เมืองแห่งคอนเทนต์! “ไทย” มีครีเอเตอร์เยอะเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองอินโดฯ 

จากข้อมูลของ DAAT (สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) เผยว่า การเติบโตของสื่อโซเชียลมีเดียที่มีการรวมการทำคอนเทนต์และการใช้อินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นกว่า 3.3% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,686 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ทำให้ คอนเทนต์ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจที่เหล่านักการตลาดและเจ้าของธุรกิจต้องให้ความสนใจและมีการพัฒนาไอเดียทำคอนเทนต์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย (GroupM)

“ไทย” มีครีเอเตอร์เยอะเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดฯ 

ปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย (GroupM) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคที่พฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับสื่อที่มีความ Authentic หรือสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น การทำคอนเทนต์ผ่านครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์รวมทั้งการใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือต่างๆ มาประกอบคอนเทนต์ กลายเป็นอาวุธสำคัญในการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากจะเชื่อมโยงการสื่อสารทางการตลาดไปสู่ผู้คนทั่วโลกได้แล้ว ยังสามารถดึงดูดให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ผ่านครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์นั้นๆ ทำให้ต่อยอดไปสู่การสร้างยอดขายได้จริงผ่าน Content Commerce (การทำคอนเทนต์ในเชิงพาณิชย์) ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า 1 ใน 2 หรือคิดเป็น 30% ของผู้บริโภค มักถูกใจและมั่นใจในคอนเทนต์ที่มาจากครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในคอมมูนิตี้หรือเรื่องนั้นๆ เช่น บิวตี้ หรือ เกม มากกว่าคอนเทนต์ที่มาจากแบรนด์โดยตรง

ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนครีเอเตอร์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ชั่วโมงทั่วโลกกว่า 285 คน โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนครีเอเตอร์อยู่เยอะเป็นอันดับ 2 ใน SEA เป็นรองแค่อินโดนีเซียเท่านั้น

เทรนด์คอนเทนต์ปี 2024

WiseSight บริษัทให้บริหารวิเคราะห์ข้อมูล Social Media เผยว่า Theme Content ที่ได้รับความนิยมในปี 2024 มีอยู่ด้วยกัน 6 ประเภท ได้แก่

  • Family & Pet
  • Working & Money 
  • Believe & Mutelu
  • Entertainment (Celeb, Fandom, Music, Game, Sport, การประกวด)
  • Lifestyle (Food, Health, Travel)
  • Social Issue (การเมือง และ ความเท่าเทียม)

นอกจากนั้นยังมีสไตล์ของคอนเทนต์อีก 6 สไตล์ที่ได้รับความนิยมในปี 2024 เช่นกัน อาทิ

  • Meme (มีมตลก)
  • Mentality (จิตวิทยา)
  • Surprise Knowledge (ความรู้ใหม่ๆ ที่น่าประหลาดใจ)
  • Yes, I am (ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมนั้นๆที่เหมือนกันของคน)
  • Game & Challenge 
  • Vlog / Behind The Scene

ครีเอเตอร์เร่งปรับตัว รับพฤติกรรม “ออนดีมานด์”

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป รวมถึงการเสพสื่อความบันเทิงก็มีหลากหลายมากขึ้น ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องเร่งปรับตัว ผลิตคอนเทนต์ออกมาแต่ละชิ้นงานก็ต้องมีความทันสมัยและตอบโจทย์เพื่อมัดใจผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

ณฤทธิ์ ยุวบูรณ์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ “ธี่หยด” กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเป็นพฤติกรรมแบบออนดีมานด์ คือ ต้องการความสะดวกสบาย เข้าถึงง่าย เมื่อพอใจจึงตัดสินใจซื้อและต้องได้ในเวลาอันรวดเร็ว 

ต้องยอมรับว่าส่งผลต่อแวดวงการหนังจอเงินไม่น้อย เพราะเมื่อก่อนเวลาจะดูหนังผู้บริโภคมักจะเดินทางไปที่โรงหนังเพื่อเลือกเวลาฉายและซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังในโรง แต่ปัจจุบันผู้บริโภคจะเลือกดูหนังตามกำหนดการของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแพลตฟอร์มที่จะดู เวลาที่สะดวกดู ไม่ซีเรียสว่าจะดูจบหรือไม่ 

ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคนิยมจ่ายเงินเพื่อซื้อแพ็กเกจเพื่อดูหนังในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้หนังหรือคอนเทนต์ประสบความสำเร็จแล้ว ผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ หรือผลิตหนังสักหนึ่งเรื่องจะต้องมีการรีเสิร์ชข้อมูลเพื่อมากำหนดตีมคอนเซ็ปต์ของหนังให้มีความสมเหตุสมผล มีความเป็นธรรมชาติ ทำยังไงให้ดึงดูดความสนใจของผู้ชม เรื่องโปรดักชั่นก็ต้องดีและการวางแผนการตลาดที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน

