เมกาบางนากับการทำตลาดมาแล้ว 10 ปี ยึดครองหัวหาดศูนย์การค้าย่านบางนา-ตราด ผู้บุกเบิกศูนย์การค้าโมเดล Low Rise มีแค่ 2 ชั้น พร้อมอัปเดตแผนการพัฒนาสู่อาณาจักร “เมกาซิตี้” ภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่ “เซ็นทรัลพัฒนา” ยืนยันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไร ปรับตามเทรนด์ของตลาด
เปิดตำนาน 10 ปี เมกาบางนา
ถ้าพูดถึงภาพจำของศูนย์การค้าในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นตึกใหญ่ มีจำนวนหลายชั้น ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เพื่อเดินทางได้สะดวก มีร้านค้า และบริการที่ครบครัน จะเห็นว่าเจ้าของโครงการใหญ่ล้วนมีรูปแบบนี้ทั้งสิ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีเทรนด์ของ “คอมมูนิตี้ มอลล์” เป็นเหมือนไลฟ์สไตล์มอลล์ มีร้านอาหาร และบริการ เน้นโลเคชั่นในชุมชน ส่วนใหญ่มีรูปแบบเอาต์ดอร์ มีจำนวนชั้นไม่เยอะ และมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก
จนเมื่อโครงการ “เมกาบางนา” ได้เกิดขึ้นในปี 2555 ถือว่าเป็นศูนย์การค้าในโมเดล Low Rise แห่งแรกในไทย หรือเป็นศูนย์การค้าแนวราบ มีแค่ 2 ชั้น จากปกติศูนย์การค้าในไทยส่วนใหญ่จะเป็นแบบ High Rise มีจำนวนชั้นเฉลี่ย 4-7 ชั้น เพื่อให้มีบริการ และร้านค้าครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งยังก่อสร้างให้คุ้มทุนกับค่าที่อีกด้วย
เมกาบางนาบริหารงานโดย บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด มี 3 ผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็คือ บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ในเครือ เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN, บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย จำกัด ผู้ถือสิทธิ์ IKEA ประเทศไทย และบริษัท เอส.พี.เอส. โกลเบิลเทรด จำกัด
โดยที่เมกาบางนามีพาร์ตเนอร์หลักที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่ร่วมเปิดศูนย์ ได้แก่ อิเกีย, เซ็นทรัล, โฮมโปร, บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า และเมเจอร์ ซินีเพล็กซ์ ล้วนเป็นผู้เล่นค้าปลีกรายใหญ่ในไทย
ตอนแรก IKEA ได้เปิดให้บริการก่อนในเดือน พ.ย. 2554 และเมกาบางนาเปิดให้บริการในเดือน พ.ย. 2555 สร้างความฮือฮาด้วยความเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่เดิมมีพื้นที่รวม 400,000 ตารางเมตร ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 577,000 ตารางเมตร แต่ได้สร้างเป็นโมเดล Low Rise เพราะมีพื้นที่ใหญ่
พลินี คงชาญศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด เริ่มเล่าให้ฟังว่า
“รูปแบบศูนย์การค้าแบบ Low Rise เริ่มมาจากทางยุโรป ส่วนใหญ่จะสร้างในโซนนอกเมือง ค่าที่ไม่แพงมาก เราก็เห็นว่าศูนย์การค้าในไทยมีแต่สูงๆ เดินขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ค่อยสนุก แรกๆ ที่เริ่มเปิดหลายคนก็เดินแบบ Low Rise ไม่เป็น เพราะต้องเดินรอบๆ แต่เทรนด์ก็เริ่มเปลี่ยน การเดินรอบสนุกกว่า ไม่มีหลง และไม่มี Dead End ศูนย์การค้าตึกสูงๆ จะมีจุดที่ชั้นบนๆ คนจะเดินขึ้นไม่ถึง แต่เมกาบางนาสามารถเดินถึงทุกมุม”
