เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า ถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม โดยเศรษฐกิจโลกปี 2024 ถือเป็นปีที่ยาก IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 3.2% ซึ่งความท้าทายยังคงมีอยู่จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการค้าโลกจึงพุ่งสูงเป็นเงาตามตัว แม้เงินเฟ้อจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในระดับสูง และยังเจอกับปัญหาจีนระบายสินค้ากระจายไปทั่วโลก ทำให้เอสเอ็มอีในแต่ละประเทศอยู่ยากมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมี “โอกาส” อยู่เสมอ finbiz by ttb จึงขอเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจ และโอกาสสำหรับอุตสาห กรรมด้านสุขภาพ หรือ เฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นเทรนด์ “เฉพาะทาง” ที่กำลังมาแรง และสามารถเติบโตได้ดีในขณะนี้
เศรษฐกิจไทยปี 2024 มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยคาดว่าเติบโตได้ประมาณ 2.6% แต่กำลังซื้อภายในประเทศจะชะลอลงโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง จากปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรังและดอกเบี้ยสูง การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคไปต่อได้ยาก ขณะที่ปัจจัยบวกอยู่ที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมเติบโตช้าและต่ำกว่าศักยภาพ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจเฮลท์แคร์
ธุรกิจเฮลท์แคร์ เติบโตดีสวนกระแสเศรษฐกิจ
- ปี 2024 คาดว่าตลาดบริการทางการแพทย์เอกชนจะมีรายได้เติบโต 4.4 แสนล้านบาท โดยรายได้ 72% ของตลาดมาจากโรงพยาบาลเอกชน และส่วนใหญ่ยังคงกระจุกอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในสัดส่วน 75% รองลงมาเป็นภาคตะวันออก 8%
- กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดบริการทางการแพทย์ไทย คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาประเทศไทยประมาณ 33 ล้านคนในปีนี้ โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางมีสัดส่วนรายจ่ายการแพทย์ที่สูง อีกกลุ่มคือ แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย จำนวน 2.6 ล้านคน ซึ่งมีประกันตนในสัดส่วน 40%
- โดยเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามีอยู่ 3 กลุ่ม คือ โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเฉพาะทาง และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะส่งผลให้คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปจะอยู่ยากขึ้น
- ถ้าโฟกัสที่โครงสร้างประชากรไทยช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีจำนวน 32 ล้านคน แต่ในปี 2031 คาดว่ากลุ่มวัยนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 37 ล้านคน ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจกายภาพบำบัดเติบโต เพราะได้รับแรงหนุนจากโรคเรื้อรังที่ต้องอาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม
เฮลท์แคร์ จึงเป็นเทรนด์ “เฉพาะทาง” ที่กำลังมาแรง ธุรกิจการแพทย์เฉพาะทางจะกินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยเติบโตได้ดีกว่า 15% ต่อปี หากเทียบกับในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เมื่อเทียบรายได้ระหว่างโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นลูกค้าต่างชาติกับเน้นกลุ่มคนไทยแล้ว พบว่าช่องว่างของรายได้จะห่างกันเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ
ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์…โมเดลธุรกิจที่จะได้ไปต่อในอนาคต
แม้กลุ่ม Hospitality จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ในเมื่อการขยายตลาดในประเทศมีข้อจำกัด ทำให้ “H2H Model” หรือ Hospitality to HealthCare กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ โดยควรเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้น และผูกอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ไปกับการท่องเที่ยว ในนามของ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้
- โฟกัสคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่าจำนวน โดยเน้นไปที่กลุ่มต่างชาติเกษียณอายุ และกลุ่มคนทำงาน Digital Nomad (อาชีพยุคใหม่สำหรับคน Work From Anywhere) ประมาณการรายจ่ายต่อหัวอยู่ที่ 80,000-120,000 บาทต่อทริป
- ออกแบบ Customer Journey และวางแผน Medical Tourism Supply Chain อย่างรอบด้าน เช่น ส่งต่อข้อมูลของเราให้กับบริษัททัวร์, แอปพลิเคชัน หรือ Medical Agent จัดเตรียมการเดินทางและการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทาง ต้องจัดเตรียมที่พักและโปรแกรมการท่องเที่ยวรองรับญาติผู้ป่วยที่เดินทางมาด้วยกัน
ดังนั้น เมื่อมองไปข้างหน้า การวางโมเดลธุรกิจในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบ Subscription คือระบบสร้างรายได้หมุนเวียนเพื่อสร้างกลุ่มลูกค้ารายได้ประจำให้กับธุรกิจ โดยสร้างความต้องการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความถี่ในการเข้ารับบริการ เช่น Tele-Medicine บริการการแพทย์ทางไกล รวมทั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับธุรกิจในระยะยาว และด้วยระบบดูแลสุขภาพของไทยติดอันดับ Top 5 ของโลก และมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ โรงพยาบาลไทยยังมีมาตรฐานระดับโลก บุคลากรทางการแพทย์ที่เก่งและมีการบริการที่ดี จึงมั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเป็น Medical Hub ได้อย่างแน่นอน
ที่มา : หลักสูตร “LEAN for Sustainable Growth by ttb” รุ่นที่ 19 สำหรับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ (Healthcare)