การปฏิวัติอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อมในโลกใบนี้ซึ่งเป็นบ้านเพียงหลังเดียวที่เรามี ผลกระทบจากความเจริญทางวัตถุ เช่น มลภาวะ ปัญหาขยะ และทรัพยากรที่มีแต่จะร่อยหรอลง เป็นสิ่งที่จะเพิกเฉยไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นเสียงเรียกร้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วโลกที่ต้องการให้ผู้ประกอบการธุรกิจมุ่งสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างจริงจังเพิ่มเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะอยู่กับแนวคิดเดิม ๆ ที่เน้นสร้างความเจริญเติบโตด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและสร้างขยะเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จบ
มูลนิธิ เอลเลน แมคอาร์เธอร์ ได้ให้คำนิยามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไว้ว่า เป็นระบบที่มีการนำผลิตภัณฑ์และวัสดุมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ เช่น การซ่อมบำรุง การปรับแต่งใหม่ การนำมาผลิตใหม่ การรีไซเคิล และการนำขยะไปผลิตปุ๋ย เป็นต้น แนวคิดนี้ทำให้คำว่า “ขยะ” ที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกต่างจ้องจะคว้าโอกาสทองที่มาพร้อมกับการมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่จะทำให้การหมุนเวียนเป็นจริงได้คือ ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับของวัสดุต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตมีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าและบริการที่ตนผลิตขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของสินค้า และช่วยชักจูงให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับแนวคิดแบบยั่งยืนมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้กรอบของเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ บทบาทของบริษัทต่าง ๆ สามารถอธิบายอย่างคร่าว ๆ ได้ด้วยอุปมาแบบญี่ปุ่นว่าด้วยอุตสาหกรรมแบบ “เส้นเลือดดำ” และ “เส้นเลือดแดง” เมื่อเปรียบกับร่างกายมนุษย์ อุตสาหกรรมแบบเส้นเลือดแดงมีบทบาทในการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิต เช่น ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ค้าวัตถุดิบ ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมเส้นเลือดดำ อย่างเช่น ธุรกิจรถยนต์มือสองและโรงงานรีไซเคิล ทำหน้าที่ในการจัดการกับขยะหรือสิ่งเหลือใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของที่อาจกลายเป็นของเสียจากการบริโภค ดังนั้น ทั้งเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงต้องทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องลงตัวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียน และสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของส่วนประกอบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่วิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสัมฤทธิ์ผลขึ้นมาได้ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะพฤติกรรมในการแยกขยะและทิ้งขยะอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคยังช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและการอุปโภคบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เบาบางลงได้
พันธะสัญญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ทวีความแข็งแกร่งขึ้นถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทไม่สามารถปรับตัวและสร้างขีดความสามารถเพื่อตอบรับกับกติกาและกฎหมายใหม่ ๆ อาจทำให้เสียตลาดใหญ่อย่างเช่นสหภาพยุโรปไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นบริษัทต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต้องวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนในสองด้านหลัก ประกอบด้วยความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ และการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคแบบใหม่ นอกจากจะเป็นการเตรียมพร้อมรับกฎระเบียบใหม่ที่จะมาถึงแล้ว ยังเป็นการวางตำแหน่งให้บริษัทเกิดความได้เปรียบในยุคเทคโนโลยีสีเขียวที่มีการแข่งขันกันทั่วโลก
วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการเตรียมพร้อมรับเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการมองภาพกว้างว่ามีความต้องการข้อมูลอย่างไรบ้าง โดยการพิจารณาข้อบังคับเกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็นต่อการสร้างความหมุนเวียนรวมทั้งความต้องการทางธุรกิจที่จะตามมา การหาข้อมูลดังกล่าวทำได้โดยการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทำความเข้าใจกฎระเบียบ โดยเฉพาะข้อบังคับด้านการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ และการสื่อสารเรื่องการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทในการแข่งขันให้สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการใช้ข้อมูลจากห่วงโซ่อุปทานทั้งชุดเพื่อนำมาพิจารณาควบคู่กับผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงกรอบเวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ซึ่งในกระบวน การทั้งหมดนี้การจัดการข้อมูลอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอถือเป็นกุญแจสำคัญ
การใช้ข้อมูลเกี่ยวกับความหมุนเวียนให้ได้ผลดีนั้นต้องพิจารณาในหลายมิติ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมความต้องการ การสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน การประกันความโปร่งใสและความถูกต้องของข้อมูล เพื่อเพิ่มกระบวนการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลผ่านระบบอัตโนมัติ โดยกระบวนการดังกล่าวข้างต้นยังสามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ได้อีก เริ่มตั้งแต่การพิจารณาข้อบังคับและความต้องการด้านข้อมูลอย่างละเอียด จากนั้นจึงมีการเก็บข้อมูลและอาจมีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน ข้อมูลที่ใช้อาจได้มาจากบริษัทลูก
ต่าง ๆ ของบริษัท หรือสาขาในแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องมีข้อควรระวังให้ตรวจสอบข้อมูลที่เก็บมาได้ว่าตรงกับความเป็นจริงในหน้างานในแต่ละแห่งหรือไม่
นอกจากการสร้างข้อบ่งชี้และการเก็บข้อมูลแล้ว การรักษาฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการดูแลให้ข้อมูลจากแต่ละแหล่งในห่วงโซ่อุปทานสามารถนำมาใช้ด้วยกันได้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลระหว่างองค์กร ดังนั้นการสร้างแพลตฟอร์มจะช่วยให้สามารถใช้ข้อมูลในขั้นสูงได้ ซึ่งรวมถึง การสร้างกระบวนการทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การสร้างคู่มือการปฏิบัติงาน การเสาะหาผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และการบริหารทรัพยากรบุคคล นอกจากนี้ ทุกองค์กรยังจำเป็นจะต้องดูแลฐานข้อมูลของตนให้พร้อมใช้อยู่เสมอเพื่อเตรียมตัวตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น ความต้องการของผู้บริโภค โอกาสและอุปสรรคใหม่ ๆ เป็นต้น
ความพยายามร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นโอกาสที่น่าตื่นเต้นสำหรับการพัฒนาเชิงบวกต่อ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มแรก องค์กรหลายแห่งย่อมต้องก้าวผ่านอุปสรรคและความท้าทายในการสร้างขีดความสามารถของตนเพื่อให้ได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้อย่างเต็มที่ เอบีม คอนซัลติ้ง มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างยาวนานในด้านการสร้างระบบ เทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้ข้อมูล ทำให้เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ในการก้าวสู่โลกในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป