ย้อนไปปี 2021 บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาภัยแล้งในไต้หวัน มาปี 2024 ที่อุตสาหกรรมได้กลับสู่ภาวะปกติ กำลังเจอปัญหาเก่า คือ ขาดแคลนน้ำในการผลิต ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาชิปในอนาคต
Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC บริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่สุดของโลกได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทกำลังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการ ขาดแคลนน้ำ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตชิปเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเยอะมาก เนื่องจากต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลเพื่อทำให้เครื่องจักรเย็นลง และรับประกันว่าแผ่นเวเฟอร์ปราศจากฝุ่น
“มีเส้นแบ่งโดยตรงระหว่างการใช้น้ำและความซับซ้อนของชิป เนื่องจากโรงงานใช้น้ำบริสุทธิ์พิเศษ ซึ่งเป็นน้ำจืดที่ผ่านการแปรรูปให้มีความบริสุทธิ์สูงมาก เพื่อล้างเวเฟอร์ระหว่างแต่ละกระบวนการ ยิ่งเซมิคอนดักเตอร์มีความก้าวหน้ามากขึ้น ขั้นตอนกระบวนการก็จะยิ่งใช้น้ำมากขึ้น” Hins Li นักวิเคราะห์เครดิตของ S&P Global Ratings กล่าว
ตามข้อมูลของ S&P พบว่า ผู้ผลิตชิปทั่วโลกใช้น้ำมากพอ ๆ กับปริมาณการใช้น้ำของฮ่องกง ที่มีประชากร 7.5 ล้านคน โดยปริมาณการใช้น้ำของ TSMC เพิ่มขึ้นมากกว่า 35% หลังจากที่ได้ก้าวไปสู่การผลิตชิปขนาด 16 นาโนเมตร นับตั้งแต่ปี 2558 และรายงานระบุว่า ปริมาณการใช้น้ำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หลักในแต่ละปี โดยได้แรงหนุนจากการขยายกำลังการผลิตและความต้องการของเทคโนโลยีกระบวนการที่ก้าวหน้า
ทั้งนี้ S&P คาดว่า การหยุดชะงักของขั้นตอนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีทั่วโลกเนื่องจาก TSMC ครองส่วนแบ่งตลาดของชิปขั้นสูงประมาณ 90% ของโลกที่ใช้สำหรับแอปพลิเคชัน AI และควอนตัมคอมพิวเตอร์
“ความมั่นคงทางน้ำจะเป็นปัจจัยสำคัญมากขึ้นต่อสถานะเครดิตของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไม่ถูกต้องอาจขัดขวางการดำเนินงานของบริษัท ส่งผลเสียต่อผลการดำเนินงานทางการเงิน และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับลูกค้า”
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มอัตราสภาพอากาศที่รุนแรง ความถี่ของความแห้งแล้ง และความผันผวนของปริมาณน้ำฝน กำลังจำกัดความสามารถของผู้ผลิตชิปในการจัดการเสถียรภาพของการผลิต