ทำได้ไหม? นักวิเคราะห์ชี้ ‘Netflix’ ต้องยอมญาติดี ‘โรงหนัง’ เพื่อจับมือกันอยู่รอด

หลังจากที่ขาขึ้นเพราะการระบาดของ COVID-19 แต่เพราะคู่แข่งที่มากขึ้น ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้จำนวนผู้ใช้ Netflix ลดลง 2 แสนราย ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ผู้ใช้ลดลง ส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วง 35% ทำมาร์เก็ตแคปหายเป็นมูลค่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.8 ล้านล้านบาท

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว Netflix มีแผนที่จะทำราคาแพ็กเกจให้ถูกลงแล้วเพิ่มโฆษณา อีกทั้งยังวางระบบใหม่ให้ไม่สามารถแชร์รหัสผ่านกันได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังลดงบในการผลิตคอนเทนต์ในฝั่งอนิเมชั่นอีกด้วย แต่แค่นี้อาจยังไม่พอ โดยนักวิเคราะห์ได้แนะนำให้ Netflix เป็น พันธมิตรกับอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ ที่เหมือนขั้วตรงข้ามกัน

ในช่วงที่ Netflix กำลังเลียแผลสดอยู่ ตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากที่เจอวิกฤต COVID-19 และตอนนี้อาจถึงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยอุดช่องว่างของกันและกัน โดย Netflix ต้องการขยายกลุ่มลูกค้าและสร้างรายได้ ส่วนโรงภาพยนตร์ก็ต้องการภาพยนตร์ใหม่ ๆ เข้าฉาย

ดังนั้น หาก Netflix เปิดตัวภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มากขึ้น บริษัทก็จะสามารถสร้างรายได้ใหม่จากการขายตั๋ว อีกทั้งยังอาจจะขยายแบรนด์ไปยังกลุ่มผู้ใช้ใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น และช่วยให้ภาพยนตร์เป็นที่น่าจดจำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทพยายามทำ เพราะแม้จะมีสมาชิกกว่า 221 ล้านคนทั่วโลก แถมหลายคอนเทนต์ยังได้รางวัลออสการ์ แต่คอนเทนต์ก็ยังไม่เป็นที่จดจำ ดังนั้น การจะสร้าง หนังแฟรนไชส์ อาจเป็นเรื่องยาก

“โดยพื้นฐานแล้วมันยังคงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างแฟรนไชส์ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ โดยไม่มีการฉายในโรงภาพยนตร์” Andrew Hare รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยของ Magid กล่าว

ด้าน เจฟฟ์ บ็อค นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทวิจัยด้านความบันเทิง Exhibitor Relations กล่าวว่า อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ต้องการคอนเทนต์จำนวนมากกว่าที่เคย ขณะที่คอนเทนต์ของ Netflix ก็มีทุนสูง เต็มไปด้วยดาราที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ชมได้แน่นอน ขณะที่ John Fithian ซีอีโอของ NATO กล่าวว่า อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์เปิดกว้างในการนำเสนอคอนเทนต์จาก Netflix ไปสู่วงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเดียวที่ยังทำให้แนวคิดนี้ไม่เกิดขึ้นจริงก็คือ ระยะเวลาในการเข้าฉาย เพราะธุรกิจของ Netflix นั้น ต้องการนำเอาคอนเทนต์ไปลงในแพลตฟอร์มให้เร็วที่สุดเพื่อดูดลูกค้า ส่วนโรงภาพยนตร์ก็ต้องยืนระยะฉายให้นานที่สุดเพื่อโกยรายได้

โดยก่อนหน้านี้ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เคยให้ความเห็นว่า หนังควรยืนระยะในโรงภาพยนตร์ และควรเว้นระยะก่อนจะมุ่งหน้าไปยังสตรีมมิ่งอย่างน้อย 70 วัน แต่การระบาดใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แม้แต่สตูดิโอดั้งเดิมอย่าง Warner Bros. และ Universal Pictures ก็กำลังปล่อยภาพยนตร์ละครทางสตรีมหลังจากไม่กี่สัปดาห์หรือบางครั้งพร้อมกัน

นอกเหนือจากปัญหาด้านระยะเวลา ยังมีปัญหาเรื่อง ค่าใช้จ่าย ที่ Netflix ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ การส่งเสริมการขาย และการวางภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มากขึ้น อาจส่งผลเสียต่อโมเดลของ Netflix เพราะหากว่ามีคอนเทนต์แค่เรื่องเดียวที่ดึงดูดใจให้สมัครสมาชิก Netflix แต่กลับตีตั๋วไปดูในโรงฯ ได้ นั่นอาจทำให้หมดแรงจูงใจในการสมัครสมาชิก

ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สุดท้ายเเล้วหาก Netflix จะทำงานกับโรงภาพยนตร์มากขึ้น บริษัทจำเป็นต้องหันไปในทิศทางที่ถูกต้อง และสถานการณ์ของโรงภาพยนตร์ก็จะต้องกลับมานิ่งเป็นปกติ ซึ่งแน่นอนว่า Netflix จะลองเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

Source