ทิศทาง “เมกาซิตี้” หลัง CPN เข้าถือหุ้นใหญ่
การเปิดของเมกาบางนาเรียกว่าสร้างแรงกระเพื่อมในวงการค้าปลีกไม่น้อย ว้าวแรกคือการได้พาร์ตเนอร์ใหม่อย่าง IKEA ที่เปิดสาขาแรกในไทย ว้าวที่สองคือ ศูนย์ฯ นี้ตั้งอยู่ในทำเลที่รายล้อมด้วยหมู่บ้านจัดสรรมากมาย จับกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ได้อย่างดี เพราะในโซนนี้ยังไม่มีศูนย์การค้าใหญ่ขนาดนี้ มีเพียงแค่เซ็นทรัล บางนา ก็ต้องยอมรับว่ายังยิ่งใหญ่ไม่พอที่จะดึงดูดผู้บริโภคได้
แต่แค่เมกาบางนายังไม่อลังการมากพอ อีกทั้งยังมีพื้นที่เหลืออยู่ถมเถ พร้อมกับแผนการลงทุนของแบงค็อก มอลล์ (Bangkok Mall) ของเดอะมอลล์กรุ๊ป ที่จะมาตอกเสาเข็มย่านบางนา-ตราดเช่นกัน เตรียมสร้างเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย ด้วยพื้นที่ 100 ไร่ งบลงทุนระดับ 50,000 ล้านบาท เป็นการหายใจรดต้นคอไม่น้อย
ทำให้เมกาบางนาอยู่นิ่งไม่ได้ จึงต้องขยายจากแค่ศูนย์การค้าอย่างเดียว เป็นบิ๊กโปรเจกต์ Mixed-use ด้วยชื่อ “เมกาซิตี้” ได้เริ่มเปิดตัวตั้งแต่ปี 2560 ด้วยงบลงทุน 67,000 ล้านบาท พร้อมกับลงทุนขยาย “เมกา ฟู้ดวอล์ค” ศูนย์รวมร้านอาหารดัง มีพื้นที่รวม 10,000 ตารางเมตร ตึกสูง 4 ชั้น ใช้งบลงทุน 2,000 ล้านบาท
เมกาซิตี้มีเนื้อที่รวม 400 ไร่ เป็นโครงการระยะยาวแบ่งการพัฒนาเป็นหลายเฟส ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 300 ไร่ เปิดให้บริการไปแล้วราว 40% เหลือพื้นที่อีก 100 ไร่ ตามแผนโครงการจะประกอบไปด้วย พื้นที่สำหรับอยู่อาศัย โรงแรม สำนักงาน แหล่งช้อปปิ้ง โรงเรียน และพื้นที่ไลฟ์สไตล์ โดยมีเมกาบางนาเป็นศูนย์กลาง
คาดว่าหากโครงการเสร็จสมบูรณ์จะทำให้มีผู้เข้ามาใช้บริการในโครงการเมกาซิตี้ และเมกาบางนาถึงวันละ 250,000 คน จากปกติมีทราฟฟิกเฉลี่ยวันละ 150,000 คน
ปัจจุบันเมกาซิตี้มีการพัฒนาไปแล้วกว่า 40% ได้แก่
- ส่วนต่อขยายเมกา ฟู้ดวอล์ค มาพร้อมกับที่จอดรถ 1,200 คัน และร้านอาหารเพิ่มกว่า 30 ร้าน
- อาคารจอดรถอิเกีย 8 ชั้น เชื่อมต่อกับตึกเดิมของอิเกียที่รองรับรถได้เพิ่มถึง 2,000 คัน ซึ่งทำให้ปัจจุบันเมกาบางนาสามารถรองรับรถได้ครั้งละถึง 12,000 คัน
- ส่วนต่อขยายโซนเมกา สมาร์ท คิดส์ แหล่งรวมสถาบันสอนเสริมทักษะกว่า 20 แห่ง
- Mega Harborland สนามเด็กเล่นในร่มขนาดใหญ่
- สวนสาธารณะเมกาพาร์ค, โรงเรียนประถมศึกษานานาชาติ ดิษยะศริน กรุงเทพ และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ
- TOPGOLF (ท็อปกอล์ฟ) โครงการที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2565
หลายคนก็สงสัยว่า หลังจากที่ทาง “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF ในสัดส่วนถึง 96.24% ซึ่งได้เพิ่งปิดดีลไปเมื่อเดือน ต.ค. 2564 จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างกับเมกาบางนา หรือเมกาซิตี้หรือไม่
