น้องใหม่มาแรง! กูลิโกะดัน “อัลมอนด์ โคกะ” ขึ้นเบอร์ 5 ในตลาด ลั่นขอท้าชิงเบอร์ 1 “นมอัลมอนด์”

อัลมอนด์ โคกะ
เปิดตัวมาได้ปีครึ่งแต่กูลิโกะสามารถผลักดันแบรนด์ “อัลมอนด์ โคกะ” ขึ้นสู่อันดับ 5 ในตลาด “นมอัลมอนด์” ได้สำเร็จ ลั่นขอท้าชิงเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ลุยเข็นสูตรใหม่ “มิกซ์ 3 นัท” ลงสนาม พร้อมต่อสัญญาพรีเซ็นเตอร์ “ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่” ช่วยสร้าง Brand Awareness กระตุ้นให้คนไทยหันมาดื่มนมอัลมอนด์

“เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด เปิดเผยความสำเร็จแบรนด์ “อัลมอนด์ โคกะ” (Almond Koka) ของบริษัทหลังเปิดตัวช่วงต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบันสามารถดันแบรนด์ขึ้นเป็นอันดับ 5 ในตลาดนมทางเลือกจากถั่วและธัญพืชเมืองไทยที่มีมูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาทได้ โดยตลาดนมทางเลือกจากถั่วและธัญพืชกลุ่มใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้านมอัลมอนด์

เอ็มดีไทยกูลิโกะบอกด้วยว่า บริษัทมีเป้าหมายจะดันอัลมอนด์ โคกะขึ้นเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มนมอัลมอนด์ให้ได้ โดยยังไม่ได้ระบุไทม์ไลน์ที่ชัดเจนแต่ต้องการจะขึ้น ‘ให้เร็วที่สุดที่ทำได้’

อัลมอนด์ โคกะ
ทีมผู้บริหาร บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด: (ซ้าย) “ทิฆัมพร เพียรวิจารณ์พงศ์” ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ Health & Wellness และ (ขวา) “เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ” กรรมการผู้จัดการ

 

ออกรสชาติใหม่ – พรีเซ็นเตอร์คนเดิม

ด้าน “ทิฆัมพร เพียรวิจารณ์พงศ์” ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ Health & Wellness บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด กล่าวว่า หลังจาก อัลมอนด์ โคกะ เปิดตลาดด้วยนม 3 สูตร คือ สูตรดั้งเดิม, สูตรไม่เติมน้ำตาล และสูตรรสช็อกโกแลต ล่าสุดบริษัทเปิดตัวสูตรใหม่เป็นสูตรที่ 4 คือ “มิกซ์ 3 นัท” ผสมถั่วซูเปอร์ฟู้ด 3 ชนิด คือ อัลมอนด์ วอลนัท และเฮเซลนัท เข้ามาลุยตลาดเพิ่ม โดยยังมีขนาดกล่องบรรจุ 2 ขนาดเหมือนเดิม คือ กล่องเล็ก 180 มล. กับ กล่องใหญ่ 1 ลิตร

ในด้านการตลาดแบรนด์ยังคงต่อสัญญากับพรีเซ็นเตอร์คนเดิมคือ “ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่” ดาราสาวสายสุขภาพดี หุ่นดี เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่สามารถสื่อสารแบรนด์ได้ชัดเจน โดยแบรนด์ “อัลมอนด์ โคกะ” จะเน้นย้ำเรื่องตำแหน่งแบรนด์นมอัลมอนด์อันดับ 1 ในญี่ปุ่น 7 ปีซ้อน และเน้นเรื่องคุณประโยชน์ของสินค้าที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกดื่มนมอัลมอนด์กันมากขึ้น

“ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่” ยึดตำแหน่งพรีเซ็นเตอร์แบรนด์ “อัลมอนด์ โคกะ” ต่อเป็นปีที่สอง

