‘มาเลเซีย’ กลายเป็นอีกหมุดหมายของ ‘โรงงานผลิตชิป’ หลังจีน-สหรัฐฯ ยังตึงใส่กัน

เพราะความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในด้าน เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ทำให้หลายบริษัทผู้ผลิตชิปในสหรัฐฯ เริ่มมองหาฐานการผลิตใหม่ ๆ นอกจากจีน และดูเหมือนว่า มาเลเซีย กำลังกลายเป็นอีกหมุดหมายของบริษัทผู้ผลิตชิปหลาย ๆ บริษัท ที่จะไปลงทุนตั้งโรงงาน

หลายคนอาจไม่รู้ว่า มาเลเซีย มีโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและมีประสบการณ์ราว 50 ปีในแบ็กเอนด์ของกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะ แรงงานที่มีทักษะการประกอบ การทดสอบ และบรรจุภัณฑ์ อีกทั้งยังลดต้นทุนการดำเนินงานเชิงเปรียบเทียบ ทำให้การส่งออกสามารถแข่งขันได้มากขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้มาเลเซียกำลังกลายเป็นจุดสำคัญสำหรับโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ต้องกระจายการดำเนินงาน

บริษัทชิปยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่าง อินเทล (Intel) ได้เคยออกมาประกาศในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ว่า บริษัทจะลงทุนมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์และทดสอบชิปในมาเลเซีย โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 นี้

โดยมาเลเซีย ถือเป็นโรงงานผลิตชิปในต่างประเทศแห่งแรกของอินเทล โดยเปิดตัวครั้งแรกเปิดตัวในปี 2515 ด้วยเงินลงทุน 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทเดินหน้าเพิ่มศูนย์ทดสอบเต็มรูปแบบ รวมถึงศูนย์การพัฒนาและการออกแบบในมาเลเซีย

“การตัดสินใจลงทุนในมาเลเซียมีรากฐานมาจากกลุ่มผู้มีความสามารถที่หลากหลาย โครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง และซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง” Aik Kean Chong กรรมการผู้จัดการของ Intel Malaysia กล่าว

นอกจากนี้ยังมี GlobalFoundries บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อีกรายที่จะเปิดโรงงานในเดือนกันยายน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการผลิตทั่วโลก ควบคู่ไปกับโรงงานในสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และยุโรป นอกเหนือจากบริษัทในสหรัฐฯ ก็มี Infineon ผู้ผลิตชิปชั้นนำของเยอรมนี ที่เตรียมสร้างโมดูลการผลิตเวเฟอร์แห่งที่ 3 ในประเทศ Newways ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักของผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปสัญชาติเนเธอร์แลนด์  ASML ก็เตรียมจะสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในมาเลเซียเช่นกัน

“เนื่องจากนโยบายที่มีความคิดก้าวหน้าและการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาล ร่วมกับพันธมิตรอย่าง InvestPenang ได้สร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมที่จะเจริญเติบโต” Tan Yew Kong รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปของ GlobalFoundries Singapore กล่าว

นอกจากนี้ มาเลเซียถือหุ้น 13% ของตลาดโลกสำหรับบริการบรรจุภัณฑ์ชิป การประกอบ และการทดสอบ โดยหน่วยงานพัฒนาการลงทุนของมาเลเซีย ได้เปิดเผยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า การส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมเพิ่มขึ้น 0.03% เป็น 387.45 พันล้านริงกิตมาเลเซีย (81.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2566 แม้ว่าความต้องการชิปทั่วโลกที่อ่อนแอ

เพื่อพยายามขยายระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศและดึงดูดการลงทุน มาเลเซียจึงได้จัดตั้ง คณะทำงานเชิงกลยุทธ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับชาติ เมื่อเดือนมกราคม นอกจากนี้ ซาฟรุล อาซิซ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้เปิดเผยว่า มาเลเซียมีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นไปที่ ส่วนหน้า ของกระบวนการผลิตชิป จากเดิมที่มาเลเซียจะเชี่ยวชาญในส่วนแบ็กเอนด์ โดยกระบวนการส่วนหน้าเกี่ยวข้องกับการผลิตแผ่นเวเฟอร์

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียก็มีความท้าทายที่สำคัญก็คือ ภาวะสมองไหล เมื่อคนงานเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหางานทำที่ดีขึ้นและเงินเดือนที่สูงขึ้น โดยจากการศึกษาอย่างเป็นทางการที่ดำเนินการในปี 2565 เปิดเผยว่า คนงานชาวมาเลเซียที่มีทักษะหรือกึ่งทักษะ 3 ใน 4 คนย้ายไปทำงานในสิงคโปร์

Source