ศาลสหรัฐฯ ฟัน ‘กูเกิล’ ผูกขาดบริการ ‘เสิร์ชเอนจิ้น’

ภาพจาก Unsplash
หากพูดถึงบริการ เสิร์ชเอนจิ้น ชื่อของ กูเกิล (Google) เป็นชื่อแรกที่อยู่ในหัวคนทั่วโลกแน่นอน ขนาดในไทยยังมีคำว่า “ไม่รู้อะไรให้ถามกูเกิล” จนในปี 2020 ก็ได้มีการฟ้องกูเกิลว่า ผูกขาดบริการเสิร์ชเอนจิ้น ล่าสุด ศาลฯ ได้ตัดสินว่า กูเกิลผูกขาดจริง

ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินคดีที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (Department of Justice) ได้ตัดสินว่า กูเกิลได้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ โดยกูเกิลได้ ทุ่มเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ในการทำสัญญาพิเศษเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในฐานะ ผู้ให้บริการค้นหาเริ่มต้นสำหรับสมาร์ทโฟนและเว็บเบราว์เซอร์ของโลก สัญญาดังกล่าวทำให้กูเกิลมีอำนาจในการปิดกั้นคู่แข่งที่อาจเกิดขึ้น เช่น Bing และ DuckDuckGo ของ Microsoft ปัจจุบัน กูเกิลครองตลาดการค้นหาออนไลน์ประมาณ 90% และ 95% บนสมาร์ทโฟน

สัญญาดังกล่าวทำให้เมื่อผู้ใช้ต้องการค้นหาข้อมูลกูเกิลมักจะเป็นแพลตฟอร์มที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ขนาดใหญ่ของกูเกิลเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกูเกิลสามารถเรียกเก็บค่าบริการโฆษณาในราคาที่สูง ซึ่งสะท้อนถึงอำนาจผูกขาดในระบบการค้นหา

“หลังจากพิจารณาและชั่งน้ำหนักคำให้การของพยานและพยานหลักฐานอย่างรอบคอบแล้ว ศาลได้ข้อสรุปดังนี้ Google เป็นผู้ผูกขาด และได้ดำเนินการเพื่อรักษาการผูกขาดเอาไว้ Google ละเมิดมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติเชอร์แมน” อมิต เมห์ตา ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ กล่าว

การตัดสินดังกล่าวถือเป็น ความพ่ายแพ้ในคดีต่อต้านการผูกขาดครั้งที่สองของกูเกิล หลังจากที่คณะลูกขุนศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในแคลิฟอร์เนีย ตัดสินว่า กูเกิลเพลย์สโตร์ (Google Play Store) เข้าข่าย ผูกขาดตลาด ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคและนักพัฒนาแอปพลิเคชัน

อย่างไรก็ตาม กูเกิลมีแนวโน้มที่จะ ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งหมายความว่าอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะเกิดบทลงโทษ แต่ Rebecca Allensworth ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Vanderbilt มองว่า คำตัดสินนี้อาจพลิกโฉมวิธีที่กูเกิลเปิดให้ผู้ใช้เข้าถึงเครื่องมือค้นหาได้ โดยส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำข้อตกลงมูลค่าสูงกับผู้ผลิตอุปกรณ์และผู้ให้บริการออนไลน์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของคดี

นอกจากนี้ อาจมีแนวทางแก้ไขอื่น ๆ อีกเช่น ศาลอาจบังคับให้กูเกิล เพิ่มหน้าจอตัวเลือก เพื่อให้ผู้ใช้ทราบเกี่ยวกับเครื่องมือค้นหาอื่น ๆ ที่มีให้บริการ รวมถึงบริษัทมีแนวโน้มที่จะต้องเจอ ค่าปรับ แต่ก็อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กสำหรับบริษัทที่มีกำไรมหาศาลอย่างกูเกิล

แม้ว่า กูเกิลจะถูกฟันว่าผิดข้อหาผูกขาดตลาด แต่ Adam Kovacevich ผู้ก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนเทคโนโลยี Chamber of Progress และอดีตผู้อำนวยการนโยบายของกูเกิล ออกมาให้ความเห็นว่า ผู้ชนะจากการตัดสินไม่ใช่ผู้บริโภคหรือบริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็ก แต่คือ Microsoft เพราะ Microsoft ลงทุนด้านการค้นหามาหลายทศวรรษแล้ว แต่คำตัดสินในวันนี้ได้เปิดประตูสู่คำสั่งศาลให้ Bing ได้ขึ้นมาเป็นตัวเลือก

Source