KDDI ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ซื้อหุ้นร้านสะดวกซื้อ Lawson สัดส่วน 50% มองว่าให้บริการลูกค้าเพิ่มมากขึ้นได้

ภาพจาก Unsplash
ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมอันดับ 2 ของญี่ปุ่นอย่าง KDDI ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้นของธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่าง Lawson โดยมองว่าสามารถให้บริการลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จากร้านสะดวกซื้อซึ่งบริษัทมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังรวมถึงการหารายได้จากธุรกิจใหม่ๆ เช่น การเงิน ประกันฯ ได้อีกด้วย

KDDI ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ประกาศเข้าซื้อหุ้น Lawson ยักษ์ใหญ่ร้านสะดวกซื้ออันดับ 3 ของญี่ปุ่น โดย KDDI ชี้ถึงการรุกเข้าหาลูกค้า เพื่อให้บริการต่างๆ ของบริษัท ขณะเดียวกันก็ยังทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมในญี่ปุ่นที่ดุเดือดจากผู้เล่นที่มากถึง 4 ราย

ก่อนหน้านี้ KDDI ถือหุ้น Lawson อยู่แล้วราวๆ 2.61% โดยเม็ดเงินที่ KDDI ใช้ซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มเติมคาดว่าจะอยู่ที่ 500,000 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย 120,257 ล้านบาท และหลังจากนี้คาดว่าจะมีการนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นญี่ปุ่น จะกลายเป็นว่าเจ้าของ Lawson จะมี Mitsubishi และ KDDI เป็นเจ้าของธุรกิจแทน

เหตุผลที่ KDDI มองว่าการเข้าซื้อหุ้น Lawson สร้างประโยชน์ให้กับบริษัทคือ

  • จะทำให้สามารถบริการให้กับลูกค้าของ KDDI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง au เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเบอร์ 2 ของญี่ปุ่นสะดวกมากขึ้น เนื่องจากสาขาของ au มีแค่ 2,200 สาขาเท่านั้น
  • ให้บริการธุรกิจ E-commerce ของ Lawson ได้ดีมากยิ่งขึ้น
  • ทำให้รายได้ของ KDDI เพิ่มมากขึ้น จากเดิมมีแค่รายได้จากธุรกิจโทรคมนาคมเป็นหลัก และบริษัทได้หันมาให้บริการด้านประกันภัยและบริการทางการเงินมากขึ้น
  • นอกจากนี้ KDDI ยังมีแผนที่จะ Transformation ให้กับร้านสะดวกซื้ออย่าง Lawson ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ไปจนถึงการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย ไม่เป็นโทษแก่สิ่งแวดล้อม

แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ KDDI มองว่าร้านสะดวกซื้อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งบริษัทมองว่าไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้เปลี่ยนแปลงไป และ Lawson ได้มีการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

KDDI ยังมองถึงการขยายสาขาเพิ่มเติมในญี่ปุ่นซึ่งมีสาขามากถึง 14,600 สาขา และยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมเบอร์ 2 ของญี่ปุ่นยังมองเห็นการเข้าถึงในธุรกิจอื่นของบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงิน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าของทั้ง 2 บริษัท หลังจากการทำธุรกรรมแล้วเสร็จ

ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นเองนั้นได้ต่อสู้กันทั้งในญี่ปุ่น หรือแม้แต่นอกญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอบริการใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการขยายสาขา โดยปัจจุบันคู่แข่งรายใหญ่ของ Lawson คือ Seven & i Holdings เจ้าของ 7-Eleven ที่ตั้งเป้าขยายสาขาในทวีปเอเชียเพิ่ม รวมถึง FamilyMart

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนักวิเคราะห์ยังมองว่าหลังจากนี้บริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะควบรวมกิจการกันมากขึ้นหลังจากดีลดังกล่าวนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับนักลงทุนไม่น้อย

ที่มา – KDDI, Kyodo News, The Register, CNBC