โครงสร้างการหารายได้องค์กรจะมาจากส่วนไหนบ้าง
ถ้าเป็นเว็บไซต์รายได้ยังมาจากโฆษณาเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง คือ เรามีสถิติที่ชี้ชัดว่าคนอ่านเรากี่คน แต่ถ้าเป็นแอปรายได้จะมาจากเป็นโฆษณาบวกรายได้จากดาวน์โหลด
ไทยเดย์ด็อทคอมมีนโยบายในการขับเคลื่อนวงการสื่อดิจิตอลในภาพรวมอย่างไรบ้าง
นโยบายของเราพร้อมจะเปิดกว้างให้สำนักพิมพ์ต่างๆ หรือคนที่มี Content มาเป็นพันธมิตรพัฒนาเนื้อหาร่วมกันเผยแพร่ผ่านสื่อทั้ง 5 ขาที่เรามี ได้แก่ เว็บไซต์ แอป (ดิจิตอลแมกกาซีน) อีบุ๊ก (ไฟล์พีดีเอฟ) ทีวี วิทยุ และสิ่งพิมพ์ โดยเราจะใช้ความแข็งแกร่งของการเป็นเว็บข่าวอันดับหนึ่งที่มีคนอ่านมากที่สุดในเมืองไทยเป็นจุดแข็งในการต่อยอดธุรกิจ เช่น นิตยสารคู่สร้างคู่สม เมื่อมาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา เราจะทำแอปให้ เปิดพื้นที่บนเว็บmanagerให้ วางแผนโฆษณาให้เสร็จสรรพ หรือเว็บไซต์ประเภทเวดดิ้ง กูรูทั้งหลายอยากได้ทราฟฟิกคนดูเพิ่มขึ้นก็มาร่วมกับเรา เราจะเปิดพื้นที่ให้บนเว็บ วางแผนโฆษณาให้เช่นกัน โดยที่เราไม่ต้องทำ Content ทั้งหมด ซึ่งเวลานี้ได้คุยกับพาร์ตเนอร์เจ้าดังๆ แล้วหลายราย ถ้าไปถึงจุดนั้นได้สำเร็จ เราจะกลายเป็น “Mega Portal Digital Content” ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานเพื่อเริ่มทำ ตอนนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์ไม่เกิน 3-4 เดือน เว็บ manager จะพร้อมรองรับผู้อ่านพร้อมกัน 5 ล้านคนในเวลาเดียว
เราพยายามตอบสนองไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไปให้มากที่สุด เพราะเรา Go Digital อย่างจริงจังทั้งเครือ ขณะที่ค่ายเนชั่นมัวแต่สอนและพิมพ์หนังสือสตีฟ จ็อบส์ และหลงว่าคิดว่าตัวเองเป็นแบบสตีฟ จ็อบส์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรเลย มหาวิทยาลัยเนชั่นสอนไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคนที่ทำสื่อเวลานี้ไม่มีความจำเป็นต้องเรียนนิเทศศาสตร์แล้ว ดูอย่างโมเมสอนแต่งหน้า เชฟหมีครัวกากๆ ทำอาหารอยู่ที่บ้านทำคลิปออก Youtube ก็ดังได้ เวลานี้ทุกคนรู้จักเส้นทางการทำโซเชี่ยลมีเดียกันหมดแล้ว ดังนั้นคุณควรเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้มากกว่าการเรียนวิชานิเทศศาสตร์ นักข่าวพลเมืองก็ไม่จำเป็นต้องมี เพราะเวลานี้นักข่าวเช็กข่าวกันในเฟซบุ๊ก รู้ได้เลยว่าเวลานี้คนสนใจอะไร พูดกันเรื่องไหน มีเหตุการณ์ภาพนายกยิ่งลักษณ์ ยืนบังพระบรมฉายาลักษณ์ในเฟซบุ๊ก คนทนไม่ไหวส่งต่อๆ กันมา ไม่ถึง 1 ชั่วโมงเป็นข่าวลงในเว็บหมดแล้ว หรืออย่างคุณโอ๊ค (พานทองแท้ ชินวัตร) เอง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีทั้งคนชม คนด่า มีคนดูมากกว่าในวอยซ์ทีวีเสียอีก เราก็สามารถเช็กจากเฟซบุ๊กเอามานำเสนอได้
