ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ซึ่งปัจจุบันเปรียบได้กับหน่วยงานกำกับดูแลที่สถาบันการเงินหลายแห่งต้องรับฟังและปฎิบัติตาม ได้ออกรายงานโดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทำให้เกิดช่องโหว่ด้านการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องมีกฎระเบียบออกมาบรรเทาปัญหา
BIS ได้ออกรายงานล่าสุดเกี่ยวกับความเสี่ยงการเงิน โดยชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการเข้ามาในโลกการเงินของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ทำให้เกิดช่องโหว่ใหม่และขยายความเสี่ยงที่มีอยู่ในระบบธนาคารซึ่งอาจจำเป็นต้องมีกฎใหม่เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว
รายงานของ BIS ชี้ว่า การเติบโตของการใช้ระบบคลาวด์ การเพิ่มขึ้นของ AI ไปจนถึงการแพร่กระจายของระบบธนาคารแบบเปิด ไปจนถึงเหล่า FinTech ได้แบ่งปันข้อมูลลูกค้ากับธนาคารต่างๆ หรือแม้แต่บริการด้านการเงินสำคัญๆ ที่สถาบันการเงินได้ใช้บริการหรือความช่วยเหลือจากบริษัทเทคโนโลยีภายนอกนั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ
เทคโนโลยีข้างต้นนั้นถูกใช้โดยธนาคารหลายแห่ง ในรายงานของ BIS ยังได้ยกตัวอย่างความสนใจในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีธนาคารส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะการบริการที่ต้องพบปะกับลูกค้าและเรื่องของการสร้างรายได้
แต่ในรายงานเองก็ชี้ว่าจำนวนธนาคารที่ใช้บริการระบบคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ไม่เพียงเท่านี้ความเสี่ยงของธุรกิจธนาคารในรายงานของ BIS ยังชี้ถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ๆ นั้นทำให้เกิดช่องทางการเชื่อมต่อใหม่ๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคาร ก็ส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ เช่นกัน
เราจะเห็นว่าบริการของธนาคารหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมามีทั้งการจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เพื่อที่จะขยายระบบเพื่อรองรับลูกค้า ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาบริการลูกค้าท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดิอดของธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเหล่าสถาบันการเงินเองต่างมองว่าเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาแล้วจะสามารถช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรมลงได้ ส่งผลต่อกำไรของสถาบันการเงินในอนาคต
รายงานของ BIS ได้ชี้ว่าหากมีเรื่องจำเป็นในเรื่องดังกล่าว ควรจะต้องมีมาตรฐานหรือคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงและช่องโหว่ในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน