“ยูนิลีเวอร์” ประกาศบรรลุเป้าหมายโรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา เปลี่ยนมาใช้ “พลังงานหมุนเวียน” 100%

ยูนิลีเวอร์ พลังงานหมุนเวียน
ยักษ์ใหญ่ FMCG อย่าง “ยูนิลีเวอร์” ประกาศความสำเร็จ 2 โรงงานในนิคมฯ เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา สามารถเปลี่ยนมาใช้ “พลังงานหมุนเวียน” ครบ 100% เดินหน้าต่อเป้าหมายสร้าง “โซลาร์ ฟาร์ม” ในเขตโรงงาน

“ยูนิลีเวอร์” เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยมลพิษจากกระบวนการผลิตเป็น “ศูนย์” (Net-Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2582 ถือเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกโรงงานที่ยูนิลีเวอร์มีในโลกนี้กว่า 280 โรงงาน

รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีโรงงานของยูนิลีเวอร์ทั้งหมด 7 โรงงาน แบ่งเป็น 5 โรงงานย่านลาดกระบัง-มีนบุรี กรุงเทพฯ และ 2 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา ต่างต้องรับภารกิจเดียวกันกับเป้าหมายระดับโลก

“พนิตนาถ จำรัสพันธุ์” ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับ 2 โรงงานนิคมฯ เกตเวย์ นั้นได้บรรลุเป้าหมายความสำเร็จในด้าน “พลังงานหมุนเวียน” เรียบร้อยแล้วในปี 2566 สามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนได้ 100% ทั้งในส่วนพลังงานไอน้ำและพลังงานไฟฟ้า

ยูนิลีเวอร์ พลังงานหมุนเวียน
“พนิตนาถ จำรัสพันธุ์” ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย

ทั้งนี้ โรงงาน 2 แห่งของยูนิลีเวอร์ในนิคมฯ เกตเวย์ เป็นกลุ่มโรงงานที่ใช้ผลิตสินค้ากลุ่มอาหารทั้งหมด ประกอบด้วย 5 แบรนด์ คือ คนอร์ (Knorr), คนอร์ สำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ (Knorr Professional), เบสท์ฟู้ดส์ (Best Foods), เฮลล์แมนน์ (Hellmann’s) และ เลดี้ ชอยซ์ (Lady’s Choice)

โซนการผลิตของโรงงานเกตเวย์แบ่งเป็น 2 โซน คือ 1.โซนโรงงานผลิตซอสแบบแห้ง เช่น ซุปก้อน ข้าวโจ๊ก และ 2.โซนโรงงานผลิตซอสแบบเปียก เช่น ซอสปรุงรส น้ำสลัด

ปริมาณสินค้าที่ผลิตของโรงงานทั้ง 2 แห่งในเกตเวย์ ซิตี้คิดเป็นสัดส่วน 20-25% ของการผลิตทั้งหมดของยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย จึงถือเป็นฐานการผลิตสำคัญ รวมถึงโรงงานนี้ใช้เป็นฐานผลิตทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศด้วย โดยแบ่งเป็น 50% ผลิตจำหน่ายในประเทศ และ 50% ผลิตเพื่อส่งออกในประเทศรอบข้าง ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และออสเตรเลีย

 

ปลดล็อกหม้อต้มไอน้ำ “พลังงานชีวมวล”

ภารกิจด้านพลังงานหมุนเวียนของโรงงานเกตเวย์ของยูนิลีเวอร์ พนิตนาถอธิบายว่ามีทั้งหมด 3 ด้านที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.พลังงานไอน้ำ 2.พลังงานไฟฟ้า และ 3.สารทำความเย็น

ด้านแรก “พลังงานไอน้ำ” ส่วนนี้เป็นพลังงานที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตและล้างทำความสะอาดเครื่องจักรภายในโรงงาน ซึ่งพลังงานไอน้ำจะได้จากระบบหม้อต้ม (boiler) และหม้อต้มนี้ในอดีตจะต้องใช้เชื้อเพลิง “น้ำมันเตา” ซึ่งเป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเพราะมีการผลิตก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้

ยูนิลีเวอร์ พลังงานหมุนเวียน
หม้อต้มไอน้ำ พลังงานชีวมวล โรงงานเกตเวย์ ยูนิลีเวอร์

ยูนิลีเวอร์จึงต้องหาทางเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่จะมาใช้กับระบบหม้อต้ม โดยเลือกเปลี่ยนเป็น “พลังงานชีวมวล” มาตั้งแต่ปี 2560 และชีวมวลที่ใช้เป็น “เศษไม้อัด” (wood pellet) ซึ่งบริษัทมีการคัดเลือกซัพพลายเออร์แล้วว่าเป็นการใช้ไม้จากพืชที่ปลูกสำหรับเป็นแหล่งพลังงาน หรือเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ หรือขยะเศษไม้จากอุตสาหกรรมอื่น ซัพพลายเออร์ที่ส่งเชื้อเพลิงจะต้องไม่มีการใช้ไม้จากการตัดป่าธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม เหตุที่หม้อต้มพลังงานไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่งจะสามารถการันตีว่าเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปีนี้ เป็นเพราะก่อนหน้านี้มีความท้าทายเรื่องการจัดการ “ขี้เถ้า” ของชีวมวลหลังการผลิตไอน้ำ ซึ่งในอดีตต้องใช้พนักงานในการลำเลียงออก และหม้อต้มต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาแทนในระหว่างการลำเลียงขี้เถ้า แต่ในปี 2566 ยูนิลีเวอร์ได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบหม้อต้มให้สามารถใช้ระบบอัตโนมัติในการลำเลียงขี้เถ้าแทนคน และลดเวลาที่ต้องหยุดเครื่องเพื่อทำความสะอาดขี้เถ้าเหลือเป็นทุกๆ 3 สัปดาห์ จนทำให้ระบบไม่ต้องสลับมาใช้น้ำมันเตาแทนอีก

wood pallet เชื้อเพลิงชีวมวล

ด้านที่สองคือ “พลังงานไฟฟ้า” โรงงานยูนิลีเวอร์ เกตเวย์ มีการซื้อพลังงานหมุนเวียนจากผู้ที่ได้รับใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: RECs) ในประเทศไทยเพื่อทดแทนการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมถึงมีความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาร่วมกันในการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% มาจำหน่ายให้กับยูนิลีเวอร์

นอกจากการจัดซื้อแล้ว ยูนิลีเวอร์ยังลงทุนโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงาน ซึ่งผลิตไฟฟ้าสะอาดได้ 560 กิโลวัตต์

ด้านสุดท้ายคือ “สารทำความเย็น” ส่วนนี้โรงงานเกตเวย์มีการเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นในระบบต่างๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ยกเลิกการใช้สารทำความเย็นที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจก เช่น สารคาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs), สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) เป็นต้น

ส่วนแผนงานในอนาคตของโรงงานเกตเวย์ พนิตนาถยังระบุว่า โรงงานมีแนวนโยบายที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการทำโซลาร์ฟาร์มภายในเขตโรงงานเพิ่มเติม แต่จะต้องมีการพิจารณาไม่ให้มีผลกระทบต่อสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมภายในโรงงาน นอกจากนี้ การเป็นโรงงานแรกของยูนิลีเวอร์ไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โรงงานเกตเวย์จะเป็นต้นแบบให้กับโรงงานอื่นในเครือที่จะก้าวสู่ความยั่งยืนไปอีกขั้น