ปัจจุบัน 35% ของ GDP ประเทศไทยถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่ม SME ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เม็ดเงินจาก SME คิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของ GDP ดังนั้น SME จึงถือเป็นกลุ่มที่ยังมีศักยภาพจะขับเคลื่อนประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คนตัวเล็ก จะปรับตัวกับเมกะเทรนด์ และชิงความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างไร ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เจอ
จะโตอย่างไรในเมื่อ SME เจ็บสุด
ภาพรวมเศรษฐกิจ ทั่วโลก ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเพียง 2% ขณะที่ประเทศที่เคยเติบโตได้ก็เริ่มโตช้าลง อาทิ GDP ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกอย่าง จีน ที่เคยเติบโตระดับ 10% ก็ปรับลดเหลือ 5% ด้าน ยุโรป และ ญี่ปุ่น โตไม่ถึง 1% ส่วนประเทศ ไทย คาดว่า GDP จะเติบโตประมาณ 2% อย่างไรก็ตาม บริษัทที่จดทะเบียนในไทยคาดว่าจะเติบโตได้เหนือ GDP แปลว่ากลุ่มที่เจ็บตัวที่สุดคือ SME
“ภาพตลาดเปลี่ยนไป โจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจไทยปรับตัวทันกับเมกะเทรนด์ และคนตัวเล็กสามารถนำมาใช้เป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่เรายังทำเรื่องนี้ได้ไม่เท่าไหร่ก็เจอกับวิกฤตระยะสั้น คือ เศรษฐกิจโตต่ำ” ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) กล่าว
A-B-C-D-E 5 คันเร่งสำหรับ SMEs
เศรษฐกิจที่โตต่ำนี้ทำให้ การผลิตอะไรมาก็ขายได้นั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจะเติบโตในตลาดที่กำลังซื้อหดก็คือ หาตลาดใหม่ โดยเฉพาะในประเทศ A – Asia Market โดยเฉพาะใน ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังเติบโตได้ อาทิ กัมพูชา, เวียดนาม ที่ธุรกิจไทยไปโตเยอะ นอกจากนี้ จีนและอินเดีย ที่เป็นสองประเทศใหญ่ โดยธุรกิจอาจเริ่มจากช่องทาง e-commerce และ การสร้างความสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เน้นการ ทำกำไร มากกว่าการเติบโตของยอดขาย เพราะบริษัทใหญ่ต้องดันธุรกิจให้เติบโตตลอดเวลา แต่ SME มีทรัพยากรจำกัด ดังนั้นควรโฟกัสไปที่การทำกำไรมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก SME อาจยอมกำไรน้อยเพื่อ สร้างฐานลูกค้า โดยเน้นที่การสร้าง B – Branding เน้นตลาด Fragment และเล่นกับเรื่อง ความรู้สึก
“เมื่อเราสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งโดยเน้นการสร้างมูลค่าและคุณค่าที่แตกต่าง มุ่งเน้นการสร้างกำไรจากลูกค้าที่เห็นคุณค่าแบรนด์มากกว่าการเน้นยอดขายเพียงอย่างเดียว ดังนั้น SME ต้องหาจุดโฟกัส ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ และถ้าสุดท้ายเราดีจริง อร่อยจริง สุดท้าย ลูกค้าก็ยอมจ่าย แม้เราจะขึ้นราคา”
การหา พันธมิตร หรือ C – Collaboration ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่วยส่งเสริมกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยสร้างแบรนด์ดิ้งเพื่อเข้าถึงผู้ใช้ใหม่ เพิ่มยอดขาย หรือแม้แต่การไปต่างประเทศ เบื้องต้น การหาพันธมิตรจะต้องดูจุดแข็งของแบรนด์ตัวเองและแบรนด์ที่จะคอลแลบด้วย โดยพยายามหลีกเลี่ยงแบรนด์ที่มีความคล้ายคลึงกับแบรนด์ตัวเอง จะฉีกไปคนละอุตสาหกรรมก็ได้
“เราต้องดูว่าตัวเราเก่งอะไร และไปหาคนที่เก่งในด้านอื่น ๆ โดยเอาทั้งจุดแข็งและดาต้ามากองรวมกัน แต่อย่าคิดว่าเราจะคอลแลบกันเพื่อทำการตลาดหรือสร้างแบรนด์ดิ้ง แต่ยังสามารถมองในระยะยาว เช่น การส่งออกไปต่างประเทศ เพราะถ้าเราไปด้วยตัวเอง อาจต้องไปสู้กับเจ้าถิ่นในประเทศนั้น”
อีกเรื่องคือ D – Digital เพราะในวันที่ลูกค้าใช้งาน เอไอ แบรนด์เองก็ต้องใช้ด้วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดต้นทุน และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดย SME ถือว่าได้เปรียบกว่าธุรกิจรายใหญ่ เพราะ ไม่ซับซ้อน ลองได้ พลาดได้ นอกจากนี้ หลายเทคโนโลยีสามารถทดลองใช้ได้ฟรี ดังนั้น เริ่มจากคิดว่าอยากทำอะไรให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น จากนั้นก็ลองหาเครื่องมือมาช่วย
“เราอาจเริ่มจากไมด์เซ็ทที่อยากเปลี่ยน อย่าไปกลัวค่อย ๆ ลอง อาจลองไปเดินงานแฟร์ในต่างประเทศเพื่อหาไอเดียหรือมุมมองการนำเทคโนโลยีมาใช้ เริ่มแรกเราอาจไปก๊อปเขามา จากนั้นก็ค่อย ๆ ต่อยอด”
สุดท้าย E – Equity ความถูกต้อง การดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความถูกต้อง เช่น ความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคม การใช้ระบบบัญชีเดียว เพื่อความโปร่งใสและการเติบโตในอนาคต การดำเนินธุรกิจที่ในระยะยาวต้องสามารถสร้างกำไรได้ ไม่ใช่การเติบโตบนฐานของยอดขายจากการตัดราคา
อยู่ด้วยข่าวดีและกำลังใจ
นอกเหนือจากการมองหาตลาดใหม่ ๆ การหาพันธมิตร ใช้เทคโนโลยี อีกสิ่งที่ ดร.บุรณิน มองว่า จะทำให้ธุรกิจยังมีแรงเดินต่อไปได้ก็คือ ข่าวดีและกำลังใจ เนื่องจากบรรยากาศปัจจุบันที่มีแต่ข่าวเชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลต่อจิตใจของผู้ประกอบการ
ดังนั้น จะเห็นว่ารัฐบาลในหลายประเทศประกาศยุทธศาสตร์เพื่อให้ความหวังกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นจีน ที่เน้นใช้นวัตกรรมที่พัฒนาเองผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศไป และสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ด้านเอไอและหุ่นยนต์ หรืออย่าง มาเลเซียและสิงคโปร์ ที่ประกาศลดการแข่งขัน หันมาร่วมมือกัน เพื่อลบจุดอ่อนของกันและกัน เป็นต้น
“ข่าวดีมันคือกำลังใจในช่วงที่เรากำลังเหนื่อย ถ้ามีแต่ข่าวลบ แล้วเศรษฐกิจไม่ดี คนก็คิดแล้วว่าจะไปต่อหรือเลิก ดังนั้น ข่าวดีก็เป็นอะไรที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจมีความหวัง เพราะเศรษฐกิจมันมีช่วงดีและไม่ดี ผู้ประกอบการก็อาจจะมีกำลังใจรอ” ดร.บุรณิน ทิ้งท้าย