เป็นเรื่องน่าจับตามอง เมื่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้เปิดเผยถึงอัตราการจ้างงานในไตรมาส 3 ปี 2567 พบว่า มีคนว่างงาน 414,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.02 % โดยการว่างงานที่เพิ่มขึ้นนั้นมีทั้ง ‘กลุ่มเคยทำงาน’ และ ‘ไม่เคยทำงานมาก่อน’
สำหรับ ‘คนว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน’ มีอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวน 180,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการออกมาจากภาคธุรกิจขายปลีก-ขายส่ง และภาคอุตสากรรมการผลิต
แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ ‘เด็กจบใหม่’ หรือ ‘ผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน’ มีแนวโน้มตกงานเพิ่มขึ้น และนานขึ้น โดยสภาพัฒน์พบว่า คนกลุ่มนี้มีอัตราว่างงานสูงขึ้น 3.5% หรือมีจำนวนไม่ต่ำ 230,000 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับสูงสุดของระดับอุดมศึกษา, มัธยมศึกษาตอนปลายไปจนถึงมัธยมตอนต้น
นอกจากนี้เด็กจบใหม่ยังเป็นกลุ่มผู้ว่างงานที่ยาวนานขึ้นตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้น 16.2% หรือราว ๆ 81,000 คน โดยกว่า 65% ของคนในกลุ่มนี้ระบุว่า หางานไม่ได้ ขณะที่ 71.3% ไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งในจำนวนนี้เกือบ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี
สำหรับเหตุผลของการที่เด็กจบใหม่หรือผู้ไม่เคยทำงานมาก่อนมีแนวโน้มตกงานเพิ่มขึ้นและนานขึ้นนั้น ทางสภาพัฒน์ให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งมาจากมีอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย อาทิ Data Center ขนาดใหญ่, งานประกอบแผงวงจร การผลิตอุปกรณ์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ฯลฯ ซึ่งแรงงานที่ผลิตออกมาอาจไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว
ดังนั้น จึงอยากส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนในการ Upskill และ Reskill กับกลุ่มแรงงานให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม