กลายเป็นวาระระดับชาติในความพยายามลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งในภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัวอย่างมาก เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2593 นั่นจึงได้เกิดงานสัมมนา 2025 Net Zero กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ (Net Zero and the Challenges of The New Global Economy) ที่จัดโดย Ibusiness และสื่อในเครือผู้จัดการ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานผ่านสื่อวิดีทัศน์ และปาฐกถาจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมการแสดงวิสัยทัศน์ จากผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , ธนาคารกรุงไทย, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความตระหนักรู้ มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเสนอแนวทาง กลยุทธ์ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
โดยทางภาครัฐนั้น ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งทาง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มองว่า ในปี 2025 ไม่ใช่เพียงเรื่องของเทคโนโลยีหรือนโยบายแต่เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกต้องพร้อมปรับตัว ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“เรามีแผนที่จะครอบคลุมทุกภาคส่วน ตั้งแต่การใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้คนที่ใช้รถที่มีมลพิษน้อยลง เช่น ไฮบริดและอีวี มากยิ่งขึ้น การสนับสนุนให้ใช้วิธีการปลูกพืชใหม่ใหม่ที่ลดการปล่อยคาร์บอนลง การให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อให้บริษัทไทยสามารถเข้าถึง carbon credit ได้ให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรปการออกกฎหมายเรื่องการคิดภาษีคาร์บอน การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวเป็น 50% การปรับปรุงมาตรฐานคาร์บอนเครดิตเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกมากยิ่งขึ้น นโยบายดังกล่าวไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความท้าทายภายในประเทศ แต่ยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกที่มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม เรามีความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดันให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน”
ปตท.สั่งบูรณาการลดคาร์บอน
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้เรามุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ค.ศ.2050 โดยทิศทางของโลกทั้ง Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานสะอาดขึ้น Digital Transformation ของอุตสาหกรรมต่างๆล้วนมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจและการใช้พลังงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากพลังงานเป็นพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกเกิดความวุ่นวายไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Geopolitics ซึ่งต้องการความต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน 75% คู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วันนี้คงไม่ต้องมีคำถามว่าทำไมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อช่วยโลก รวมถึงช่วยตัวเองเพื่อให้มนุษยชาติอยู่ได้
การใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นถึง 46% จากปี 2000 ซึ่งประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากคือ จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ขณะที่ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1% ของโลก แต่เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากสุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจ การใช้พลังงานต้องทำควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับวันการใช้ถ่านหิน และน้ำมันจะทยอยลดลง แต่ยังคงมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในอัตราที่สูงในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพราะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดสุด ทำให้ก๊าซฯ ยังมีความสำคัญในอีก20-30ปีข้างหน้าแต่จะให้ดีต้องลดคาร์บอนควบคู่กันไปด้วย เพราะพลังงานหมุนเวียน (Renewable ) ยังมีข้อจำกัด ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) และไฮโดรเจนมีต้นทุนที่แพง ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีก
“ปัจจุบันอาเซียนมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเนื่องจากแต่ละประเทศมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเองไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติใช้เองราว 50% ส่วนที่เหลือนำเข้าก๊าซฯจากเมียนมาราว 10% และ LNG นำเข้า ส่วนน้ำมัน ไทยนำเข้ามากถึง 90% ของความค้องการใช้ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน ก็ต้องมีการผลิตจากแหล่งก๊าซฯควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จำเป็นต้องลดปล่อยคาร์บอนควบคู่กันไปเพื่อเป็นพลังงานสะอาดขึ้น โดยเฉพาะโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นโครงการที่ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษา และจะเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยให้ปตท.และประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ซึ่งบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์(Net Zero)ในปี ค.ศ. 2050 เช่นเดียวกับ ปตท.”
บูรณาการความยั่งยืนสร้างสมดุล ESG หันผลิตพลังงานลดคาร์บอนควบปลูกป่ามุ่งnet zero
สำหรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของ ปตท.นั้น ดร.คงกระพัน กล่าวว่า จะดำเนินควบคู่กันในการพัฒนาโครงการ CCS ซึ่งต่างประเทศได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกามีมากกว่า 100 แห่ง และยุโรปก็มีมากเช่นกัน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดย ปตท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถังเก็บคาร์บอนและท่อฯ รวมทั้งประสานกับภาครัฐเพื่อออกกฎหมายรองรับ ขณะที่ ปตท.สผ.จะเป็นแกนนำในโครงการ CCS ส่วนไฮโดรเจนประเทศไทยก็มีศักยภาพ โดยมีการใช้ไฮโดรเจนสีเทา (Gray Hydrogen) ในบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้แผน PDP ฉบับใหม่ ระบุให้มีการใช้ไฮโดรเจนสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าก๊าซฯ แม้ปัจจุบันจะไฮโดรเจนมีราคาแพง แต่ในอนาคตจะค่อย ๆ ถูกลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และควรทำ การทำไฮโดรเจน-CCS ควบคู่กันไปแต่คาดว่าไฮโดรเจนอาจจะเห็นความชัดเจนก่อน เนื่องจากโครงการ CCS ต้องใช้เวลา มีกฎหมายรองรับ
“ภายใต้วิสัยทัศน์ ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ เมื่อ ปตท.แข็งแรง ประเทศชาติก็แข็งแรงด้วย ดังนั้น ปตท.จึงเน้นการเติบโตในต่างประเทศสะท้อนให้เห็นว่า สัดส่วนรายได้ของ ปตท.มากกว่า 50% มาจากต่างประเทศ การบูรณาการ Sustainability เข้าสู่การทำธุรกิจและสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจ ผ่าน C3 approach คือ 1.Climate resilience Business 2.Carbon conscious asset และ 3 Coalition,co-creation and collection efforts for all”
การทำธุรกิจคาร์บอนต่ำของกลุ่ม ปตท.สามารถดำเนินการได้ เช่น การผลิตไฟฟ้าของ GPSC เชื้อเพลิงที่นำมาใช้จะเริ่มเป็นคาร์บอนต่ำ มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และไฮโดรเจนเข้ามามากขึ้น ส่วนธุรกิจในเครือ ปตท.ที่ปล่อยคาร์บอนก็ให้มีการจัดเก็บ โดย ปตท.จะสร้างถังเก็บคาร์บอนบนฝั่งก่อนต่อท่อนำไปฝังเก็บในอ่าวไทยต่อไป 2 ข้อรวมกัน กลุ่ม ปตท.ก็ลดคาร์บอนได้ 50% ส่วนที่เหลือเป็นการทำโครงการ CCS การปลูกป่า นับเป็นการ Integrate ในกลุ่ม ปตท. ทั้งการลดคาร์บอน ความยั่งยืน และการทำธุรกิจให้ไปด้วยกัน โดยมองว่าการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zreo ไม่ใช่ต้นทุน (Cost) แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจ
“โครงการ CCS ทางปตท.สผ. ที่ดำเนินการธุรกิจ E&P มากว่า30ปีเป็นแกนนำ ซึ่งไทยสามารถกักเก็บคาร์บอน (CCS) ได้ 2 วิธี คือ 1. กักเก็บคาร์บอนในหลุมก๊าซที่ไม่ได้ใช้แล้ว เบื้องต้นสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1 ล้านตันคาร์บอน 2. เป็นน้ำเกลือเข้มข้นโดยนำคาร์บอนไปละลายได้ทำได้บริเวณชายฝั่งทะเล ปัจจุบัน ปตท.สผ. กำลังดำเนินการโครงการ sandbox ซึ่งเป็นการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ในแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย ขณะนี้เริ่มทดลองจากการผลิตก๊าซฯแล้วแยกคาร์บอนอัดกลับในหลุม โครงการCCS จะเป็นการเริ่มต้นภายในกลุ่ม ปตท. ก่อนหากประสบความสำเร็จก็จะดึงพันธมิตรและบริษัทเอกชนอื่นๆร่วมด้วยอาทิ กลุ่ม WHA กลุ่มปูนซินเมนต์”
คลังตั้งเป้าลดคาร์บอน30% จ่อใช้กม.บังคับ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้เข้ามาหารือถึงผลกระทบโลกร้อน สิ่งเหล่านี้จะต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ถูกกฏหมาย ทุกภาคส่วนของร่วมมือกัน และตระหนักถึงคำว่า NET ZERO เกี่ยวข้องอะไรกับเรา บางที่ได้ทำพันธสัญญากันแล้ว ต้องทำให้ชัดว่า ต้องปล่อยเท่าไรลดลงได้เท่าไร ในประเทศไทยและในเอเชียที่ตกลงกันไว้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว จะทำอย่างไรให้ระดับการปล่อยคาร์บอนให้เข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุด หรือถ้าทำไม่ได้จะทำอย่างไร จะต้องชดเชยอย่างไร คนที่ทำไม่ได้ต้องเป็นคนจ่ายให้คนทำไม่ได้หรือไม่ มีการดูแลแก้ไขกันไป หากดำเนินการไม่เพียงพอก็อาจจะต้องไปสร้างเพิ่มเติม เช่น ปลูกต้นไม้ ปลูกข้าวแบบใหม่ ที่ลดคาร์บอนเพิ่มขึ้น
