ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมเวทีสัมมนา “พลิกเศรษฐกิจไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน” ชี้ 3 แนวทางลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยการลดต้นทุนแฝงระบบเศรษฐกิจ หนุน SME เข้าสู่ธุรกิจในระบบ และแก้หนี้นอกระบบ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบอย่างยั่งยืน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย บนเวที ibusiness Forum 2024 “RESHAPING THAILAND FOR A SUSTAINABLE FUTURE พลิกเศรษฐกิจไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน” ในฐานะผู้บริหารองค์กรที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ
นายผยง ศรีวณิช กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ ทำให้มีปัญหาในหลายด้าน ทั้ง รายได้ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำ มีปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง การกำกับดูแลและธรรมาภิบาลต่ำ มีผลิตภาพอยู่ในระดับต่ำ มีความยืดหยุ่นและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบเล็กกว่า และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ช้ากว่า โดยภาพสะท้อนความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบของไทย คือ
1.ประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบคิดเป็นสัดส่วนถึง 48.4% ของ GDP มากเป็นอันดับ 14 ของโลก จาก 158 ประเทศที่มีฐานข้อมูลของ World bank โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 32.7% และสูงกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย
2.มีผู้ที่อยู่ในฐานระบบภาษีน้อย จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 10-11 ล้านคน และมีผู้ที่มีภาระภาษีต้องจ่ายแค่ราว 4 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ภาครัฐมีฐานรายได้ที่แคบ และไม่เพียงพอต่อการรองรับรายจ่ายสวัสดิการที่จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย
3.แรงงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า มีแรงงานนอกระบบอยู่ราว 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 51% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ มีความเปราะบางจากการขาดความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคม
4.หนี้นอกระบบอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 90.7% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 76% เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึง 3.97 ล้านล้านบาท จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งแปลว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจสูงถึง 110% นอกจากนี้ ยังขาดแคลนตัวเลขมูลค่าหนี้นอกระบบที่เชื่อถือได้และสอดคล้องกัน เพราะหากดูตัวเลขที่สภาพัฒน์ฯ เปิดเผย จะพบว่าหนี้นอกระบบอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท ซึ่งต่างกันมากกับตัวเลขผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
5.ความเหลื่อมล้ำสูง โดยข้อมูลจาก World Bank ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งสูง โดยคนไทยที่มีรายได้สูงสุด 10% แรก คิดเป็นสัดส่วน 48.8% ขณะที่คนไทยที่มีความมั่งคั่ง สูงสุด 10% แรกคิดเป็นสัดส่วน 74.2% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน
6.มีธุรกิจนอกระบบจำนวนมาก ปัจจุบันมีจํานวน SME อยู่ราว 3.2 ล้านราย แต่เป็นนิติบุคคลเพียง 8.4 แสนราย หรือคิดเป็น 26% หมายความว่า มี SME จำนวนมากถึงเกือบ 2.4 ล้านราย หรือ 74% ที่ไม่มีข้อมูลงบการเงินในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้อาจไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ หรือเผชิญต้นทุนที่สูง จากการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อไปดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ 3 เรื่องคือ
1.ลดต้นทุนแฝงจากเศรษฐกิจนอกระบบ ผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยข้อมูล เป็น Data Driven Economy และต้องเปิดกว้าง โปร่งใส นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะต้องมีการ design platform ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ที่กระจัดกระจายอยู่หลายกระทรวง เพื่อให้ประเทศมีเครื่องมือกำหนดเป้าหมายของนโยบายได้ตรงจุด ประเมินผลนโยบายต่างๆ ของรัฐได้อย่างแม่นยำ มีตัวอย่างให้เห็นในประเทศชิลี ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ
2.เร่งส่งเสริม SME เข้าสู่ธุรกิจในระบบ โดยมี Incentive ที่เหมาะสม เช่น การเข้าสู่ระบบหรือการเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจะสามารถเข้าร่วมโครงการภาครัฐต่างๆ ได้ เป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงสินเชื่อ บนต้นทุนที่เหมาะสม รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ก้าวทันกระแสโลก และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งไทยมี Gap ที่ต้องเร่งพัฒนาอยู่หลายด้าน ทั้งด้าน Sustainability ด้าน Resilience และด้าน Inclusiveness ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเร่งพัฒนาในด้านเหล่านี้อย่างมาก เช่น การยกระดับกฎหมาย เปิดทางให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการยกระดับแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมกับ SME ทั้งในเรื่องของ Credit Term หรือการรับรองสินค้า เพื่อให้ SME มีอำนาจต่อรองอย่างเป็นธรรมกับรายใหญ่มากขึ้น
3.แก้หนี้นอกระบบ ภาครัฐต้องเร่งเครื่องในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะหนี้นอกระบบ หลังผลสำรวจพบว่าครัวเรือนมีโอกาสที่จะพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย จากผลสำรวจล่าสุดของ ธปท. สะท้อนว่า ยังมีครัวเรือน 27% ที่เข้าไม่ถึงผู้ให้บริการสินเชื่อในระบบ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ ลูกจ้างเอกชนและลูกจ้างรัฐบาลที่มีรายได้น้อย ทำให้บางส่วนต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ โดยการแก้หนี้นอกระบบต้องทำควบคู่กับการยกระดับรายได้เพราะพบว่า การเป็นหนี้มีสาเหตุสำคัญจากการมีรายได้ไม่พอรายจ่าย พร้อมปฏิรูปข้อมูลหนี้ทั้งในและนอกระบบ สร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและเชื่อถือได้มากขึ้น
“การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ มีหลายเรื่องต้องทำ ซึ่งแต่ละส่วนก็กำลังเดินหน้า ภาครัฐคงจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้ ทางบีโอไอ ก็ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามา แต่สิ่งที่อยากให้น้ำหนักมากที่สุด คือ เรื่องของ Speed ที่จะต้องทำให้ทันการเปลี่ยนผ่านให้ได้ และทันคนอื่น โดยอยากจะเร่งเศรษฐกิจทั้งหมดเข้าสู่ระบบ ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐจะต้องกล้าดึงทั้งหมดเข้าสู่ระบบ เพื่อจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงจุด เพราะเมื่อทุกอย่างเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะในยุค Digital Economy จะเกิดเป็นซัพพลายเชน ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมมากขึ้น”
Related