บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สานต่อค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ เป็นครั้งที่ 19 ภายใต้แนวคิด “Urban Rewilding: ป่า – เมือง – ชีวิต” เชื่อมโยงป่ามาสู่เมือง เชื่อมทุกชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2567
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เหตุผลเราที่นำ “ป่าในเมือง” มาเป็นประเด็นเรียนรู้หลักแก่เยาวชนในปีนี้ เนื่องจากต้องการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในเขตเมือง ซึ่งจะสามารถช่วยให้คนที่อยู่ในเขตเมืองมีสุขภาวะที่ดี เช่น ช่วยดูดซับมลภาวะ ลดอุณหภูมิ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคม ซึ่งหลายๆ ประเทศในเอเชียก็ส่งเสริมเรื่องป่าในเมืองอย่างจริงจังเช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย”
การเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ “Urban Rewilding: ป่า – เมือง – ชีวิต” เปิดโอกาสให้เยาวชนทั้ง 50 คน จาก 48 โรงเรียน 32 จังหวัดได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมืองอย่างเป็นระบบ ภายใต้การเรียนรู้แบบ 3Rs ได้แก่
- Reconnect: เชื่อมโยงชีวิตคนเมืองให้ใกล้ชิด “ป่า” โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้สำคัญ เช่น “การถอดรหัสพยากรณ์จากต้นไม้” สังเกต และเก็บข้อมูลพฤติกรรมของต้นไม้ เพื่อเข้าใจศาสตร์การพยากรณ์ฤดูกาลจากต้นไม้ในเบื้องต้น กิจกรรม “ฉันมันไม่ใช่แค่วายร้าย” ศึกษาวิถีชีวิตและพฤติกรรมของตัวเงินตัวทองในฐานะดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ และกิจกรรมการ “อาบป่า (Forest Bathing)” เปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า (รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส) เพื่อผ่อนคลายร่างกาย และเชื่อมโยงจิตใจกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
- Restore: เรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมือง ผ่านกิจกรรม “การกักเก็บคาร์บอนและประโยชน์ของป่าในเมือง (Urban Forest)” ศึกษาแนวทางการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในเขตเมืองสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และวิธีการประเมินศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรียนรู้ “บทบาทหน้าที่ของรุกขกร (Arborist) นักศัลยกรรมต้นไม้ ดูแลรักษาต้นไม้ ที่ช่วยปกป้องความหลากหลายชีวภาพป่าในเมือง และกิจกรรม “ฟื้นคืนไม้พื้นถิ่น” แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า โดยเน้นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ดั้งเดิม หรือไม้ประจำถิ่นให้คงอยู่ในระบบนิเวศ
- Redesign: ศึกษาการออกแบบเมืองสีเขียวอย่างเป็นระบบ ผ่านการบรรยาย “Benchakitti Forest Park สวนเบญจกิติ ป่าในเมืองสู่สถาปัตยกรรมระดับโลก” ความพิเศษของสวนเบญจกิติที่ได้รับการออกแบบอย่างเป็นระบบ โดยเน้นให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่สำหรับสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ และกิจกรรมคบเด็กสร้างเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์จินตนาการจากอาสาสมัครพนักงานบ้านปู ที่เยาวชนได้นำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากค่ายฯ มาช่วยกันฝึกออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 19 กล่าวว่า “หากพิจารณาผลสำรวจในเขตกรุงเทพมหานครโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (World Health Organization: WHO) พบว่า ปี 2566 อัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกทม. คือ 7.49 ตารางเมตรต่อคน แต่หากนับรวมประชากรแฝง ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรจะอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ดังนั้น ทางโครงการฯ จึงต้องการสร้างการตระหนักรู้ให้เยาวชนได้เห็นถึงความสำคัญของการมี “ป่าในเมือง” รวมถึงการดูแลรักษา เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เยาวชนจะได้สัมผัสทั้งป่าในเมืองและป่าในธรรมชาติเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างของป่าทั้งสองแบบอีกด้วย”
นอกจากนี้ เยาวชนทั้ง 50 คนจะได้นำความองค์ความรู้ทั้งหมดไปตกผลึกเพื่อนำเสนอโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชิงทุนการศึกษาพร้อมเกียรติบัตร โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ภายในค่ายฯ ยังมีวิทยากรรับเชิญสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงศิลปินที่จะมาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ไปกับเยาวชน ได้แก่ เน๋ง – ศรัณย์ นราประเสริฐกุล นักแสดงหนุ่มที่มีแพชชั่นด้านสิ่งแวดล้อม ปิงปอง – ธงชัย ทองกันทม นักแสดงและพิธีกรเปี่ยมอารมณ์ขัน พ่วงตำแหน่ง Content Creator ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตผ่านมุมมอง “ความสุขของคนคิดบวก” และ กัน – ณัฐสกรรจ์ ไชยโรจน์ Green Influencer ที่มักนำเสนอแนวคิดและประสบ การณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น
Related