กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เผยว่าเงินบาทเดือนที่ผ่านอ่อนค่าเร็ว โดยเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซีย-อิหร่าน แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลง และเงินภูมิภาคที่อ่อนค่า ทำให้ SCB FM ปรับประมานการค่าเงินบาทในระยะต่อไปให้อ่อนขึ้น โดยมองเงินบาทเฉลี่ยในกรอบ 36.80-37.30 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ ด้านอัตราดอกเบี้ย ขณะนี้ตลาดมอง กนง. มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ย THOR OIS ปรับสูงขึ้นมา อย่างไรก็ดี SCB FM มองว่ายังมีโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยในปีนี้อยู่ ลูกค้าจึงอาจพิจารณาปิดกลยุทธ์ Pay fixed ผ่าน THOR OIS 2-year ที่ได้แนะนำไปเดือนก่อนเพื่อทำกำไร ส่วนเหตุการณ์ที่ต้องจับตาในช่วงนี้ คือการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งอาจทำให้ Yields สหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นอีก กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่าได้
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดการเงินในเดือนที่ผ่านมาผันผวนค่อนข้างสูง ทั้งในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดพันธบัตรรัฐบาล โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือ สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งทำให้ตลาดปรับมุมมองการดำเนินนโยบายของ Fed และล่าสุดคือการแทรกแซงค่าเงินเยนของธนาคารกลางญี่ปุ่น
ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินบาทเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าเร็ว โดยหลังเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน เงินบาทอ่อนค่าราว 1.6% อย่างไรก็ดี การอ่อนค่านี้ยังใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค สำหรับทั้งปี 2024 ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าถึง 7.6% ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค เป็นรองแค่เงินเยนที่อ่อนค่าถึง 9.2% นอกจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitical risk) แล้ว แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ก็ส่งผลต่อเงินบาทเช่นกัน โดยคณะกรรมการ Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดประเมิน ทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าเพิ่มเติม และสุดท้าย การอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นในภูมิภาคทั้งเงินหยวนและเงินเยน ก็เป็นปัจจัยกดดันให้บาทอ่อนค่าตามเช่นกัน
สำหรับมุมมองในระยะต่อไป มองเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าที่เคยประเมินไว้ โดยมองเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ในกรอบ 36.80-37.30 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ เนื่องจาก 1) เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ลดลงช้าและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้นโยบายการเงินของ Fed และธนาคารกลางหลักอื่นอาจแตกต่างกันมากขึ้น โดย Fed อาจลดดอกเบี้ยช่วง Q3 ขณะที่ ECB อาจลดดอกเบี้ยตั้งแต่กลางปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าต่อ กดดันสกุลเงินอื่นในภูมิภาคและเงินบาท 2) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยลดลงกว่าที่เคยประเมินไว้ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า โดย SCB FM พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและค่าเงินบาทสูงขึ้นนับตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤต Covid-19 เนื่องจากสัดส่วนสินค้ากลุ่มพลังงานต่อดุลการค้าไทยเพิ่มขึ้น และ 3) แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทต่างชาติมักส่งเงินกลับ ทำให้อาจกดดันเงินบาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย
ประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงนี้คือผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งมีโอกาสที่ Fed จะส่งสัญญาณ Hawkish ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Yields) อายุ 10 ปี อาจเพิ่มขึ้นต่อได้เล็กน้อย ไปที่ราว 4.75-4.95% โดยในการประชุมรอบก่อน Fed กล่าวว่า “หากเศรษฐกิจปรับตัวลงตามที่คาด ก็น่าจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้” อย่างไรก็ดี นายแพททริกมองว่ามีโอกาสที่คำกล่าวนี้อาจถูกปรับไปหรือตัดออก ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณที่ Hawkish ขึ้น นอกจากนี้ คาดว่า Fed จะปรับลดขนาดงบดุลช้าลง จาก 6 หมื่น เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่อเดือน แต่การปรับมาตรการนี้น่าจะไม่ส่งผลต่อการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (US Treasury) ซึ่งจะไม่ทำให้อุปทานพันธบัตรลดลงมากจนเป็นแรงกดดันด้านต่ำต่อ Yields และสุดท้าย นายแพททริกมองว่า ปัจจุบันภาวะการเงินในสหรัฐฯ ยังค่อนข้างผ่อนคลาย เพราะราคาสินทรัพย์เสี่ยงและดัชนีตลาดหุ้นยังอยู่ในระดับสูง แต่ด้วยเศรฐกิจที่ยังดีและเงินเฟ้อที่ลดลงช้า ทำให้อาจเห็น Yields ปรับสูงขึ้นอีก เพื่อให้ภาวะการเงินเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป
สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย ล่าสุดตลาดมอง กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ โดยให้โอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยภายในปีนี้เพียง 50% เท่านั้น โดยในการประชุม Analyst meeting สัปดาห์ที่แล้ว ธปท. ยังไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย แต่กล่าวว่าระดับอัตราดอกเบี้ยเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว และเศรษฐกิจจะยังขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน ซึ่งหากดูการขยายตัวแบบเทียบต่อไตรมาส ธปท. ก็ยังมองว่าอยู่ในเกณฑ์ดี จึงทำให้ความจำเป็นที่ต้องลดดอกเบี้ยยังน้อย นอกจากนี้ ธปท. มองว่าการลดดอกเบี้ยจะไม่ช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลง โดยถึงแม้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ในระยะสั้น แต่ดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้มากขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ดี SCB FM มองว่า โอกาสที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ยังมีอยู่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ (Neutral rate) ลดลงตามโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
สำหรับกลยุทธ์ค่าเงินบาทนั้น นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดือนที่ผ่านมา SCB FM ได้แนะให้ตั้งเป้าขายที่ระดับราว 36.10-36.40 ซึ่งจะได้กำไรจากวันที่แนะราว 50 สตางค์ อย่างไรก็ดี บาทอ่อนค่าต่อเนื่อง และไม่กลับมาแข็งค่าดังที่ประเมิน จึงทำให้ยังไม่มี Level ที่สามารถเข้าซื้อ USDTHB ได้ สำหรับกลยุทธ์ในเดือนหน้านี้ มองว่าเงินบาทที่ราว 37.20-37.60 เป็นระดับที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายได้ โดยมองว่าหลังการประชุม FOMC มีโอกาสที่ Fed อาจสื่อสารในโทน Hawkish จนกดดันให้บาทอ่อนค่าไปที่ระดับนั้น อย่างไรก็ดี แรงกดดันด้านอ่อนค่าน่าจะทยอยลดลงในระยะปานกลางถึงยาว เนื่องจาก Fed น่าจะไม่กลับมาขึ้นดอกเบี้ยดังที่ตลาดกลัว และ ธปท. อาจเข้าดูแลค่าเงินในเวลาที่เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง จึงมองว่าผู้นำเข้าอาจตั้งเป้ารอซื้อเงินบาทที่ราว 36.50-36.80
ด้านกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ย ลูกค้าที่ได้ Pay fixed ผ่าน THOR OIS 2y ที่ราว 2.00% ตามที่ได้แนะนำไปเมื่อเดือนที่แล้ว อาจพิจารณาปิด Trade ได้ โดยจะได้กำไรราว 40 bps สำหรับกลยุทธ์ที่แนะให้ Receive fixed rate ผ่าน THOR OIS อายุ 5 ปี ที่ราว 2.30% เมื่อเดือนก่อน แนะให้อาจพิจารณาปิด Trade นี้ และรอจังหวะเข้าทำใน Level ที่สูงกว่านี้ เนื่องจากยังมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับสูงขึ้นตาม US Treasury yields หลังการประชุม FOMC