ย้อนรอย ‘กาชาปอง’ แคปซูลของเล่น 1.3 หมื่นล้าน ที่ ‘ญี่ปุ่น’ กำลังดันไปโตต่อในต่างประเทศ

แม้ยุคนี้ กล่องสุ่มอาร์ตทอย จะเป็นกระแสแรงในบ้านเรา แต่จริง ๆ แล้ว รูปแบบการสุ่มของเล่นนั้นมีมานาน และเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะคุ้นเคยกันดีกับตู้ กาชาปอง หรือ แคปซูลของเล่น แม้จะดูเหมือนเป็นอะไรที่เล็กน้อย แต่เจ้ากาชาปองนี้ทำรายได้กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ให้กับญี่ปุ่นเลยทีเดียว

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของ ตู้กาชาปอง (Gashapon) หรือ แคปซูลของเล่น ต้องย้อนไปไกลถึงยุค 1960 ซึ่งในตอนนั้น Ryuzo Shigeta เจ้าของร้านของเล่น Penny Shokai ได้นำ ตู้กดหมากฝรั่งและของเล่น จากสหรัฐอเมริกา มาวางขายที่ร้าน ก่อนที่จะดัดแปลงเครื่องดังกล่าวให้กด แคปซูลบอลพลาสติก เพื่อลุ้นว่าจะได้อะไร

จนมาปี 1977 แบรนด์ของเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง บันได (Bandai) ก็ได้จดเครื่องหมายการค้ากาชาปอง ซึ่งเป็นคำที่เลียนแบบเสียงของที่จับที่หมุนเวลาไขตู้ และเสียงกระแทกเมื่อแคปซูลหล่นลงมา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กาชาปองฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองเกิดในปี 1983 เมื่อบันไดออกตู้กาชาปองจากการ์ตูนเรื่อง คินิคุแมน (Kinnikuman) ทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ในหมู่เด็ก ๆ ส่งผลให้บันไดสามารถขายกาชาปองได้ถึง 180 ล้านชิ้น

สมาคมของเล่นญี่ปุ่น เคยประมาณการว่า ตลาดของเล่นกาชาปองในปี 2022 มีมูลค่า 61,000 ล้านเยน (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท) เติบโตประมาณ 35.6% และคาดว่าจะยังสามารถเติบโตได้อีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าตู้กาชาปองนั้นยังสามารถดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้ใหญ่

โดยจากการสำรวจผู้บริโภคในเดือนเมษายนโดยบริษัท Happinet Corp. ซึ่งดำเนินกิจการเครือร้านขายของเล่น Gashacoco พบว่า ผู้หญิงมากกว่าครึ่งหนึ่งในช่วงวัย 20-30 ปี ซื้อกาชาปองอย่างน้อย 1 ชิ้นนับตั้งแต่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และจากจำนวนการเกิดที่ลดลง ทำให้ผู้ผลิตหันมาผลิตสินค้าจับกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีบริษัทผู้ผลิตกาชาปองประมาณ 60 ราย และจะมีสินค้าประมาณ 600-700 รายการ ที่ออกสู่ตลาดในทุก ๆ เดือน แสดงให้เห็นว่าตลาดกาชาปองในญี่ปุ่นนั้นมีความหลากหลายมาก รวมถึงจะมีตู้กาชาปองที่ขายเฉพาะในท้องถิ่นนั้น ๆ หรือแม้แต่ตัวสินค้าก็มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันในรูปแบบย่อส่วน เช่น ผงซักฟอก และมันฝรั่งทอดกรอบ

นอกจากนี้ เทรนด์ กาชาปองอาร์ตทอย ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน โดย ไดสุเกะ โมริคุนิ ผู้อำนวยการแผนกของเล่นกาชาปองของ Yell Co. เล่าว่า แม้ว่ากาชาปองที่ทำจากตัวละครอนิเมะจะทำกำไรได้ดี แต่การขายในต่างประเทศนั้นจะยุ่งยากในเรื่องของลิขสิทธิ์ ดังนั้น พวกสินค้าอาร์ตทอยที่มีความน่ารัก และเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศได้ง่ายกว่า ซึ่งปัจจุบันรายได้จากต่างประเทศของบริษัท Yell คิดเป็น 10% ของยอดขายบริษัท

ปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดหลายรายมุ่งเป้าไปที่ การขยายกิจการไปยังต่างประเทศ เพราะแม้ว่าตลาดญี่ปุ่นจะยังเติบโตได้แต่ว่า พื้นที่เริ่มเป็นข้อจำกัด ในการขยายตู้กาชาปอง โดยบางบริษัทกำลังสนใจขยายไปในตลาด ตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นตลาดที่ตอบรับต่อสินค้าญี่ปุ่น อีกทั้งใน ซาอุดีอาระเบียยังมีแผนจะจัดสวนสนุกธีม ดราก้อนบอล (Dragonball) แห่งแรกของโลก

เราอาจยังมีช่องว่างในตลาดญี่ปุ่นอีกประมาณ 2 ปี เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ในการตั้งตู้กาชาปอง ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับการเปิดในศูนย์การค้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่กาชาปองยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใหญ่ก็คือ มันเป็นของเล่นราคาถูกที่สามารถมอบความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ และความสนุกสนานให้กับผู้คน” ไดสุเกะ โมริคุนิ ทิ้งท้าย

Source