ค่ายรถยนต์ตะวันตกเปลี่ยนแผนทุ่มทุนกับ “รถอีวี” มาเป็น “รถไฮบริด” หลังดีมานด์อ่อนตัวกว่าที่คาด

Man plugging in charger into an electric car at charge station
ดีมานด์ “รถอีวี” อ่อนตัวกว่าที่คาด ตามด้วยปัญหาการทำ “สงครามราคา” ของ Tesla ทำให้ค่ายรถตะวันตกหลายรายเริ่ม “เปลี่ยนแผน” หันเข็มทิศสู่การผลิต “รถยนต์ไฮบริด” แทน

หลังตลาดรถยนต์เข้าสู่ศักราชใหม่แห่ง “รถอีวี” ค่ายรถยนต์ตะวันตกมากมายต่างปรับตัวมุ่งสู่ทิศทางนี้ โดยใช้แผนการเข็นรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มลักชัวรีขึ้นมาเป็นเรือธง เพื่อสร้างกำไรในเซ็กเมนต์ใหม่ให้ได้เร็วที่สุด แต่ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ แผนการดังกล่าวเริ่มใช้ไม่ได้ผลเมื่อกลุ่ม ‘early adopter’ ที่มีกำลังซื้อสูงกลับเริ่มผ่อนดีมานด์การซื้อรถอีวีลง

ความต้องการในตลาดรถอีวีสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนไป ผู้ซื้อรถรายใหม่ๆ เริ่มต้องการตัวเลือกรถยนต์ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์มากกว่าและราคาเข้าถึงง่ายกว่า ทำให้รถยนต์ไฮบริดเป็นตัวเลือกที่ขายดีกว่ารถอีวี 100%

เทรนด์นี้ทำให้ค่ายรถหลายแห่งเริ่มเหยียบเบรกแผนการผลิตรถอีวีตั้งแต่ปลายปี 2023 และเริ่มวางแผนใหม่ในตลาดรถยนต์ เช่น General Motors (GM) ที่เปลี่ยนมาเน้นหนักการขายรถยนต์ไฮบริดในตลาดทวีปอเมริกาเหนือ หรือ Volvo ลดการอัดเงินทุนเข้าบริษัทลูก ‘Polestar’ ที่เป็นยี่ห้อรถอีวีในเครือ

Polestar 3 แบรนด์รถยนต์อีวีในเครือ Volvo

 

สายสนับสนุน “ไฮบริด” อาจจะมาถูกทางมากกว่า

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถยนต์เหมือนแบ่งแนวทางกลยุทธ์เกี่ยวกับ “รถอีวี” ออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายแรก เช่น GM, Volkswagen มองว่าควรจะข้ามขั้นตอนการผลิตรถยนต์ไฮบริด และมุ่งสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปเลยทีเดียว ขณะที่ฝ่ายที่สอง เช่น Toyota, Stellantis (เจ้าของแบรนด์ Jeep) มองว่าควรจะทยอยปรับเป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นรถอีวี 100%

ที่ผ่านมาในตลาดก็ยังไม่ชัดเจนนักว่ากลยุทธ์ไหนที่จะดีกว่า จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของ GM ในช่วงสัปดาห์นี้ คือสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าผู้บริหารในอุตสาหกรรมเริ่มมองว่า “รถยนต์ไฮบริด” คือสิ่งที่ควรมี

รถยนต์
Chevrolet Volt รถยนต์ PHEV ที่ GM เลิกผลิตไปเมื่อปี 2019 อาจจะได้กลับมาอีกครั้งหรือไม่?

แมรี่ บาร์รา ซีอีโอ GM กล่าวถึงแผนการเปลี่ยนมาขายรถยนต์ไฮบริดไปก่อนว่าเป็นแผนรองรับในช่วงที่สหรัฐฯ ยังต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จให้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สะท้อนความเป็นไปของตลาดสหรัฐฯ ที่ผู้บริโภคยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับ ‘ความกังวลเรื่องระยะทางที่วิ่งได้’ ของรถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้

 

สงครามราคาของ “Tesla” อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ

นอกจากปัจจัยเรื่องดีมานด์รถอีวีที่เริ่มชะลอตัวลง ยังมีอีกปัจจัยที่กระทบตลาดคือ การทำสงครามราคาของรถยนต์ Tesla

อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทรถ Tesla เริ่มทำสงครามราคาเมื่อปีก่อน โดยบริษัท Tesla สามารถทำได้เพราะปกติมีอัตรากำไรสูงอยู่แล้ว แต่บริษัทรถยนต์ที่อยู่มานานและเพิ่งมาปรับตัวผลิตรถอีวีไม่สามารถทำราคาแข่งขันได้ จึงต้องหาเส้นทางอื่นเพื่อแข่งในตลาดรถยนต์

โซลูชันในตลาดรถสหรัฐฯ ขณะนี้จึงเป็นการผลิตรถยนต์ไฮบริดแทน หลังจากดีมานด์รถยนต์ไฮบริดปรับขึ้นมาสูงกว่าซัพพลายที่มีจนราคาปรับสูงขึ้น ต่อจากนี้หากค่ายรถยนต์หันมาออกรถรุ่นไฮบริดมากขึ้น จึงน่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในการมีตัวเลือกหลากหลายและราคาที่แข่งขันกันมากขึ้นด้วย

Source