ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร., ให้เร่งระดมปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.,พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.ฯ ปฏิบัติราชการ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาญากรรมทางเทคโนโลยี 3 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเปิดปฏิบัติการ “หักขาแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ”
สืบเนื่องจากประชาชนได้มีการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับข้อมูล sms ปลอม ซึ่งเป็นของกลุ่มคนร้ายเชื่อว่ามีการกระทำความผิดหลอกลวงประชาชน จึงได้ทำการสืบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเครือข่ายเอไอเอส ของขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ที่มีลักษณะส่งข้อความ (SMS) หลอกลวงประชาชน โดยนำอุปกรณ์เครื่องจำลองสถานี (False base station) ซึ่งเป็นเครื่องที่ไม่ใช่ของผู้ให้บริการโดยถูกต้อง จากการสืบสวนและประสานกับ ผู้ให้บริการเครือข่ายพบว่า เครื่องจำลองสถานีดังกล่าวได้มีการใช้งานอยู่ในพื้นที่บริเวณย่านศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งจากการสันนิษฐานเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมเชื่อว่ากลุ่มคนร้ายน่าจะมีการใช้เครื่องจำลองสถานีแบบพกพา
พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.คัมภีร์ พรหมสนธิ รอง ผบก.สอท.3 พร้อมด้วย พ.ต.อ.อดิชาต อมรประดิษฐ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 นำกำลังข้าราชการตำรวจบก.สอท.3 เปิดปฏิบัติการ “หักขาแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ” ลงพื้นที่หาข่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเครื่อข่ายเอไอเอส เพื่อทำการสืบสวนหาเครื่องจำลองสถานีดังกล่าวจนกระทั้งเมื่อ วันที่ 8 เม.ย.67 เวลา 18.00 น. พบชายต้องสงสัยจำนวน 2 คน ทราบภายหลังเป็นชาวฮ่องกง เดินอยู่ที่ห้างสยามพารากอน โดยชายคนหนึ่งนั้นสะพายกระเป๋าเป้เหมือนมีสิ่งของมีน้ำหนักอยู่ภายใน เชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องจำลองสถานีแบบพกพา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้ทำการเดินติดตาม จนพบบุคคลดังกล่าวท่าทางมีพิรุธต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้แสดงตัวขออนุญาตตรวจค้นสิ่งของที่อยู่ภายในกระเป๋าเป้ของชายคนดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบเครื่องจำลองสถานี (False base station) จำนวน 1 เครื่องเป็นเครื่องส่งข้อความ(SMS) ซึ่งเป็นในลักษณะของการจำลองเสา (False base station) ส่งสัญญาณปลอมของเครือข่ายเอไอเอส ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคมซึ่งจากการตรวจสอบเครื่องดังกล่าวไม่พบข้อมูลผ่านการตรวจสอบหรือได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด
จากการตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวนี้พบว่าเป็นการจำลองสถานีส่งสัญญาณคลื่นความถี่เดียวกับเครือข่ายเอไอเอส โดยทำหน้าที่ในการส่งข้อความ(SMS) ให้กับผู้คนที่อยู่ใกล้เครื่องดังกล่าวในรัศมีส่งไม่เกิน 1 กม. โดยมีการเชื่อมต่อไวไฟกับโทรศัพท์มือถือของกลุ่มผู้ต้องหา เพื่อส่งข้อความโดยปรากฎข้อความว่า “บริการคะแนน AIS แจ้งบัญชีคะแนนบัญชีปัจจุบันของคุณว่า (3,2022 คะแนนกำลังจะหมดอายุเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาแลกคะแนนของคุณทันที) :https://ais-th.buzz/mypoint” จากการซักถามข้อมูลทราบว่าผู้ต้องหาชาวฮ่องกงดังกล่าว ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มี.ค.67 โดยผ่านด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จว.สงขลา ให้เข้าอยู่ในประเทศไทย 30 วัน สิ้นสุดวันอนุญาต 28 เม.ย.67 พักอาศัยอยู่ที่โรงแรมไอสนุก 118 ซ.สองพระ แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยเมื่อวันที่ 8 เม.ย.67 เวลา 09.00 น. ได้ออกจากที่พักไปที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และห้างสยามพารากอน
จากปฏิบัติการดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการจับกุมผู้ต้องหา
๑. นายยิป อายุ 44 ปี สัญชาติ จีน
๒. นายลี อายุ 26 ปี สัญชาติ จีน
และได้ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินหลายรายการ
1.เครื่องจำลองสถานี(False base station) 1 เครื่อง
2.โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง
3.กระเป๋าสะพาย 1 ใบ
4.รถจักรยานยนต์ 1 คัน
โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกัน ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498, ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498, ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 67(3) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม” แล้วนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลไปถึงตัว ผู้จ้างวาน เครือข่ายของขบวนการนี้ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และให้การป้องกันปราบปรามขบวนการดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเด็ดขาด ตลอดจนฝากประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนหากได้รับข้อความ (SMS) ในลักษณะแนบลิงค์ดังกล่าวข้างต้นห้ามกดลิงค์โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้
ด้านนายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากกรณีปัญหามิจฉาชีพละเมิดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ได้สร้างความเดือดร้อน รำคาญ ไปจนถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคล มากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งปัจจุบันมิจฉาชีพ ได้พลิกแพลงรูปแบบการละเมิดเพิ่มเติมขึ้น อย่างการส่ง SMS จากเครือข่ายปลอมด้วยอุปกรณ์ผิดกฎหมายไปยังมือถือประชาชน ที่เรียกว่า False Base Station (FBS) หรือ Fake Base Station โดยใช้ชื่อผู้ส่ง (Sender name) ปลอมแปลงในนามขององค์กรต่างๆ อาทิ ธนาคาร, บริการประเภทต่างๆ เพื่อหลอกให้ประชาชนที่ได้รับข้อความหลงเชื่อว่าเป็น SMS จากหน่วยงานนั้นๆ จริง และล่อลวงให้กดลิงก์, แอดไลน์ หรือ รูปแบบอื่นๆ จนก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งทรัพย์สิน หรือ ข้อมูลส่วนบุคคล
ซึ่ง AIS ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติจากในระบบเครือข่าย และทีมวิศวกร ได้ร่วมทำงานกับฝ่ายความมั่นคงทุกฝ่ายอย่างเต็มกำลังมาอย่างต่อเนื่องในการเฝ้าดูและติดตามพฤติกรรมของมิจฉาชีพตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเทคโนโลยี Tracking & Monitoring จนสามารถคำนวณเส้นทางการเคลื่อนตัวอย่างละเอียดเพื่อค้นหาให้ถึงแหล่งกบดานของกลุ่มนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภารกิจการทลายแก๊งมิจฉาชีพกลุ่มนี้สำเร็จลงได้”
ด้วยความห่วงใย บริษัทฯ จึงขอแจ้งไปยังประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อ และให้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านการกดลิงก์, แอดไลน์ หรือ ตอบกลับ SMS รวมถึงงดให้ข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ เลขบัตรประชาชน, เลขบัตรเครดิต และ วันเดือนปีเกิด รวมทั้งรหัส OTP ในการทําธุรกรรมใดๆ แก่แหล่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ และหากเป็นลูกค้า AIS หากพบกรณีผิดปกติ สามารถโทรแจ้งผ่านสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง โดย AIS จะตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป