พลังเหล่าแฟนด้อมใจฟูเป็นเหตุ โดยหลังจาก ‘กาแฟพันธุ์ไทย’ คว้า ‘คัลแลน–พี่จอง’ มาทำหน้าที่พรีเซ็นเตอร์คู่แรก และส่งแคมเปญ ‘การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู’ การ์ดจุ่มของทั้งคู่ออกมาเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็ทำให้ยอดขายของกาแฟพันธุ์ไทยโต 1.5 เท่า และเพิ่มยอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น 50% ต่อวัน ซึ่งหลังจากนี้จะต่อยอดความสำเร็จด้วยการออกหนังโฆษณา ก่อนจะจัด Fan Meet ของทั้งคู่ช่วงต้นปีหน้า
เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของ ‘กาแฟพันธุ์ไทย’ เมื่อประกาศใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งมา และเลือกสองหนุ่มยูทูปเปอร์คนดังอย่าง ‘คัลแลน–พี่จอง’ มารับหน้าที่นี้
‘อนันต์ รัตนมั่นคง’ Vice President of Food and Beverages Group บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย เล่าว่า
การดีลกับสองหนุ่มคนดังให้มารับหน้าที่พรีเซ็นเตอร์เกิดขึ้นเมื่อครึ่งปีที่ผ่านมา ภายใต้โจทย์ทางธุรกิจ เพื่อสร้าง Brand Awareness และขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ในกลุ่มอายุ 30 ปีลงมา ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่และมีความน่าสนใจ จากเดิมลูกค้าหลักของกาแฟพันธุ์ไทยจะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยตั้งเป้าหมาย จะเพิ่มฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่จาก 20% เป็น 30% ในปีหน้า
“เราทำรีเสิร์ชมาพบว่า ผู้บริโภคมองแบรนด์เราเป็นกาแฟปั๊ม ดูเก่าแก่ เราจึงอยากปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์เราเด็กลง ให้สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น และคัลแลนกับพี่จองทำหน้าที่นี้ได้ดี ที่สำคัญทั้งคู่เป็นแฟนของกาแฟพันธุ์ไทย เป็น Real Customer ของเราจริง ๆ และชอบดื่มอเมริกาโน่อยู่แล้ว”
‘คัลแลน–พี่จอง’ เอฟเฟกต์
ความร่วมมือระหว่างกาแฟพันธุ์ไทย กับคัลแลน–พี่จอง เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 และไปจบเดือนเมษายน 2568 ประเดิมด้วยแคมเปญ ‘การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู’ การออกการ์ดจุ่มของทั้งคู่ให้บรรดาแฟนด้อมได้สะสม โดยลูกค้าที่ซื้อเมนูไทยริกาโน 3 แก้วต่อใบเสร็จ จะได้รับการ์ดพันธุ์ไทยใจฟูแบบสุ่มจากคัลแลนและพี่จอง 1 ใบ มีให้เลือกสะสม 5 แบบ และ 1 แบบซีเคร็ท
หลังจากเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2567 มาถึงตอนนี้ไม่ถึงอาทิตย์ปรากฏว่านอกจากในโซเชียลจะมีกระแสพูดถึงและเอนเกจเมนต์จำนวนมากทั้งกลุ่มแฟนของกาแฟพันธุ์ไทยเดิมและกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้าแล้ว