ขณะเดียวกันเวลามีคอนเทนต์อะไรที่น่าสนใจ เราก็แชร์ไปในเฟซบุ๊ก มันก็เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ตัวอย่างเหล่านี้ สะท้อนได้ว่าโลกมันเปลี่ยนเป็นโลกดิจิตอล 100% แล้ว ไม่ใช่เราลุยไปโดยไม่มีอะไรมารองรับ
บทบาทภายใต้การ Go Digital ที่เราจะไป ถือเป็นความเฉพาะที่มีแต่เราที่ทำได้
ในโลกดิจิตอลเราเปิดให้ทุกคนมีพาร์ตเนอร์หมด เพราะความสนใจของคนมันมากมายมหาศาล เป็นศูนย์รวมอยู่แล้ว เมื่อมาเป็นพาร์ตเนอร์กับเราก็สามารถยอดได้ทันที ดีกว่าคุณ ต้องไปเซตอัพเองใน 5 มีเดียแบบที่เรามี และการจะทำแบบเราได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ มีเงิน 100 ล้านจะทำได้ทันที แม้แต่เว็บทีเอ็นเอ็น หรือเว็บเนชั่น ก็เป็นเว็บแนวเดียวกับเว็บผู้จัดการ แต่ถามว่าทำไมจำนวนคนเข้าเว็บถึงเทียบกันไม่ติด เพราะเรามีจิตวิญญาณ เราสร้างคอมมูนิเตี้ออนไลน์ของเรามานาน รู้จักการนำเสนอข่าว จากนั้นจึงเราค่อยๆ ขยายฐานเพิ่มขึ้นๆ ไปสู่สื่อ 5 ขาอย่างที่มีอยู่ในตอนนี้ ฉะนั้นผมกล้าพูดเลยว่า มันเป็นโอกาสเฉพาะเครือผู้จัดการเท่านั้น
ถ้าแนวโน้มเป็นอย่างที่เล่ามาทั้งหมด อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั้งหมดก็ควรต้องปรับตัวเข้าสู่ดิจิตอล
แต่ไม่ใช่ว่าใครจะเดินเข้ามาทำสื่อออนไลน์หรือดิจิตอลแล้วจะสำเร็จทั้งหมด 100%
เราทำเว็บไซต์มาเป็น 10 ปี แต่เหลือรอดไม่กี่ราย เว็บไซต์ manager.co.th เป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่รอดและประสบความสำเร็จ จากผลสำรวจของทรูฮิต เว็บไซต์ manager.co.th ยังได้รับความนิยมสูงสุดติดต่อกันมาต่อเนื่อง 9 ปีแล้ว และมีเป้าหมายต่อไปว่าเว็บ manager.co.th จะต้องรองรับคนอ่านได้ถึง 5 ล้านคนต่อวัน เพราะเวลานี้พอมีเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างเกิดแผ่นดินไหว มีคนเข้าเว็บเราพร้อมกันทีเดียว 3 ล้านคนจากคนไทยทั้งประเทศ 60 กว่าล้านคนจนเว็บล่ม คิดดูว่าเกิดอะไรขึ้น เทียบกับฟรีทีวีถือว่าไม่น้อยเลย ดังนั้นถ้าคนใหม่ๆ จะเข้ามาเวลานี้ต้องบอกเลยว่าเหนื่อย ยกเว้นว่าเขามีอะไรใหม่จริงๆ แต่คนที่ประสบความสำเร็จอย่างเราจะสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้มหาศาล
เมื่อ Go Digital แล้วนิตยสาร POSITIONING จะแบ่งเป็นกี่ขั้นตอน และจะมีการซินเนอยี่กับสื่อในเครืออย่างไรบ้าง