ฑิฆัมพรกล่าวด้วยว่า กลยุทธ์การตลาดหลังเปิดตัวสินค้าสูตรใหม่จะปูพรมโฆษณาทั้งรูปแบบ TVC และออนไลน์ มีการใช้ KOLs เพื่อสื่อสารประโยชน์ของนมอัลมอนด์ให้ชัดเจน ระดมแจก Sampling แจกชิมสินค้าตามจุดที่มีผู้คนพลุกพล่านและหน้าเชลฟ์ขายเพื่อให้ลูกค้าได้ลองรสชาติ โดยเฉพาะตามย่านออฟฟิศซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าที่เน้นสื่อสารกับ “หนุ่มสาวออฟฟิศ” เป็นหลัก

รวมถึงจะมีเพิ่ม “การคอลแลป” กับแบรนด์อื่นๆ ให้มากขึ้นเพื่อขยายการรับรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ ยกตัวอย่างที่ผ่านมาปีนี้มีการคอลแลปกับ “Shokupan” ร้านขนมปังชื่อดังย่านทองหล่อ นำนมอัลมอนด์ไปใช้ผลิตขนมปังสูตรพิเศษ และคอลแลปกับ “O-li-no Crepe & Tea” นำนมอัลมอนด์ไปเป็นทางเลือกในการผสมเครื่องดื่มเฉพาะช่วงเทศกาลเจ

อัลมอนด์ โคกะ
แคมเปญคอลแลปของ “อัลมอนด์ โคกะ” กับร้านขนม-คาเฟ่อย่าง “Shokupan” และ “O-li-no”

 

ตลาด “นมอัลมอนด์” โตพุ่งทะยาน

ด้านตลาดนมและนมทางเลือกในภาพรวม เฉลิมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดนมวัวยังคงใหญ่ที่สุดในสินค้าจำพวกนี้โดยมีมูลค่าตลาดปีละกว่า 35,000 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มนมจากพืช (Plant-Based Milk) ซึ่งมีมูลค่าตลาดปีละเกือบ 20,000 ล้านบาท

ในกลุ่มนมจากพืช (Plant-Based Milk) แน่นอนว่าตลาดใหญ่ที่สุดคือ “นมถั่วเหลือง” ซึ่งทำตลาดกันมาเนิ่นนาน มีมูลค่าตลาดประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่เหลือราว 1,800 ล้านบาทเป็นของนมทางเลือกจากถั่วและธัญพืช ซึ่ง “นมอัลมอนด์” อยู่ในกลุ่มนี้และเป็นกลุ่มสินค้าที่ใหญ่ที่สุด รองๆ ลงไปจะเป็นนมธัญพืชชนิดอื่น เช่น นมโอ๊ต นมถั่วพิสตาชิโอ

เฉลิมพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดนมอัลมอนด์ยังเล็กอยู่มาก ขนาดตลาดห่างจากนมถั่วเหลือง 10 เท่า แต่การเติบโตสูงกว่ามาก โดยนมอัลมอนด์ปีที่ผ่านมาโตถึง 40% แต่นมถั่วเหลืองโตเพียง 6% นั่นทำให้ตลาดนมอัลมอนด์มีผู้เล่นเข้ามากว่า 20 แบรนด์

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ทางแบรนด์ “137 ดีกรี” ภายใต้ บริษัท ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าปัจจุบัน 137 ดีกรีเป็นเบอร์ 1 ของตลาดนมทางเลือกจากถั่วและธัญพืช โดยครองมาร์เก็ตแชร์ที่ 42% และมุ่งมั่นจะรักษาตำแหน่งนี้ไว้ให้ได้

นมอัลมอนด์จึงถือเป็นตลาดที่แข่งขันกันดุเดือดเพื่อหวังจะเป็นผู้นำในช่วงที่กระแสความต้องการกำลังเติบโตได้ดี โดยมีผู้เล่นรายใหญ่ๆ เช่น “137 ดีกรี แบรนด์ที่ก่อตั้งโดยคนไทยและเป็นรายแรกๆ ในตลาดนี้, “อัลมอนด์ บรีซ” จากบลู ไดมอนด์ รายใหญ่สหรัฐฯ หรือ “อัลมอนด์ โคกะ” ของกูลิโกะ ยักษ์ธุรกิจขนมขบเคี้ยวและไอศกรีมจากญี่ปุ่น เข้ามาชิงกัน รวมถึงแบรนด์จากต่างประเทศอีกมาก