ทำไม ‘Temu’ ถึงเป็นแพลตฟอร์มที่คนยกให้เป็น ‘ปลาหมอคางดำ’ ผู้มาทำลายระบบนิเวศเศรษฐกิจไทย

แม้ไทยมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนหลายราย แต่การมาของคง Temu หรือ เทมู-ทีมู อีคอมเมิร์ซจีนที่เข้าไทยมาแบบเงียบ ๆ ไปเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะด้วยราคาที่ ถูกแสนถูก จนเกิดเป็นคำถามว่า ผู้ประกอบการไทย จะอยู่รอดได้หรือไม่

ไม่มีสำนักงานในไทย = ตั้งใจเอาเปรียบ

ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย 65% ถูกครอบครองด้วย 3 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ Shopee (49%) Lazada (30%) และ TikTok Shop (21%) แต่สำหรับการมาของ Temu ไม่เหมือนกับแพลตฟอร์มไหน ๆ ก็คือ Temu ไม่มีสำนักงานในไทย ซึ่งแปลว่า ยอด ทุกบาททุกสตางค์ของลูกค้าชาวไทยถูกส่งกลับไปจีน เพราะบริษัท ไม่ได้จ่ายภาษีให้กับประเทศไทย โดย ป้อม ภาวุธ กูรูอีคอมเมิร์ซเมืองไทย ถึงกับเอ่ยปากว่า เห็นเจตนาชัดว่า ต้องการฝ่าฝืนและเอาเปรียบประเทศเรา

“เขาคงไม่เข้าประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพราะในหลายประเทศเขาก็ทำแบบนี้ คือ เปิดเว็บไซต์ให้ซื้อและส่งของจากจีนเข้ามาไทย” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด กล่าว

ปัจจุบัน Temu เปิดบริการแล้วใน 49 ประเทศทั่วโลก โดยไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวม ๆ แล้ว Temu มีจำนวนแอคเคาท์กว่า 467 ล้านแอคเคาท์ เป็นแอปพลิเคชันที่มี ยอดดาวน์โหลดสูงสุดในปีนี้ และมียอดขายรวมกว่า 14,000 ล้านบาทต่อเดือน

ภาพจาก Shutterstock

ถูกจนสหรัฐฯ ยังโดนตก

เพราะแนวคิดแรกของ Temu คือการ ตั้งราคาขายให้ได้ต่ำที่สุด ดังนั้น Temu จึงทำการ ตัดคนกลางออก ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อกับผู้ผลิตโดยตรง หรือพูดง่าย ๆ สินค้าที่สั่ง ส่งตรงจากโรงงานถึงลูกค้า นอกจากนี้ Temu จะมีฟีเจอร์ให้ลูกค้า รวมกลุ่มกันซื้อสินค้า หรือ Group Buying เพื่อให้ได้สินค้าในราคาที่ถูกลงไปอีก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าบางชนิดราคาจะ ถูกกว่าท้องตลาด 99% ยังไม่รวมการทำโปรโมชั่นต่าง ๆ และการจัดส่งอย่างรวดเร็วภายใน 4-9 วัน เพราะต่อให้ของถูก แต่ได้ของช้า คนก็อาจไม่รอ

ด้วยกลยุทธ์ที่เล่นเรื่องราคาเป็นหลัก และการจัดส่งที่รวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกกใจที่ Temu จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว อย่างในตลาด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ Temu ทำตลาด Temu ใช้เวลาเพียง 2 ปี ก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 17% โดยสิ้นปี 2023 มียอดขายสูงถึง 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์ และในช่วงต้นปีที่ผ่านมามียอดผู้ใช้งานกว่า 80 ล้านคน

จะเห็นว่าขนาดสหรัฐฯ ที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 94,003 ดอลลาร์ต่อปี หรือ 3.4 ล้านบาทต่อปี ยังโดน ของถูกตก แล้วคนไทยที่มีรายได้เฉลี่ย 248,468 บาทต่อคนต่อปี จะเหลืออะไร

ข้อกังวลความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

ไม่ใช่แค่ราคา แต่เทคโนโลยีของ Temu ก็ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างถูกจุด ด้วย อัลกอริทึม ที่วิเคราะห์ customer journey ของลูกค้าอย่างละเอียด ตั้งแต่การดูสินค้า การมีส่วนร่วมในกิจกรรม ไปจนถึงการตัดสินใจซื้อ ทำให้ Temu สามารถปรับแต่งและเสนอสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ Temu ยัง ส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังผู้ขาย ทำให้ผู้ขายสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามเทรนด์หรือความต้องการของตลาด ซึ่งก็ช่วยให้ผู้ขายไม่ต้องผลิตสินค้าเกินความต้องการ สามารถบริหารจัดการต้นทุนและสต็อกได้ดีขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลง ทำให้ทำราคาสินค้าได้ถูกลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ด้วยการใช้งาน Big Data ทำให้ Temu มีประเด็นเรื่อง ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ของ Pinduaduo ที่ Temu ก็อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันกับ PDD Holdings เคยถูก Google ปักธงแดงเปลี่ยนสถานะแอปฯ ให้เป็น มัลแวร์ เพราะ Pinduoduo เวอร์ชันที่ไม่ได้อยู่ใน Google Play Store มีลักษณะการทำงานที่คล้ายกับมัลแวร์ โดย ทำหน้าที่ตรวจสอบและสอดแนมผู้ใช้งาน โดยใช้วิธีการ Zero-day แฮกข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อเข้าถึงและรวบรวมข้อมูลผู้ใช้

