ลดพิษสงคู่อริ? ‘จีน’ จำกัดส่งออก ‘แอนติโมนี’ วัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิต ‘อาวุธ’

จีน จะกำหนดข้อจำกัดในการส่งออก แอนติโมนี และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ในนามของความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลจีน ในการจำกัดการขนส่งแร่ธาตุสำคัญที่จีนเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของโลก

ในปี 2023 ที่ผ่านมา จีน สามารถผลิต แอนติโมนี (Antimony) ได้ถึง 48% ของโลก โดยแอนติโมนีถือเป็นโลหะเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้ในกองทัพ เช่น กระสุน ขีปนาวุธอินฟราเรด อาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ยังใช้ในแบตเตอรี่ และเซลล์โฟโตโวลตาอิก (Photovoltaic cell) สำหรับใช้ในการผลิต โซลาร์เซลล์ อีกด้วย ดังนั้น การจำกัดการส่งออกจะเป็นการ กดดันกองทัพสหรัฐฯ และยุโรป

“ปัจจุบัน การนำแร่แอนติโมนีมาใช้ในทางทหารถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทุกคนต้องการแร่ชนิดนี้เพื่อใช้ในการผลิตอาวุธ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ดีกว่าขาย และสิ่งนี้จะกดดันกองทัพสหรัฐฯ และยุโรปอย่างแท้จริง” คริสโตเฟอร์ เอกเคิลสโตน ผู้บริหารและนักยุทธศาสตร์ด้านเหมืองแร่ที่ Hallgarten & Company กล่าว

สำหรับข้อจำกัดในการส่งออกแอนติโมนี จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน โดยจะมีผลใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแอนติโมนี 6 ชนิด รวมถึงแร่แอนติโมนี โลหะแอนติโมนี และแอนติโมนีออกไซด์ นอกจากนี้ กฎระเบียบดังกล่าวยังห้ามการส่งออกเทคโนโลยีการถลุงและการแยกทองคำ-แอนติโมนีโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

“ข้อจำกัดเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์” กระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน กล่าว

ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์จาก China Securities กล่าวว่า ความต้องการอาวุธและกระสุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสงครามและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะทำให้มีการควบคุมและกักตุนแร่แอนติโมนีที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ขณะที่ สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ กำลังดิ้นรนเพื่อ ลดการพึ่งพาจีน สำหรับวัตถุดิบสำคัญ โดยกำหนดนโยบายและแพ็กเกจ การสนับสนุนสำหรับภาคส่วนแร่ธาตุที่สำคัญ รวมไปถึงแร่ธาตุหายากด้วย

หลังจากจีนประกาศจำกัดการส่งออก ส่งผลให้ราคาของแอนติโมนีพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เนื่องมาจากอุปทานที่ตึงตัวและความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ซึ่งโลหะแอนติโมนีถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์

ทั้งนี้ จีนได้เริ่มควบคุมการส่งออกแร่สำคัญ ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว อาทิ ในเดือนธันวาคม จีนได้ห้ามการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตแม่เหล็กหายาก ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากข้อห้ามในการส่งออกเทคโนโลยีการสกัดและแยกวัตถุดิบสำคัญที่มีอยู่แล้วนอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เข้มงวดการส่งออกผลิตภัณฑ์กราไฟต์บางชนิด และกำหนดข้อจำกัดในการส่งออก  ผลิตภัณฑ์ แกลเลียมและเจอร์เมเนียมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของแอนติโมนีที่ผ่านการกลั่น แต่จีนก็เป็นผู้นำเข้าสุทธิของแร่เข้มข้นและต้องพึ่งพาแร่จากประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย เมียนมา และรัสเซีย ตามข้อมูลของกรมศุลกากร แต่การนำเข้าจากรัสเซียลดลงอย่างมากในปีนี้