้ได้ว่ากลุ่มลูกค้าเราเป็นใคร อายุเท่าไหร่ ใช้จ่ายมากแค่ไหน ซื้ออะไร และชอบแลกแต้มกับอะไร โดยเรามีตั้งแต่ของกิน ส่วนลด หรือสิทธิประโยชน์จากร้านค้าที่ร่วมรายการ

ไม่เคยจำกัดว่าเป็น Mid-Tier!

วรรณวิมล ทิ้งท้ายว่า ศักยภาพของเมกาบางนายังไปได้อีกมาก โดยดูจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของพื้นที่แถบนี้ (โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก) สะท้อนได้จากการเข้ามาของคู่แข่ง (แบงค็อก มอลล์ ของกลุ่มเดอะมอลล์) พร้อมย้ำว่า เมกา บางนาไม่เคยบอกว่าดีไซน์มาเป็น Mid-Tier หรือ Upper Tier และเชื่อว่าที่ศูนย์ฯ มีสินค้าที่หลากหลายและค่อนข้างครบ รวมถึงสินค้าแบรนด์ลักชัวรี่ ดังนั้น ต่อให้เป็นกลุ่มที่มี่กำลังซื้อสูงก็มีสินค้าที่ตอบโจทย์

“ตอนนี้เขามองว่าไม่ต้องเข้าเมืองก็ได้ เพราะที่นี่มีหมด และยอดใช้จ่ายก็ไม่น้อยหน้าในเมืองเลยแม้โลเคชั่นเราจะอยู่ในสมุทรปราการ และลูกค้าเราก็ไม่ได้มีแค่คนสมุทรปราการ แต่มีคนในเมืองด้วย”