การ Go Digital ของเราจะแบ่งเป็นหลายๆ ส่วนด้วยกัน เรามองว่าคนที่สนใจเรื่องธุรกิจการตลาดต้องมีความรู้ในเรื่องที่กว้างขึ้น เราจึงนำสื่อในเครือมาบูรณาการกัน โดยทำเป็นเซกชั่นธุรกิจใหญ่ขึ้นบนเว็บ manager.co.th เพื่อให้ง่ายต่อการพบเห็น โดยใช้ชื่อเซกชั่นว่า ebiz ประกอบด้วย เนื้อหารายงานการวิเคราะห์หุ้น การเงิน การลงทุนจากช่อง ebiz รูปแบบเนื้อหาจะมีทั้งที่เป็น Text ทีวี และวิทยุ Content อีกส่วนจะมาจาก POSITIONING ซึ่งจะนำเสนอ Case Study ด้านการตลาดที่วิเคราะห์แบบฉับไวที่สุด และ Content อีกส่วนจะมาจากผู้จัดการรายเดือน 360 องศา โดยนำเสนอเกี่ยวคลังข้อมูลธุรกิจ เรื่องราวเกี่ยวกับอินโดจีน และเออีซี รวมทั้งจะมีข้อมูลการเงินและการลงทุนจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน แต่ถ้าอยากรอบรู้เรื่องการตลาดที่อยู่ในกระแสมากๆ ก็เข้าเช็กข่าวจากเว็บไซต์ www.positioningmag.com ได้โดยตรงอีกช่องทางหนึ่ง รวมทั้งจะมีการรวบรวม Case study ที่คนอ่านให้ความสนใจต้องการเก็บไว้อ้างอิงออกมาในรูปแบบของพ็อกเกตบุ๊กด้วย
เครือผู้จัดการจะมีการร่วมมือกับร้านขายหนังสือออนไลน์อย่างไรบ้าง
ในฐานะที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ ใครขายให้ เราก็โอเคหมด แต่ต้องไม่ผูกขาด เพราะคนอ่านก็สามารถซื้อตรงจากเราได้ด้วย
แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจด้วยว่าระหว่างอีแมกกาซีนที่ขายกันทั่วไป กับดิจิตอลแมกกาซีนที่เครือเราทำแตกต่างกันมาก ถ้าต้องการไฟล์ PDF ธรรมดาๆ ที่นำมาแปลงเป็นอีบุ๊ก หรืออีแมกกาซีน ก็สามารถเลือกซื้อผ่านร้านค้าที่ใช้ระบบของ ookbee
แต่ถ้าใครอยากได้มากกว่าไฟล์ PDF ต้องการอ่านในรูปแบบที่ให้ประสบการณ์ดิจิตอล แมกกาซีนเต็มรูปแบบ มีทั้งภาพเคลื่อนไหว วิดีโอคลิป มีลูกเล่นในการนำเสนอ อ่านสนุกมากขึ้น ก็ต้องมาซื้อแอปจากเรา เพราะในที่สุดทุกอย่างมันไม่มีกำแพง ใครจะโหลด จะซื้อจากใครก็ทำได้เลย นี่คือโลกดิจิตอลที่ต้องปรับความเข้าใจกันใหม่ เพราะยังมีคนเข้าใจผิดกันอยู่มากว่า ดิจิตอลแมกกาซีน มีแค่ ookbee เท่านั้น
เราจะทำให้คนเห็นถึงความแตกต่างระหว่างอีบุ๊กและดิจิตอลแมกกาซีนได้อย่างไร
มาร์สออนไอแพด คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างอีบุ๊กกับดิจิตอลแมกกาซีนได้ชัดเจน มาร์ออนไอแพดมีรูปเยอะกว่า ดูภาพเคลื่อนไหวได้ อยากดูฟังก์ชันเปลี่ยนสีรถก็ทำได้หมด มีวิดีโอนางแบบที่มีความยาวมากกว่าในแมกกาซีน ทำให้มารส์ออนไอแพดเป็นรูปแบบที่สำนักพิมพ์ทุกเจ้าใฝ่ฝันอยากทำให้ได้ ซึ่ง POSITIONING จะทำในรูปแบบเดียวกัน รวมทั้งสื่อในเครือก็จะไปในทิศทางนี้ ซึ่งเราเตรียมพร้อมเรื่องการลงทุนไว้พร้อมแล้ว
ในแง่คนทำงาน ต้องปรับตัวอย่างไร
