• บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด และ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมลงนามเพื่อพัฒนาและศึกษาแนวทางการปรับใช้เทคโนโลยีในระบบส่งจ่ายไฟฟ้า หลังพบความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
• ชู 3 นวัตกรรมเป้าหมาย ทั้งนวัตกรรมสายไฟฟ้า ACCC น้ำหนักเบารองรับปริมาณการส่งจ่ายไฟฟ้าแรงดันสูงโดยไม่ต้องเปลี่ยนเสาไฟฟ้าใหม่, ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้งานร่วมกับอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ในการตรวจสอบงานซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังงานลม และระบบ IoT สำหรับควบคุมดูแลและติดตามการทำงานของระบบจ่ายพลังงานของหม้อแปลงไฟฟ้าแบบเรียลไทม์
• เพิ่มโอกาสในการลดต้นทุน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 40% เสริมประสิทธิภาพการทำงาน และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
นายพงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) เปิดเผยว่า ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง BCC ผู้นำด้านการผลิตสายไฟฟ้า กับ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (Innopower) ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน ในการร่วมวิจัยและพัฒนาที่ครอบคลุมงานสำรวจ ประเมิน และดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อหาแนวทางในการปรับใช้นวัตกรรมในระบบส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย สำหรับส่วนสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. ร่วมกันจัดการนำเสนอนวัตกรรมของสายตัวนำไฟฟ้าชนิดทนอุณหภูมิสูง สามารถรองรับแรงดึงได้สูงโดยมีระยะหย่อนต่ำ (High Temperature, Low Sag (HTLS) Conductors) โดย BCC จะทำการผลิตสายตัวนำอะลูมิเนียมแกนคอมโพสิตพอลิเมอร์หรือสายไฟฟ้า ACCC ซึ่งเป็นสายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถรองรับปริมาณกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าสายไฟฟ้าปกติถึง 2 เท่า และมีน้ำหนักเบา สร้างโอกาสในการลดต้นทุนการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าปริมาณมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเสาไฟฟ้าใหม่ นอกจากนี้สายไฟฟ้า ACCC ยังช่วยลดการสูญเสียพลังงานในระบบส่ง ลดการปลดปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) จากอุตสาหกรรมพลังงานซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
2. ความร่วมมือในการศึกษาและสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอากาศยานไร้คนขับ (UAV) โดยนำระบบ AI ทำงานร่วมกับโดรนเข้ามาช่วยงานตรวจสอบและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานลม และอีกหลายโครงการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการทำงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานลมโดยเฉพาะการตรวจสอบกังหันลมที่มีความสูงมากกว่า 80 เมตร
3. ความร่วมมือในการศึกษาระบบ Internet of Things (IoT) เพื่อเชื่อมระบบดิจิทัลเข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยในการควบคุมดูแลและติดตามสถานะการทำงานของระบบการจ่ายพลังงานหม้อแปลงไฟฟ้า อันเป็นหัวใจสำคัญของโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบเหตุขัดข้อง และส่งการแจ้งเตือนมายังศูนย์ควบคุมแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเสาะหาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องสนับสนุนและปรับใช้กับระบบได้
นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (Innopower) กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เพื่อยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของเงินลงทุนระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า สามารถลดทอนความสูญเสียกระแสไฟฟ้า (Loss) ในโครงข่ายได้เป็นอย่างดี
“การลด Loss กระแสไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมสายส่งในโครงข่ายไฟฟ้าถือเป็นการแก้ไข Pain Point ที่ตรงจุด ทำให้ระบบส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่การนำเอานวัตกรรมที่หลากหลาย มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการบำรุงรักษาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้า ก็จะทำให้เกิดการบริหารจัดการต้นทุนที่ลดลงแต่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น” นายอธิป กล่าว
ความพยายามผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Artificial intelligence (AI) กับอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ยังช่วยเป็นการลดต้นทุนและยกระดับกระบวนบำรุงรักษาโครงข่ายสายส่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางด้านไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี สามารถรองรับการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนอย่างเช่นกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามแนวโน้มความต้องการไฟฟ้าสะอาดในประเทศอีกด้วย
การปรับใช้นวัตกรรมในระบบส่งจ่ายไฟฟ้า โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานสะอาดและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ (Reliability) รวมถึงหาโอกาสสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานสะอาดร่วมกัน ยังเป็นการสนับสนุนการนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050