จากการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “Consumers Untold” ที่เปิดเผยในงาน GroupM FOCAL 2024 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2024 ที่จำเป็นต้องตื่นจากความฝัน หลังจากที่เริ่มมีหวังในปี 2023
คุณหลอกดาว! ผู้บริโภคพึ่งได้แค่ตัวเอง
จากปี 2023 หลายคนมองว่าเป็นปีแห่งความหวัง เพราะมีการเลือกตั้ง ภาพของการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้น ทำให้คนคิดว่าปีนี้เศรษฐกิจต้องดีกว่าเดิม แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างเป็นแค่ภาพลวงตาในปี 2024 เพราะผู้บริโภคมองว่า รัฐบาลใหม่พึ่งไม่ได้ ในส่วนของ นักท่องเที่ยวมาเยอะจริง แต่รายได้ไม่เพิ่ม สวนทางกับ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ ผู้บริโภคต้อง พึ่งพาตัวเอง ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด
“เขามองว่านักท่องเที่ยวมาเยอะจริง แต่เลือกไปแต่งานอีเวนต์ใหญ่ ๆ หรือจังหวัดใหญ่ ๆ ไม่ไปเมืองรอง และรัฐเขาก็พึ่งไม่ได้ ต้องหาเงินเองให้ได้มากที่สุด ต้องพึ่งพาตัวเอง เพราะเงินมีเท่าเดิม แต่ของแพงขึ้น”
รายได้ 2 ทางไม่พอ ต้อง 3-4-5 ทาง
ภาพที่สะท้อนให้เห็นคือ คนมองว่า รายได้ทางที่ 2 ไม่เพียงพอ การใช้จ่ายเน้น ความคุ้มค่าที่สุด ดังนั้น จะใช้จ่ายแต่ละครั้งจะมีการ เปรียบเทียบ ทั้งการเปรียบเทียบระหว่างแพลตฟอร์มออนไลน์ และสินค้าหน้าร้าน เพื่อให้คุ้มราคามากที่สุด
การใช้จ่ายที่ลดลง ก็ส่งผลกระทบกับร้านโชห่วยเล็ก ๆ ที่เริ่ม ไม่ไม่สต็อกของเยอะ เพราะขายได้น้อยลง และจะเริ่มเห็น โปรโมชั่นแปลก ๆ ตามพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าของร้าน เช่น การจับคู่สินค้าระหว่างขนมกับเครื่องดื่มชูกำลัง นอกจากนี้ ห้างท้องถิ่นจะรับบัตรประชารัฐมากขึ้น
บางชุมชนในต่างจังหวัด เริ่มหันมาผนึกกำลังกันเอง ทั้งขายของกันในชุมชน รวมถึงเริ่มทำกลุ่มออมทรัพย์ของตัวเอง ส่วนคนรุ่นใหม่เริ่มกลับบ้านเกิด ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชน
สายมูที่พึ่งยามยาก
แต่นอกจากพึ่งพาตัวเองแล้ว อีกสิ่งที่พอจะพึ่งพาก็คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ สายมู เพื่อช่วยให้ความสบายใจ โดยคนไทยสามารถมูได้หมดไม่มีขีดจำกัด เช่น วัด, ตำหนัก แม้แต่มูออนไลน์ มูเลขมงคล, สีมงคล และนอกจากจะใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ การมูยังกลายเป็น ความเอนเตอร์เทน ได้ด้วย
แน่นอนว่าคนมูก็เพื่ออยากรวย ดังนั้น ต่อให้ไม่มีเงินแค่ไหน ลอตเตอรี่ ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคซื้อ และเริ่มนิยมซื้อออนไลน์ เพราะว่าเลือกเลขที่ต้องการง่ายกว่า
คนไทยใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้น
การ เสิร์ช ไม่จำกัดแค่ใช้ Google อีกต่อไป แต่ผู้บริโภคเริ่มเก่งในการ ตั้งคำถาม นอกจากนี้มีการใช้ ChatGPT ในการหาข้อมูลเพราะช่วยสรุปมาให้แล้ว ในขณะที่ คอนเทนต์ เริ่มไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเอนเตอร์เทนเมนต์ ข่าว และสาระความรู้
“อย่างรายการโหนกระแส บางคนก็ดูเพื่อเสพข่าวสาร แต่บางคนดูเพื่อความบันเทิง”
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเครียดจากเศษฐกิจ คอนเทนต์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ยังคงเป็นคอนเทนต์ยอดนิยม โดยผู้บริโภคยัง นิยมดูคอนเทนต์ทีวี เพียงแต่ไม่ได้ดูผ่านทีวี แต่กระจายไปทุกแพลตฟอร์ม อาทิ YouTube, TikTok และ Netflix
“คอนเทนต์ที่ฉายทีวียังอยู่ แต่คนดูบนออนไลน์ แปลว่าคนยังตามคอนเทนต์อยู่ ดังนั้น ต้องวางแผนการตลาดให้ดี”
แพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทย
- ข่าวสาร : Facebook, TikTok, YouTube, X (Twitter)
- การสื่อสาร : LINE, Messenger, Instagram
- ความบันเทิง : TikTok, YouTube, Netflix, Pirate App
- การเงิน : Krungthai, SCB, KBank, True Wallet, MyMo
- ช้อปปิ้ง : Shopee, LAZADA, Facebook, Instagram, TikTok
- บริการเดลิเวอรี่ : Grab, LINE MAN, 7-Eleven
แบรนด์จะทำอย่างไรกับผู้บริโภคปี 2024
- เน้นการ ชนะใจ ไม่ใช่มุ่งไปที่ ยอดขาย มองการเติบโตอย่างยั่งยื่นไม่ใช่แค่เป้าระยะสั้น
- Consumer Journey ผู้บริโภคมีความซับซ้อนขึ้น อย่ายึดติดกับการตลาดตามตำราเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า
- Data & Tech เป็นของล้ำค่า ต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีและข้อมูล ถ้าทำไม่ได้ให้หาตัวช่วย
- ออฟไลน์ กับ ออนไลน์ แยกกันไม่ได้แล้ว เพราะทุกสื่อหลอมรวมกันหมดกัน
- แบรนด์ดิ้ง ยังมีความสำคัญเสมอ เพราะจะช่วยสร้างการจดจำและความสำเร็จในระยะยาว