ผมว่าต้องปรับตัวทุกคน สมัยก่อนนักข่าวเวลาไปทำข่าวจะมีเครื่องอัดเสียง กล้องถ่ายภาพนิ่ง เวลาส่งข่าวก็ต้องโทรมารายงานให้กับหัวหน้ากอง แต่เวลานี้ไม่ใช่แล้ว นักข่าวเวลาไปทำข่าว ต่อไปเขามีไอโฟนพร้อมขาตั้ง ถ่ายคลิปส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ตขึ้นเว็บได้เลย หรือนำมาตัดต่อเพิ่มออกอากาศทางทีวีได้ด้วย ข่าวจะถูกเสนอผ่านสื่อที่หลากหลาย สามารถดึงข้อมูล เรื่องเกี่ยวเนื่องมาให้ดูประกอบทันที การนำเสนอจะครบครันมากขึ้น
ถ้ามองในเรื่องของพฤติกรรมคนอ่าน ณ เวลานี้ เนื้อหาที่นำเสนอควรมีทิศทางอย่างไร
เนื้อหายังเป็นเรื่องอะไรก็ตามที่คนอ่านอยากรู้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละช่วงๆ บางช่วงการเมืองแรง คนก็อยากรู้เรื่องการเมือง บางช่วงมีปรากฏการณ์ทางสังคมแปลกๆ ขึ้นมาคนก็จะไปสนใจเรื่องเหล่านั้น แต่เรื่องธุรกิจ เรื่องของการตลาด มักมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้น POSITIONING ยังคงทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี เพราะมีเรื่องราวใหม่ๆ เกิดขึ้นมาหลายมิติในประเทศนี้และทั่วโลกเสมออยู่แล้ว เพราะตรรกะที่ POSITIONING ทำมาตลอด คือ เราเอาเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาอธิบายอย่างรวดเร็วที่สุด เราไม่ได้เปิดตำราเอา Case Study ที่ผ่านไปแล้ว 2-3 ปีนำเสนอ เราตามทันโลกที่ก้าวไปไกลกว่าตำรา
ดูตัวอย่างเรื่องจากปกที่เรานำเสนอตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่กำลังฮอตและมีผลต่อสังคมไทยเสมอ เราทำเรื่อง Youtube ไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก่อนที่ Youtube จะเป็นเบสิกที่ทุกคนใช้กันหมด ถ้าคณะวารสารไม่เอาเรื่อง Youtube มาสอนก็เชย หรืออย่างเรื่อง “What’s app แชตกระจาย” เราเพิ่งทำไปเมื่อต้นปีนี้เอง ผ่านไปแค่ 4 -5 เดือน ปรากฏว่าเวลานี้มีโปรแกรม Line เข้ามาแทนที่แล้ว ปรากฏการณ์มันเร็วขึ้น และมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา หรืออย่าง Instagram ก็เพิ่งทำไปไม่กี่เดือน ปรากฏว่าเฟซบุ๊กซื้อ Instagram ซึ่งมีมูลค่าเป็นหมื่นล้าน เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่โพสิชันนิ่งทำมาตลอด ถามว่ามาร์เก็ตเธียร์ หรือแบรนด์เอจ ทำเรื่องแบบนี้ทันไหม
ในภาคการศึกษาก็เช่นกัน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายของ POSITIONING อยู่นั้น อาจารย์สอนด้านการตลาดสามารถเปิดเว็บโพสิชันนิ่ง หรือโหลดแอปกรณีศึกษาทางการตลาดมาสอนนักศึกษาได้ทันทีเลย แทนที่จะให้นักศึกษาไปซื้อนิตยสารตามแผงหนังสือ อาจารย์แทบไม่ต้องเตรียมเรื่องสอน ส่วนเอเยนซี่เองอยากทันข้อมูลข่าวสารคุณเปิดเว็บไซต์เปิดแอปเราดูและคุณจะได้ทันกับสถานการณ์ ดังนั้นในอีกส่วนหนึ่งเราจึงมีหน้าที่ Educate ให้กับเอเยนซี่โฆษณาด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