“สำหรับภาครัฐก็จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งประเทศไทยได้ให้พันธสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 30% เมื่อประเมินดูในเบื้องต้น ประเทศไทยอาจยังไม่ได้ตระหนักถึงข้อมูลตรงนี้ จึงต้องเร่งดำเนินให้เป็นไปตามกฎหมาย หากลดไม่ได้อาจจะต้องกำหนดให้ผิดกฎหมาย”
เปิด 3 เงื่อนไขดึงต่างชาติลงทุนไทย
นายพิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมียังพื้นที่เหลืออีกมาก ประชากรอยู่ 60 ล้านคน พื้นที่ 360 ล้านไร่ เหลือเพียงพอที่จะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน วันนี้ได้เชิญให้ต่างชาติเข้ามาบ้างแล้ว แต่จะเชิญให้เป็นอุตสาหกรรมที่โนคาร์บอน ปัจจุบันเริ่มเข้ามาแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ส่วน จีน หากถูกกีดกันทางการค้า การลงทุนก็จะไหลเข้ามาในประเทศ ตอนนี้มีคนเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใน 9 เดือนแรกของปี 2567 ทำลายสถิติรอบ 10 ปี สูงสุดอยู่ที่ 7 แสนกว่าล้านบาท หรือ 2 หมื่นกว่าล้านเหรียญสหรัฐ
“ทั้งนี้สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติยังมีความต้องการในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 3 เรื่อง ได้แก่ อยากได้ที่ดินที่มีการพัฒนาแล้วและราคาไม่แพง , อยากได้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว และ อยากได้แรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ โดยยืนยันว่ารัฐบาลยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสร้างองค์ประกอบเหล่านี้ให้ครบถ้วน เหลือเพียงความรวดเร็ว นโยบายพลังงานที่ชัดเจน ซึ่งเราจะให้ความร่วมมือและเร่งทําอย่างเต็มที่”
ธนาคารกรุงไทย แนะไทยไม่ปรับสิ่งแวดล้อม-น้ำกระทบจีดีพีติดลบ 4%
นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย (KTB)
นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า จากข้อมูลที่จำนวนปล่อยคาร์บอนของไทยในสัดส่วนเพียง 1% ของจำนวนคาร์บอนทั้งหมด แต่เราติด TOP 10 ที่จะได้รับผลกระทบจาก Climate change ที่รุนแรง ดังจะเห็นได้จากภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดมีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นภารกิจทุกคนจะต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความเป็นอยู่ในที่ทำงาน เศรษฐกิจชุมชน ไปจนถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ
ทั้งนี้ ในเรื่องของสภาพแวดล้อมนั้น จากรายงานของธนาคารโลก ได้มีการเสนอแนะแนวทางในการดำเนินให้ประเทศไทยในหลายส่วน เช่น ในเรื่องของการบริการจัดการน้ำ รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลด้านอากาศ น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม และการประมง ทั้งนี้ หากประเทศไทยยังคงไม่ปรับตัวในเรื่องดังกล่าว กระทั่งปี 2050 อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อจีดีพีถึง -4% และคาดว่าเกิดผลกระทบต่อภาคการเกษตรและประมงได้ถึง 3.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืนต้องใช้วงเงินลงทุนในระดับที่สูง โดยจากการคาดการณ์เม็ดเงินลงทุนที่จะใช้ในการเปลี่ยนผ่านของไทยนั้นอยู่ที่ 1.84 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เราเพิ่งมีเม็ดเงินลงทุนไปเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น เรื่องของเม็ดเงินลงทุนเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา
นอกจากนี้ เรามองปัจจัยที่ความท้าทายต่อ Green Transition ในอีกมิติ คือ การจัดการในเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบในสัดส่วนที่สูงถึง 48% ของจีดีพี และเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อ Green Transition เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ได้ถูกบันทึกทำให้กำกับดูแลเป็นเรื่องที่ยาก รวมไปถึงการเข้าไปช่วยเหลือ ดูแลในเรื่องต่างๆทำได้ยากเมื่อเกิดปัญหา รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย
“ในท้ายที่สุดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืน เป็นเรื่องที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งทำแต่เพียงลำพังไม่ได้ เป็นสิ่งที่ 3 แกนหลักได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน โดยภาครัฐจะต้องดูแลในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อ รวมถึงแรงจูงใจต่างๆ ในการลงทุน การเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการให้ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านและความรู้ในการเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ภาคเอกชนรายใหญ่เองก็ต้องช่วยดูแล Supply Chain ของตนเองให้สามารถเปลี่ยนผ่านได้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และภาคประชาชนต้องตระหนักในเรื่องดังกล่าวเช่นกันโดยการปรับตัวพัฒนา skill ที่มีประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านต่อไป”
WHA เร่งใช้พลังงานสะอาด สู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2050
น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) (WHA)
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า WHA จะมอง 3 เรื่องคือ geopolitical tention ,Sustainability และ Tecnology inflastructer เราจะมองเทรน นำมาปรับการลงทุนใน 3 เมกกะเทรนนี้ ที่ผ่านมาโลกประสบปัญหามาก ทั้งอย่าง เรนบอมส์ต่างๆ ซึ่งลูกค้าก็ประสบมาหลากหลาย โดยปัจจุบัน WHA มีลูกค้าต่างชาติมากกว่า 85% หลายปีมานี้พบว่านักลงทุนที่เข้ามา จะถามหาพลังงานสะอาด 100% ล่าสุดที่ WHA ได้เซ็นสัญญากับกูเกิล และต้องการพลังงานสะอาด 100 % ทำให้บริษัทต้องใส่ใจกับพลังงานสะอาด 100 % และหาปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อตอบโจทย์ เพราะเราใช้น้ำมาก มีการปล่อยน้ำจากธรรมชาติมาก และปล่อยน้ำเสียมาก ทั้งนี้ก่อนจะเกิดสงครามการค้า เรามี 4 ธุรกิจหลักๆ และได้รับการกระทบเต็มๆ ทำให้เราใส่ใจว่าจะปรับตัวอย่างไร ต้องลงทุนระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการย้ายฐานการลงทุน โดยที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พบว่า มีนักลงทุนสนใจเข้ามากว่า 500 ราย โดยยุค “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งแรก มีการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนจากทั่วโลก และในรอบนี้ new economy ก็ต้องเตรียมรับการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนจากต่างประเทศ
“ในส่วนของ WHA ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานทุกสายธุรกิจ อย่างการสร้างศูนย์กระจายสินค้า ส่วนในธุรกิจขนส่ง WHA ได้หันไปรุกการใช้ รถ EV เพื่อลดปริมาณคาร์บอน เพราะลูกค้าส่วนมากเป็น global และเป็นบริษัทขนส่งขนาดใหญ่ ส่วนในไทยนั้นมีรถขนส่งกว่า 4 ล้านคัน ก็ต้องมาคิดกันว่าจะช่วยให้ลดการใช้รถขนส่งให้เป็น ev ได้อย่างไรใน 3 ปีนี้ และไทยต้องทำให้ได้ เราจึงมองกรีน โลจีสติกส์ เพราะ เป็น end to end process จึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับและเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันและลดต้นทุนการดำเนินงานได้ด้วย ส่วนกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แม้ WHA จะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ลูกค้าของเราในนิคมปล่อยก๊าซคาร์บอนเต็มๆ เราจะทำอย่างไร”