Google จับมือดีอี ร่วมปกป้องคนไทยจากกลโกงออนไลน์ ด้วยฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ และแคมเปญเสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัล

  • ฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ ช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์ Android จากการหลอกลวงและกลโกงทางการเงินด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก
  • แคมเปญ Pause Check Protect มุ่งส่งเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับคนไทยด้วยการแนะนำเคล็ดลับต่างๆ ผ่านคอนเทนต์ที่เข้าใจง่าย และสามารถส่งต่อกันได้
  • งาน Safer Songkran ที่สามย่านมิตรทาวน์ อัดแน่นด้วยกิจกรรมที่มุ่งเสริมสร้างทักษะดิจิทัลและนำเสนอเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยให้ Gen Z และทุกคนปลอดภัยบนโลกออนไลน์ โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานฟรีตั้งแต่วันนี้ – 6 เมษายน ศกนี้

Google ประเทศไทย จัดกิจกรรม Safer Songkran ภายใต้โครงการ Safer with Google ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พร้อมประกาศความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับคนไทยผ่านฟีเจอร์และแคมเปญใหม่ ได้แก่

  • ฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ เพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้ Android จากการหลอกลวงและกลโกงทางการเงิน
  • แคมเปญ Pause Check Protect ที่จะชวนคนไทยตั้งสติ ตรวจสอบ ป้องกัน ด้วยการนำเสนอเคล็ดลับต่างๆ ผ่านคอนเทนต์ที่เข้าใจง่าย และสามารถส่งต่อกันได้ เพื่อให้คนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของกลโกงออนไลน์

Google มุ่งมั่นช่วยให้คนไทยปลอดภัยบนโลกออนไลน์ โดยฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect จะช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์ Android จากกลลวงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก โดยจะเริ่มนำร่องการใช้งานตั้งแต่วันนี้ และจะทยอยเปิดให้บริการแก่ผู้ใช้ในประเทศไทยในลำดับต่อไป โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก (ต่อจากสิงคโปร์) ที่ Google ได้นำร่องฟีเจอร์นี้ ถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ขึ้นไปอีกขั้นนอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยในตัวแบบหลายชั้นที่มีอยู่แล้วทั้งบน Android และ Google Play ซึ่งรวมถึงการป้องกันสแปมใน Google Messages, Google Safe Browsing ใน Chrome และ Google Play Protect ที่ตอนนี้มีการสแกนแอปแบบเรียลไทม์เพิ่มเข้ามาด้วย

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีคดีหลอกลวงและกลโกงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้คนจะตระหนักถึงกลโกงทางออนไลน์กันมากขึ้น แต่กลับพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งๆ ที่มีความมั่นใจว่าตนเองนั้นสามารถมองกลโกงออกและหลีกเลี่ยงได้

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า “ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพมักมีวิธีใหม่ๆ เพื่อหลอกลวงให้คนไทยจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของกลลวงออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้คนไทยสูญเสียเงินทองและข้อมูลที่สำคัญ ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ จึงได้ร่วมมือกับ Google บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เพื่อเสริมสร้างแนวทางการป้องกันกลลวงออนไลน์และรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของคนไทยบนสมาร์ทโฟนระบบ Android ด้วยฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ ที่จะช่วยบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักโดยอัตโนมัติ ผมมั่นใจว่าการร่วมมือกับ Google ในครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง รวมทั้ง ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของ Google และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนไทยและขับเคลื่อนสังคมไทยสู่อนาคตดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืน”

Mohet Saxena ผู้อำนวยการฝ่ายความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยสำหรับ Play Store, Android และ Chrome Web Store ของ Google กล่าวว่า “เนื่องจากการหลอกหลวงผ่านทางมือถือในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจึงเดินหน้าคิดหาวิธีที่จะช่วยให้คนไทยมีความปลอดภัยบนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพของ Google Play Protect จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยอีกขั้นให้แก่ผู้ใช้อุปกรณ์ Android เพื่อต่อต้านมิจฉาชีพและกลโกงที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการรับมือกับปัญหานี้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่คนไทยทั้งประเทศกำลังประสบอยู่ เราจะคอยติดตามผลการทำงานของฟีเจอร์นี้อย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อประเมินผลกระทบและทำการปรับปรุงที่จำเป็นต่อไป”

Google ประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่นี้ที่ป็อปอัพอีเวนต์ Safer Songkran โดยภายในงานอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้และนำเสนอเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้แก่คนไทย โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมและร่วมกิจกรรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 3-6 เมษายน ศกนี้ ณ สามย่านมิตรทาวน์

แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ Google ได้เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย เราได้มุ่งมั่นกับการลดช่องว่างดิจิทัลและการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนไทยทุกคนภายใต้พันธกิจ Leave No Thai Behind มาโดยตลอด ในปัจจุบันที่ผู้คนพึ่งพาอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อความบันเทิง การตระหนักถึงภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การหลอกลวงทางออนไลน์ รวมถึงการรับมือกับผู้ไม่ประสงค์ดี การเตรียมพร้อม รู้เท่าทัน และมีข้อมูลที่จำเป็นในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างฉลาดและรอบคอบจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคย เราหวังว่า Safer Songkran จะช่วยสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์และสนับสนุนให้คนไทยหลากหลายช่วงวัยใช้ช่วงเวลาสงกรานต์ในการส่งมอบความห่วงใยและส่งเสริมความปลอดภัยทางดิจิทัลให้กับตัวเองและครอบครัว”

ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์

นอกเหนือจากการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์แล้ว Google ยังได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความรู้และส่งเสริมความตระหนักด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อช่วยให้คนไทยทุกคนมีข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ ในปีนี้ Google ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการจัดทำคอนเทนต์เพื่อให้ความรู้ แบ่งปันเคล็ดลับดีๆ และแนะนำเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในการรับมือกับการหลอกลวงทางออนไลน์ประเภทต่างๆ ที่พบบ่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Pause Check Protect ที่จะชวนคนไทยตั้งสติ ตรวจสอบ ป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์

ความพยายามอย่างต่อเนื่องเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในพันธกิจ Leave No Thai Behind ของ Google ที่ต้องการส่งเสริมศักยภาพของคนไทยด้วยการให้ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาสามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย Google มุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ส่งเสริมนวัตกรรมและความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความเป็นส่วนตัว มีความปลอดภัยโดยค่าเริ่มต้น และให้ผู้ใช้ควบคุมประสบการณ์การใช้งานด้วยตนเอง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ Google รักษาความปลอดภัยให้กับผู้คนในทุกวันได้ที่ https://safety.google