เปิดอินไซต์ลูกค้า ‘ยุคข้าวยากหมากแพง’ เปลี่ยนแบรนด์ฉ่ำ ลอยัลตี้ต่ำ เน้นความคุ้มทุกบาททุกสตางค์

นับตั้งแต่หลังการระบาดของโควิด ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยก็ไม่ค่อยดี โดย NIQ บริษัทวิจัยผู้บริโภค ได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อมูลจากรายงาน Thai Shopper Trends 2567 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย ว่าเป็นไปในทิศทางไหน และ แบรนด์ จะต้องรับมืออย่างไร

ผู้บริโภคเกือบครึ่งมีสถานะทางการเงินแย่ลง

สถานะทางการเงินของผู้ซื้อชาวไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา ในเดือนมกราคม 2567 จำนวน 48% ของนักช้อปรายงานว่า สถานะทางการเงินของตนนั้นแย่ลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 39% สถานะทางการเงินที่ลดลงนี้ส่วนใหญ่เกิดจาก ค่าต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น และปัจจัยดังกล่าวถือเป็น ความกังวลอันดับต้น ๆ ของผู้บริโภค

โดยต้นทุนของอาหารได้พุ่งสูงขึ้นจาก 27% ในเดือนกรกฎาคม 2566 เป็น 30% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังต้องรับมือกับความกังวลเกี่ยวกับ อัตราดอกเบี้ย ที่สูงขึ้นและผลกระทบของ ภาวะโลกร้อน รวมไปถึงเรื่องของ สุขภาพ 

“ที่น่าสนใจคือ เรื่องของภาวะโลกร้อนกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้บริโภคกังวลมากขึ้น โดยลูกค้าโดยเฉพาะ Gen Z จะให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ซึ่งจุดนี้จะช่วยสร้าง Brand Image อย่างไรก็ตาม ลูกค้าจะเลือกซื้อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เพราะถ้าแพงมากไปก็ไม่ซื้อชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) กล่าว

ตัด ลด เปลี่ยน

เพื่อตอบสนองกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น มี 3 กลยุทธ์หลัก ๆ ที่ผู้บริโภคไทยใช้รับมือ ได้แก่

  • ตัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อจัดการกับงบประมาณให้ดีขึ้น ดังนั้น ผู้บริโภคไทยจึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่าสิ่งที่อยากได้
  • ลดปริมาณการซื้อ: ผู้ซื้อจะลดปริมาณสินค้าที่ซื้อ โดยเน้นที่การซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็น หรือยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อซื้อสินค้าแพ็กใหญ่ หรือในปริมาณมาก ๆ เพื่อให้คุ้มค่า
  • เปลี่ยนไปซื้อสินค้าลดราคา: ผู้ซื้อนิยมซื้อสินค้าในช่วงลดราคา หรือเปลี่ยนแบรนด์ที่ให้โปรโมชั่นที่ลดราคา หรือมีราคาถูกกว่า

เลือกความคุ้ม ยิ่งกระทบต่อลอยัลตี้

ในปี 2562 ผู้บริโภคประมาณ 79% พร้อม เปิดกว้างและยินดีที่จะลองผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ใหม่ ๆ มาปีนี้ตัวเลขได้เพิ่มขึ้นเป็น 89% ซึ่งบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสำรวจทางเลือกที่ คุ้มต้นทุน เพราะผู้บริโภคถึง 86% เลือกซื้อสินค้าที่มีส่วนลดพิเศษก่อน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ แชมพู, ครีมนวดผม, ผงซักฟอก, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, ข้าว, แป้ง, น้ำมันปรุงอาหาร และเครื่องปรุงรสอาหาร

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ราคาและโปรโมชั่นที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจ แต่ การจัดเรียงสินค้าที่ดีและบรรยากาศที่น่าเดิน ผู้บริโภคมากถึง 96% ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ตามด้วย การให้บริการจากพนักงาน ภายในร้าน (92%) และเลือกที่คุณภาพสินค้ามากกว่าราคา (90%) นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังยอมจะไป ร้านที่ให้ราคาต่ำสุด สำหรับสินค้าที่ตั้งใจจะซื้อ (79%)

“แน่นอนว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับราคา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับประเภทด้วย และคุณภาพผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญ ถ้ามีสินค้า 3 ระดับราคา ผู้บริโภคอาจไม่เลือกราคาต่ำสุด แต่เลือกราคากลาง ๆ เพราะต้องการคุณภาพที่ดีขึ้นมา” ชินตา อธิบาย

แนะแบรนด์รีโนเวต ไม่ใช่แค่อินโนเวต

จะเห็นว่าจากภาวะเศรษฐกิจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างมาก ขณะที่ความภักดีก็ลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในภาค FMCG ดังนั้น แบรนด์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แบรนด์ควรพิจารณา เสนอส่วนลดและตัวเลือกในการซื้อจำนวนมาก และต้องเน้นย้ำถึงคุณค่าและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาและดึงดูดลูกค้า นอกจากนี้ ธุรกิจควรใช้กลยุทธ์การขายออนไลน์มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนหน้าร้านและเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้นให้กับผู้ซื้อที่มองหาข้อเสนอพิเศษทางช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้บริโภคประมาณ 30% ที่ช้อปสินค้า FMCG ออนไลน์ โดย โชห่วย ยังเป็นช่องทางอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคเข้าถึงในฝั่งออฟไลน์ (40%) ตามด้วยร้านสะดวกซื้อ (35%) และไฮเปอร์มาร์เก็ต (25%)

“กลุ่ม FMCG โต 6% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แสดงว่าผู้บริโภคยังใช้จ่าย แต่เลือกสินค้าที่เหมาะกับเขา แบรนด์เองก็ต้องคิดมากขึ้น เช่น มีสินค้าใหม่ ๆ ออกมาดึงดูด แต่ไม่ใช่แค่ Innovate นวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ต้อง Renovate แบรนด์ให้เข้ากับผู้บริโภคแต่ละเจน เพราะคนรุ่นใหม่มีความต้องการใหม่ เข้าถึงสื่อได้มากขึ้น ดังนั้น อาจต้องมีสินค้าที่เหมาะกับคนแต่ละวัยมากขึ้นชินตา ทิ้งท้าย