“ไทย” เตรียมปั้นคอนเทนต์เทียบชั้นเกาหลีใต้

อภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พฤติกรรมการดูคอนเทนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสมาร์ทโฟนที่รูปแบบการดูสตรีมมิ่งได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงสู่รูปแบบใหม่ที่มีความออนดีมานด์มากขึ้น ซึ่งคลิปสั้นในรูปแบบคอนเทนต์ 1-2 นาที อาทิ มีมข่าว เป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมของคนดูและกำลังได้รับความนิยม

จากปัจจัยดังกล่าว ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ทาง TV ก็ต้องบอกว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้คอนเทนต์ละครที่ผลิตออกมา ตอบโจทย์ผู้บริโภค ที่มีอยู่ทุกกลุ่มทุก GEN 

โดยใช้การเก็บข้อมูลผู้ใช้งานที่บริษัทฯ เห็น เช่น ความถี่และช่วงเวลาในการเข้าชม หรือ คอนเทนต์แนวไหนที่กำลังเป็นที่นิยม เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้วก็นำมาวิเคราะห์และมีการนำเสนอออกไปยังไงให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนดู ให้คนดูหรือผู้บริโภคกลับมาที่แพลตฟอร์มเราอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มให้เลือกเสพมากมายและผู้บริโภคแต่ละคนก็มีแพลตฟอร์มที่ชอบในใจ เช่น บางคนชอบเข้า TikTok บางคนชอบดูผ่านสตรีมมิ่ง เป็นต้น

ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ เน้นผลิตคอนเทนต์แนว Empower Women (หญิงเก่ง หญิงแกร่ง) มากขึ้นเนื่องจากเป็นแนวที่ขับเคลื่อนการเติบโตของแพลตฟอร์ม TV และได้รับความนิยมอย่างมาก หากผู้ผลิตไทยปรับตามดีมานด์และผลิตคอนเทนต์ตอบสนองผู้บริโภคในระดับสากลได้ ก็จะได้ฐานกลุ่มอินเตอร์แฟนจำนวนมาก ผนวกกับมีความร่วมมือภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็จะส่งผลให้ไทยก้าวสู่ประเทศดาวรุ่งต่อจากเกาหลีใต้ได้เลยทีเดียว

คอนเทนต์พากย์ไทยเจาะตลาดสูงวัย ทำซีรีส์จีนโต 27% 

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า WeTV คือ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งเพื่อความบันเทิงที่มีคอนเทนต์คุณภาพจากทั่วเอเชีย ทั้งซีรีส์ วาไรตี และอนิเมะ ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในแพลตฟอร์มก็เป็นพฤติกรรมแบบออนดีมานด์เช่นกัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคอนเทนต์ในภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งคอนเทนต์จีนมีอัตราการเติบโตสูงกว่า 27% ซึ่งในกลุ่มผู้ใช้งานในเขตเมืองรองนั้นมีอัตราการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุจะมีจะนิยมคอนเทนต์พากย์ไทยของทางแพลตฟอร์มกันเป็นส่วนมาก ทำให้ WeTV มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

WeTV มีทั้งการเลือกนำซีรีส์จีนเข้ามาฉายบนแพลตฟอร์ม และผลิตคอนเทนต์ซีรีส์ไทยส่งออกต่างประเทศเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการทำให้แพลตฟอร์มมีความสดใหม่อยู่ตลอดเวลา และการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคก็สำคัญ 

การส่งออกซีรีส์ไทย ทางแพลตฟอร์มก็มีเกณฑ์ในการคัดเลือกที่ค่อนข้างเยอะ แต่ปัจจัยหลักคือการเลือกนวนิยายที่ได้รับความนิยมและมีฐานแฟนคลับอยู่แล้วมาต่อยอดผลิตเป็นซีรีส์ เป็นต้น

ส่วนซีรีส์จีนที่ฉายบน WeTV มีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นแพลตฟอร์มในเครือของบริษัท เทนเซ็นต์ ที่เป็นบริษัทไอทีของจีนที่ทำธุรกิจด้านความบันเทิงด้วย  ซึ่งใน 1 ปี บริษัทฯ มีการผลิตซีรีส์จีนกว่า 80 เรื่อง ทำให้สามารถเลือกนำ  ซีรีส์เข้ามาฉายบนแพลตฟอร์มได้หลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นคอนเทนต์ที่ย่อยง่าย 

เช่น เรื่องเกี่ยวกับความรัก ตลก หรือคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทั้งทางเพศและความคิดสร้างสรรค์ ก็กำลังเป็นที่นิยมมากในแพลตฟอร์ม ฉีกกรอบการดูซีรีส์จีนแบบเดิมๆ ที่เมื่อก่อน มักจะเป็นแนวต่อสู้กำลังภายในเสียส่วนใหญ่