พลินี บอกว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ทำให้รู้สึกกังวล CPN เข้ามาซัพพอร์ตไอเดีย เพื่อทำให้สำเร็จเร็วขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงคงจะเป็นเรื่องของแผนการพัฒนาโครงการในเมกาซิตี้ จากเดิมจะมีสำนักงาน 2 ตึก แต่เทรนด์ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไป หลายที่ Work from Home ไม่มาเช่าออฟฟิศ อาจจะมีการเปลี่ยนแผน หรือเปลี่ยนเป็นโครงการอื่นๆ แทน
พลินี เสริมอีกว่า เมกาซิตี้ยังเหลือพื้นที่อีก 100 ไร่ คาดว่าจะเพิ่มโรงแรมได้ 3 โรงแรม จะเป็นอินเตอร์เชนทั้งหมด เป็น 3 เทียร์ เพื่อจับลูกค้าหลายกลุ่ม อาจจะเพิ่มพื้นที่รีเทลได้อีก จากที่มีอยู่ 200,000 ตารางเมตร
“สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เมกาซิตี้ชะงักไปบ้าง เพราะพาร์ตเนอร์ต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาดูโครงการได้ ตอนนี้คุยเรื่องโรงแรมเป็นหลัก คาดจะเพิ่มอีก 3 โรงแรม แตกต่างกันหลายกลุ่ม ตอนนี้ก็ศึกษากลุ่มลักชัวรี่เพิ่มเติม เพราะยังเป็นส่วนที่ขาดในโครงการ แต่ต้องดูว่ามีโอกาสอย่างไร พร้อมหรือไม่ด้วย”
ขอเทียบเท่า “เซ็นทรัลเวิลด์” ดึงคนไม่ต้องเข้าเมือง
แม้ว่าการเป็นศูนย์การค้านอกเมืองของเมกาบางนา จะไม่ได้กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในเมืองมากนัก เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักก็คือชุมชนในละแวกบางนา-ตราด แต่ด้วยเทรนด์ของการขยายเมือง ทำให้ประชากรออกมาอยู่อาศัยนอกเมืองมากขึ้น ผู้คนในละแวกนี้จึงมีกำลังซื้อสูง
และด้วยความที่มีพื้นที่ใหญ่ ทำให้เป็นตัวเลือกเบอร์ต้นๆ ของการขยายสาขาในโมเดล “แฟลกชิพสโตร์” จะสังเกตได้ว่า ร้านอาหาร หรือสินค้าแฟชั่น บริการต่างๆ จะเลือกเปิดสาขาแฟลกชิพสโตร์ที่มีพื้นที่ใหญ่ ไปกับศูนย์การค้าใหญ่ๆ นอกเมืองทั้งสิ้น นอกจากจะได้พื้นที่เยอะแล้ว ยังจับกลุ่มลูกค้าละแวกนั้นด้วย
“ย้อนไป 10 ปีก่อน เมกาบางนาคือศูนย์การค้าระดับแมส มีร้านอาหารแบบที่ทุกคนมี แต่ตอนนี้เป็นมอลล์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น มีร้านอาหารใหม่ๆ แฟชั่น ความงามใหม่ๆ เพื่อดึงคนไม่ต้องเข้าเมืองแล้ว มีทุกอย่างให้ครบ เรามองโมเดลเทียบเท่าเซ็นทรัลเวิลด์ ลูกค้ามีกำลังซื้อ และอยากทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ต่างๆ เหมือนกับที่เซ็นทรัลเวิลด์มี”
ทางศูนย์ได้ทำผลสำรวจ พบว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนละแวกนี้อยู่ที่ 150,000 บาท เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยในการมาศูนย์ฯ แต่ละครั้ง มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 3,500-4,000 บาท รวมทั้งร้านแฟชั่น และร้านอาหาร
ส่วนในช่วง COVID-19 มีรายได้ลดลงไป 30% มีทราฟฟิกผู้ใช้บริการลดลงนิดหน่อย แต่ยังดีที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย 90% จึงไม่ได้กระทบมากนัก ปัจจุบันเมกาบางนามีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 150,000-160,000 คน มีทราฟฟิกรถยนต์วันละ 35,000 คัน
- “เมกาบางนา” เล็งปรับเวลาจอดรถฟรีเหลือ 6 ชั่วโมง ศึกษาเก็บค่าจอดรถเพิ่ม
-
เมกาบางนา จับมือ อิเกีย เปิดอาคารจอดรถแห่งใหม่รองรับได้กว่า 2,000 คัน พร้อมให้บริการแล้ววันนี้
- ถอดบทเรียน IKEA ปิดสโตร์ 2 เดือน ยอดหาย 40% คาดใช้เวลา 2 ปี ถึงกลับมาโตเท่าเดิม!