มักจะมีคำถามจากคนทั่วไปเสมอว่า ก้าวที่เราไปเพื่อต้องการตัดค่าใช้จ่าย
เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่เหตุผลสำคัญเท่ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ Go Digitalไปแล้ว ถ้าเป็นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราอาจยังไม่คิดเรื่อง Go Digital เต็มตัว เพราะผู้บริโภคยังไม่พร้อม แต่เวลานี้คนทั้งประเทศพร้อมสำหรับการ Go Digital เรียบร้อยแล้ว อยู่ที่ว่าคุณจะกล้าก้าวไปหรือเปล่า เหมือนกับตอนที่เราก้าวไปทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมก่อนคนอื่น มีคนบอกเราบ้าไปหรือเปล่า ปรากฏว่าผ่านมา 4-5 ปีนี้มีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพิ่ม 200 กว่าช่อง มีช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเกิดใหม่ 40 กว่าช่องต่อปี ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เวลานี้ใครบ้างไม่รู้จักเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม Line ใครบ้างไม่มีไอโฟน สมาร์ทโฟน ทั้งผู้บริโภค และอุปกรณ์ทุกอย่างมันรองรับเรียบร้อยหมดแล้ว การก้าวไปสู่ดิจิตอลจะช่วยเป็นการต่อยอดในการสร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าให้เครือของเราได้มหาศาล
สุดท้าย POSITIONING ของเครือของผู้จัดการและไทยเดย์ด็อทคอมที่จะเกิดในโลกดิจิตอล
เราจะเป็นผู้นำของดิจิตอลคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกความสนใจ ถ้าไอโฟน ซัมซุงกาแลคซี่ หรือคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนเสพเรื่องดิจิตอลและทำให้เนื้อหาดิจิตอลครอสไลน์กันได้ เราก็อยากจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ตอบสนองนวัตกรรมเหล่านี้ให้ได้ถึงที่สุด
ผู้นำยุค Go Digital
จิตตนาถ ลิ้มทองกุล กรรมการผู้จัดการ ไทยเดย์ ด็อทคอม และผู้จัดการ 360 องศา กับชุดทำงานสบายๆ ไม่ต้องใส่สูทผูกไทด์ “คนที่จะโกดิจิตอล คือคนทีมีไลฟ์สไตล์สบายๆ ที่สุด อย่างเวลาทำงาน ผมจะไม่อยู่ออฟฟิศมากนัก ยกเว้นเซ็นเอกสาร การใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก ได้พูดคุยกับผู้คน ไปในสถานที่ต่างๆ ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ มาใช้ในการทำงานอยู่เสมอ เช่นเดียวกับประเด็นปกนิตยสาร POSITIONING ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ทางสังคมธุรกิจ ก็มีที่มาจากการทำงานในลักษณะนี้
Related News :
POSITIONING Go Digital The Power of new media (Part I)