Shanghai,China-Nov.29th 2023: Pinduoduo (PDD Holdings) brand logo sign on official website. Chinese company

SME เจ็บสุด

จากทั้งสินค้าราคาถูก เงินทุนที่สามารถลด แลก แจก แถม และทำการตลาดได้มากกว่า เทคโนโลยีที่ดีกว่า คนที่กระทบมากสุดคงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง SME และถ้าผู้ประกอบการไทยลดกำลังผลิตหรือเลิกผลิต การจ้างงานก็ลดลง มีผลต่อเนื่องเป็นทอดๆ ต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด (MI GROUP) ยังมองว่า ทุนจีนที่เข้ามาในไทยนั้นมีลักษณะพิเศษกว่าทุนจากชาติอื่นที่เคยเข้ามา เพราะวิธีดำเนินธุรกิจสไตล์จีนคือ ใช้ระบบนิเวศของตนเองทั้งหมด จึงไม่ส่งผลดีต่อการจ้างงานคนไทยและการใช้วัตถุดิบในประเทศไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยยิ่ง ขาดดุลการค้ากับจีน ซึ่งตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด โดยในปี 2023 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลถึง 1.29 ล้านล้านบาท แค่ 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยก็ขาดดุลแล้ว 2.82 แสนล้านล้านบาท

“รัฐบาลควรจะเข้ามาดูแลผู้ประกอบการไทย มีมาตรการปกป้องให้มากขึ้น เพราะถ้าผู้ประกอบการไทยลดกำลังผลิตหรือเลิกผลิต การจ้างงานก็ลดลง มีผลต่อเนื่องเป็นทอดๆ ต่อเศรษฐกิจ”

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด (MI GROUP)

คนไทยตื่นตัวที่จะแบน Temu

อย่างไรก็ตาม แม้ Temu จะดูน่ากลัวเพราะทั้งการทำราคาสินค้า เทคโนโลยี และเงินทุนมหาศาล แต่จุดอ่อนสำคัญคือ คุณภาพสินค้า และการ ละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างในสหรัฐฯ เอง ทางคณะกรรมการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐฯ-จีน (USCC) ก็ได้ออกมาเตือนถึงเรื่องนี้

ซึ่งในประเทศไทยก็ดูเหมือนผู้บริโภคจะตื่นตัวกับการมาของ Temu โดยชาวเน็ตไทยเองก็ตื่นตัวกับการมาของ Temu โดยพากันไปคอมเมนต์เพจ Temu Thailand ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 หมื่นคนว่า “ให้ใช้สินค้าไทย ซื้อของคนไทยและต่อต้านสินค้าจีน เพราะมองว่า การเข้ามาของแอปฯ นี้จะทำให้ผู้ประกอบการไทยย่ำแย่ ด้าน นารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้ออกมารีวิวการสั่งของจาก TEMU ว่า ห่วย ด้วย

เก็บภาษีไม่ได้ก็บล็อกไปเลย

แม้ว่า Temu จะดูน่ากลัว แต่ไม่ใช่ว่าจะสกัดไม่ได้ โดย ภาวุธ ได้แนะนำถึงภาครัฐว่า ควรใช้กฎหมาย E-Service Tax (VES) ที่ทำให้สรรพากรมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการต่างประเทศจากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ Facebook (Meta), YouTube, Netflix, Google เป็นต้น

หรือมาตรการขั้นเด็กขาดคือ บล็อกการเข้าถึงคนไทย แบบเดียวกับการบล็อกเว็บไซต์อย่าง พอร์นฮับ รวมไปถึงทำหนังสือไปยัง AppStore, PlayStore เพื่อบล็อก Temu ออกจากการเห็นของคนไทย หรือในกรณีที่ไม่สามารถบล็อก Temu ได้ก็ควร บังคับใช้กฎระเบียบเดิมให้เข้มแข็ง เช่น คุมการนำเข้าสินค้าที่เข้มงวด อย่างให้สินค้าที่ไม่มี มอก. หรือ อย. เข้ามาไทย เพราะสินค้าที่ถูก อาจไม่ได้คุณภาพตามข้อกำหนด

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด

SME หนีไม่ได้ก็เข้าร่วม

สุดท้ายแล้ว SME ที่เน้นนำเข้าของจากจีนมาขาย อาจจะอยู่ยาก ดังนั้น ควรสร้าง แบรนด์ และเน้นไปที่ คุณภาพสินค้า เพราะสินค้าของ Temu ไม่มีแบรนด์ เน้นทำราคา ไม่สนเรื่องคุณภาพ และที่สำคัญ SME ต้อง หาตลาดใหม่ ๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายใหม่หรือการ ส่งออก สุดท้าย ต้องนำ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้คน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่า Temu เปิดให้ผู้ประกอบการไทยขายของบนแพลตฟอร์มได้หรือไม่ แต่ที่เห็นคือ Temu เปิดให้โรงงานและบุคคลบางประเภทสามารถสมัคร Seller Account เพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายได้ ซึ่ง คนไทยสามารถสมัครได้ เพียงแต่แพลตฟอร์มจะอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับทาง Temu ซึ่งข้อดีของการขายของบน Temu คือ การเปิดตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ดังนั้น SMEs ไทยอาจจะลองดูสักตั้ง เผื่อใช้ Temu เป็นอีกแพลตฟอร์มในการขายสินค้าไปต่างประเทศ