แคมเปญดังกล่าวยังสามารถทำให้ยอดขายของกาแฟพันธุ์ไทยเติบโตขึ้น 1.5 เท่า และมียอดสมัครสมาชิก MAX Card บัตรสมาชิกที่ใช้สะสมแต้ม เพื่อสร้างลอยัลตี้ โปรแกรมกับลูกค้าในเครือ PTG เพิ่มขึ้น 50% ต่อวัน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อนันต์บอกว่า ‘เกินคาด’ และเตรียมต่อยอดความสำเร็จจากพรีเซ็นเตอร์คู่นี้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อย่างในระยะอันใกล้นี้ได้เตรียมปล่อยหนังโฆษณาชุดใหม่ของกาแฟพันธุ์ไทยที่มีคัลแลนกับพี่จองร่วมแสดงออกมา และจะมีการจัด Fan Meet ของทั้งคู่ประมาณช่วงต้นปีหน้า
“หลายคนถามว่า แฟนด้อมที่ไม่ดื่มกาแฟ แต่มาซื้อพันธุ์ไทยเพราะอยากได้การ์ด เมื่อหมดแคมแปญอาจทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้จะหายไป และการเติบโตของเราจะไม่ยั่งยืน แต่เรามั่นใจในรสชาติและคุณภาพของกาแฟเรา บวกกับการทำมาร์เก็ตติ้งที่ได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากบัตรสมาชิก เราเชื่อมั่นจะดึงพวกเขากลับมาเป็นลูกค้าได้อย่างแน่นอน”
เดินหน้าลบภาพ ‘กาแฟในปั้ม’
นอกจากจะใช้พลังแฟนด้อมใจฟูมาลบภาพ ‘กาแฟในปั๊ม’ ที่ดูเก่าแก่ และแบรนด์มีอายุ เพื่อพิชิตใจลูกค้าคนรุ่นใหม่แล้ว กาแฟพันธุ์ไทยยังมีการวางกลยุทธ์เพื่อขยายฐานลูกค้าดังกล่าวสำหรับสร้างการเติบโตไว้
1. การเร่งขยายสาขาในตัวเมือง โดยเฉพาะเขต CBD (Central Business District) รวมไปถึงโลเคชั่นในสถานศึกษาและตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งตามแผนกาแฟพันธุ์ไทยตั้งเป้าจะมีสาขารวมในปี 2567 อยู่ที่ 1,282-1,300 แห่ง และครบ 2,000 แห่งในปี 2568 จากปัจจุบันมีสาขากว่า 1,200 แห่ง ก่อนจะเพิ่มเป็น 5,000 สาขาในปี 2570
2. การเพิ่มโปรดักส์ในกลุ่ม Specialty Coffee เพื่อให้ภาพของกาแฟพันธุ์ไทยมีวาไรตี้และจับกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย รวมถึงสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบและนิยมดื่มกาแฟประเภทนี้มากขึ้น อย่างล่าสุดได้เปิดตัวกาแฟดริปคอลเลกชั่นใหม่ที่ได้ร่วมมือกับ 10 นักสร้างสรรค์กาแฟไทย ภายใต้โจทย์ ‘ดริป…สร้างชีวิตไม่รู้จบ’
3. ขยายโปรดักส์ในกลุ่ม Non coffee ไม่ว่าจะเป็นชาไทยโกโก้และเมนูอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนผสมของกาแฟให้มากขึ้นเพื่อสร้างความรู้จักและกระตุ้นให้เกิดการทดลองดื่มจากกลุ่มลูกค้าที่ไม่ดื่มกาแฟ
4. การมุ่งทำมาร์เก็ตติ้งในรูปแบบต่าง ๆ โดยในส่วนนี้จะใช้ข้อมูลจาก MAX Card ที่ปัจจุบันมีฐานสมาชิกราว ๆ ล้านใบ วิเคราะห์เจาะลึก Customer Journey ของลูกค้าตั้งแต่เพศ อายุ การใช้จ่าย พฤติกรรมและความชอบ เพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์ตลอดจนแคมเปญการตลาดให้เหมาะสมและตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางผู้บริหารกาแฟพันธุ์ไทยเชื่อมั่นว่า จากการกลยุทธ์ทั้งหมดเมื่อจบปี 2567 กาแฟพันธุ์ไทยจะมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมของตลาดกาแฟในไทยประเมินไว้ว่า จะมีการเติบโตประมาณ 10% คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดกาแฟในบ้าน 33,000 ล้านบาท และตลาดกาแฟนอกบ้านกว่า 27,000 ล้านบาท