ยูโอบีประกาศผลกำไรสุทธิ[1] ปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 6.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์

กลุ่มธนาคารยูโอบีประกาศผลกำไรสุทธิสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 6.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 หากรวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่เกิดจากการซื้อกิจการธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 5.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

คณะกรรมการจึงเสนอจ่ายเงินปันผลที่ 85 เซ็นต์ต่อหุ้นสามัญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาล 85 เซ็นต์ต่อหุ้นสามัญ เงินปันผลทั้งหมดสำหรับปี 2566 คิดเป็น 1.70 เหรียญสิงคโปร์ต่อหุ้นสามัญ หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50

ในปี 2566 ผลกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารยูโอบีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และก้าวข้าม 6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก แตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 6.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่งและแฟรนไชส์ลูกค้าที่ขยายตัว รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 อยู่ที่ 9.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ จากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แข็งแกร่งที่ 23 จุดและการเติบโตของสินเชื่อที่ร้อยละ 2 ในสกุลเงินคงที่ รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิโตขึ้นร้อยละ 4 อยู่ที่ 2.2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตและการบริหารความมั่งคั่งที่สูงขึ้น แม้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อจะลดลงก็ตาม คุณภาพของสินทรัพย์ยังคงที่ โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่ร้อยละ 1.5

รายได้จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Wholesale banking) ของกลุ่มธนาคารยูโอบีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 อยู่ที่ 7.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ จากการให้บริการด้านธุรกรรมของธนาคาร (Transaction banking) ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเกินกว่าครึ่งของรายได้จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ รายได้ข้ามพรมแดนก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ที่ร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปริมาณรายได้ในปี 2565

รายได้ของกลุ่มลูกค้ารายย่อยดีดตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 อยู่ที่ 5.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ จากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตพุ่งขึ้นร้อยละ 66 แตะจุดสูงสุดใหม่ที่ 382 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและการขยายแฟรนไชส์ในภูมิภาค แม้นักลงทุนยังคงมีทัศนคติการลงทุนที่ระมัดระวัง แต่รายได้จากการบริหารจัดการความมั่งคั่งกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากส่วนแบ่งการตลาดการขายประกันชีวิตผ่านธนาคารพาณิชย์ที่กำลังขยายตัวและอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์กองทุนรวมตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้น แม้ตลาดจะยังคงผันผวน แต่เงินไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนใหม่จำนวน 2.2 หมื่นล้านเหรียญสิงคโปร์ส่งผลให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการจากลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งขยายตัวขึ้นอยู่ที่ 1.76 แสนล้านเหรียญสิงคโปร์ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 กลุ่มธนาคารยูโอบีมีลูกค้ารายย่อยกว่า 8 ล้านราย ในจำนวนนี้ ประมาณ 1 ล้านรายเป็นลูกค้าใหม่ที่ธนาคารได้รับมาเอง และมากกว่าครึ่งของลูกค้ากลุ่มนี้สมัครใช้บริการผ่านระบบออนไลน์

กลุ่มธนาคารยูโอบียังคงมุ่งมั่นเดินหน้าวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2566 โดยในเดือนตุลาคม ธนาคารได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระ 3 ท่าน เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการและผู้บริหารในด้านยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และโครงการริเริ่มด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูโอบี พอร์ตโฟลิโอด้านการเข้าถึงเงินทุนอย่างยั่งยืนของกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นแตะ 4.45 หมื่นล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2566 นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารยูโอบีจะมุ่งมั่นเดินหน้าร่วมมือกับลูกค้าในการให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ

การจ่ายเงินโบนัสครั้งเดียวแก่พนักงานระดับเริ่มต้น

ตามคำแนะนำล่าสุดของสภาค่าจ้างแห่งชาติสิงคโปร์เพื่อช่วยให้พนักงานรับมือค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ยูโอบีจึงจะจ่ายเงินพิเศษเพิ่มให้อีกหนึ่งเดือนแบบจ่ายครั้งเดียวแก่พนักงานระดับเริ่มต้น จำนวน 6,000 คนทั่วทั้งกลุ่มธนาคาร เพื่อช่วยให้พวกเขารับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น กลุ่มธนาคารยูโอบีมุ่งมั่นให้โครงสร้างค่าแรงของพนักงานยุติธรรมและแข่งขันได้ พร้อมเสริมด้วยสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลขั้นสูง โครงการฝึกอบรม และอีกมากมาย

สารจากกรรมการผู้จัดการใหญ่

นาย วี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า “กลุ่มธนาคารยูโอบีประกาศผลกำไรสุทธิปีนี้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ผ่าน แฟรนไชส์ธุรกิจแบบกระจายความเสี่ยง ตลอดจนการเสริมงบดุลให้มีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ เรายังคงดำรงสภาพคล่องและฐานะเงินทุนให้เพียงพอด้วยความระมัดระวัง ตลอดจนลงทุนเพื่อการเติบโตที่มีคุณภาพและยืดหยุ่น

“แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกในระยะเวลาอันใกล้นี้ยังคงไม่แน่นอน ทว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่สดใส เรามองเห็นแนวโน้มเชิงบวกเกี่ยวกับศักยภาพของอาเซียน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการในภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่ดี และการไหลของเงินทุนที่แข็งแกร่งสู่ภาคการผลิต ในขณะที่บริษัทต่างพากันปรับห่วงโซ่อุปทานของตนเอง แฟรนไชส์ที่แข็งแกร่งของเราทั่วภูมิภาคอาเซียนอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการคว้าโอกาสในภูมิภาคเอาไว้

“การซื้อกิจการซิตี้กรุ๊ปเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เราประสบความสำเร็จในการผสานรวมพอร์ตโฟลิโอของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนแผนงานในประเทศไทยและเวียดนามจะตามมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ด้วยตำแหน่งในตลาดที่มั่นคงและแฟรนไชส์ในภูมิภาคที่ขยายใหญ่ขึ้น ธนาคารยูโอบีจะมุ่งมั่นยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการรวมถึงขีดความสามารถของเราเพื่อให้บริการฐานลูกค้าที่ขยายใหญ่ขึ้น”

ผลการดำเนินงานทางการเงิน

  2023

S$’m

2022

S$’m

YoY

+/(-)%

4Q23

S$’m

3Q23

S$’m

QoQ

+/(-)%

4Q22

S$’m

YoY

+/(-)%

รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ 9,679 8,343 16 2,404 2,429 (1) 2,560 (6)
รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ 2,235 2,143 4 569 591 (4) 485 17
รายได้อื่นๆ 2,018 1,089 85 438 436 0 285 54
รวมรายได้ 13,932 11,575 20 3,410 3,457 (1) 3,330 2
หัก: รวมค่าใช้จ่าย 5,778 5,016 15 1,473 1,416 4 1,418 4
กำไรจากการดำเนินงาน 8,154 6,559 24 1,937 2,041 (5) 1,912 1
หัก: ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน 24 3 >100 7 7 (0) 3 >100
      เงินกันสำรองสำหรับสินเชื่อและ

ผลขาดทุนอื่น

921 603 53 152 235 (36) 184 (18)
บวก:บริษัทร่วมและกิจการร่วมค้า 93 97 (5) 22 20 11 28 (22)
กำไรสุทธิ 6,060 4,819 26 1,498 1,479 1 1,398 7
หัก: ค่าใช้จ่ายครั้งเดียว                
จากการซื้อกิจการซิตี้แบงก์ (สุทธิหลังภาษี) 350 70 >100 94 97 (2) 70 35
ค่าอากรแสตมป์ 176 NM 176 NM
กำไรสุทธิ (รวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียว) 5,711 4,573 25 1,403 1,382 2 1,152 22

 

ปี 2566 เปรียบเทียบกับปี 2565

กำไรสุทธิปี 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากปีก่อนหน้า แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ จากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่แข็งแกร่งและรายได้จากการค้าและการลงทุน หากรวมค่าใช้ครั้งเดียวกำไรสุทธิจะอยู่ที่ 5.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์

รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 16 อยู่ที่ 9.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิดีดตัวขึ้น 23 จุด อยู่ที่ร้อยละ 2.09 จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและสินเชื่อที่โตขึ้นร้อยละ 2 ในสกุลเงินคงที่

รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ 2.2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ดีดตัวสูงขึ้นร้อยละ 66 แตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 382 ล้านเหรียญสิงคโปร์  โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของแฟรนไชส์ในภูมิภาค รวมถึงค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการความมั่งคั่งที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ถูกปรับลดลงจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่ลดลงท่ามกลางสภาวะที่บริษัทต่างพากันดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง

เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอื่นปรับตัวเพิ่มเท่าตัวอยู่ที่ 2.0 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เนื่องจากรายได้จากการบริหารตลาดเงินที่เกี่ยวกับลูกค้าที่สูงเป็นประวัติการณ์และผลประกอบการธุรกิจการค้าและบริหารจัดการสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 อยู่ที่  5.8 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ที่ยังคงต่ำกว่าการเติบโตของรายได้และอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้น 1.8 จุดอยู่ที่ร้อยละ 41.5

เงินกันสำรองรวมอยู่ที่ 921 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เนื่องจากเงินกันสำรองเฉพาะรายที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับบัญชีที่ไม่เป็นระบบ (non-systematic account) ของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่บางบัญชี รวมถึงเงินกันสำรองทั่วไปเชิงรุกที่ตั้งขึ้นระหว่างปี

ไตรมาส 4 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566

กำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 4 ปรับขึ้นร้อยละ 1 อยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ หากรวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการซื้อกิจการ กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์

รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิคงที่ที่ 2.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 2.02 ส่วนใหญ่เนื่องจากส่วนต่างสินเชื่อที่ลดลงจากการแข่งขันสำหรับสินเชื่อคุณภาพสูง รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิปรับลดมาอยู่ที่ 569 ล้านเหรียญสิงคโปร์ จากการที่ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อปรับตัวสู่สภาวะปกติเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมที่สูงในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตยังคงมีโมเมนตัมที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องจากการขึ้นไปแตะระดับสูงสุดใหม่ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายบัตรเครดิตในช่วงเทศกาล ในขณะที่ค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการความมั่งคั่งฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอื่นแทบไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 438 ล้านเหรียญสิงคโปร์

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 อยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ในขณะที่อัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ร้อยละ 43.2 เงินกันสำรองรวมปรับตัวลดลงอยู่ที่ 152 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากเงินกันสำรองเฉพาะรายที่ลดลงและการลดลงของเงินสำรองทั่วไปเชิงรุก

ไตรมาส 4 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565

รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลงร้อยละ 6 จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากแฟรนไชส์ที่ขยายขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการความมั่งคั่ง รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอื่นดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 438 ล้านเหรียญสิงคโปร์จากรายได้จากการบริหารตลาดเงินที่เกี่ยวกับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและผลประกอบการธุรกิจการค้าและบริหารจัดการสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

อัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 43.2 หากไม่รวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียว เงินกันสำรองรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 18 ส่วนใหญ่จากเงินกันสำรองเฉพาะรายที่ลดลง

คุณภาพของสินทรัพย์

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 คุณภาพของสินทรัพย์ยังคงมีเสถียรภาพ โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ร้อยละ 1.5  การเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังน้อยกว่าหนี้เสียรับคืนและการตัดจำหน่ายลูกหนี้ อัตราส่วนเงินกันสำรองของทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 101 หรือร้อยละ 209 หากนับรวมหลักประกัน ส่วนเงินกันสำรองรวมสำหรับสินเชื่อที่ยังไม่ด้อยคุณภาพยังคงอยู่ที่ร้อยละ 0.9

เงินทุน ฐานะเงินทุน และสภาพคล่อง

ฐานะเงินทุนของกลุ่มธนาคารยูโอบีแข็งแกร่งขึ้น โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 13.4 สำหรับไตรมาสนี้ ธนาคารยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอ โดยอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (LCR) ในทุกสกุลเงินเฉลี่ยที่ร้อยละ 158 ในขณะที่อัตราส่วนการจัดหาเงินทุนสุทธิ (NSFR) อยู่ที่ร้อยละ 120 สูงกว่าเกณฑ์กำหนดขั้นต่ำ ส่วนอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝาก (LDR) ยังคงแข็งแกร่งที่ร้อยละ 82.2


[1] กำไรหลักสุทธิไม่รวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่เกิดจากการซื้อกิจการธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซีย ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย