ปัจจุบัน Sustainability ไม่ใช่แค่นโยบายองค์กรที่สะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทว่าได้กลายเป็นหนึ่งในกฏเกณฑ์ของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเวทีระดับชาติ ทำให้องค์กรต่าง ๆ วางเรื่องนี้ไว้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ
รวมถึง ‘บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน)’ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์โคคา-โคล่าใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้ใช้เงินราว 3,000 ล้านบาท ลงทุนในโรงงานพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่ยั่งยืน ทั้งเปิดไลน์การผลิตขวดแก้วแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการยกเครื่องบรรจุภัณฑ์ให้ลดการใช้พลาสติกและเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็มีการนำเทคโนโลยี ตลอดจนแนวคิดต่าง ๆ มาใช้ภายในโรงงานแห่งนี้ เพื่อให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำและพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อโลก รวมถึงสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบบยั่งยืน
ต้นแบบโรงงานยั่งยืนของหาดทิพย์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 315 ไร่ เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2556 สำหรับรองรับการขยายตัวทางธุรกิจและให้บริการผู้บริโภคในภาคใต้ตอนบน มีด้วยกัน 6 ไลน์การผลิต รองรับการผลิตทั้งขวด PET กระป๋อง ขวดแก้วชนิดคืนขวดและไม่คืนขวด รวมไปถึง Fountain หัวเชื้อเข้มข้นสำหรับตู้กดน้ำ และมีคลังสินค้าพื้นที่ 22,000 ตร.ม.
การขับเคลื่อนนโยบายความยั่งยืนในโรงงานแห่งนี้ จะดำเนินการผ่านหลายแนวทาง ได้แก่
การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์
หาดทิพย์มีเป้าหมายต้องการการออกแบบและคิดค้นบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% และมีส่วนประกอบจากพลาสติกรีไซเคิลให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 ตลอดจนจัดเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อนำมารีไซเคิลในปริมาณที่เทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ออกสู่ตลาดให้ได้ ภายในปี 2573
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว หาดทิพย์ได้ดำเนินการผ่านหลายแนวทาง หนึ่งในนั่น คือ การเปิดไลน์การผลิตขวดแก้วใหม่ ที่ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของหาดทิพย์ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วชนิดคืนขวดยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในช่องทางโรงแรม ร้านอาหาร และภัตตาคารในพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นประเภทของบรรจุภัณฑ์ที่หาดทิพย์มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าคู่แข่ง และยังช่วยเสริมความสามารถในการบริหารต้นทุนบรรจุภัณฑ์ในระยะยาวให้ดียิ่งขึ้นด้วย
สำหรับสายการผลิตขวดแก้วใหม่ที่เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน มีกำลังการผลิตขวดแก้ว 800 ขวดต่อนาที และมีการเปลี่ยนมาใช้ฉลากกระดาษที่ย่อยสลายได้บนขวดแทนการสกรีนสี เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น โดยขวดแก้วแบบใหม่นี้จะทยอยออกสู่ตลาดภายในสิ้นปี 2567 และหลังจากนี้ จะมีการทยอยปรับการผลิตเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วจากที่โรงงานหาดใหญ่มายังโรงงานพุนพิน คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567
ขณะที่การส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ได้มีการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียน พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อลดปริมาณและน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์
นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา หาดทิพย์สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ลงถึง 911 ตัน และลดการใช้อะลูมิเนียมลง 404 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ส่วนในปี 2567 บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะลดน้ำหนักพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ลงให้ได้ 800 ตัน โดยล่าสุดสามารถลดน้ำหนักพลาสติกที่ใช้ผลิตฝาขวดน้ำอัดลมจาก 2.45 กรัม เหลือ 1.75 กรัม ช่วยลดการใช้พลาสติกได้ 28%
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
โรงงานใหม่นี้ ถูกออกแบบมาให้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการที่ลดการใช้และหมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำได้ 100% ในการผลิตที่ไม่ใช่ส่วนประกอบของเครื่องดื่ม
- ลดการใช้น้ำในการผลิต โดยตั้งเป้าลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต จากปัจจุบัน 1.54 ลิตรต่อหน่วยการผลิต ให้เหลือ 1.39 ลิตรต่อหน่วยการผลิต ภายในปี 2573 ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น การปรับขนาดหัวฉีดล้างขวดแก้ว การติดตั้งเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบแผ่น และการติดตั้งระบบล้างรถอัตโนมัติที่ใช้น้ำจากการหมุนเวียน
- โครงการ UF Recover Backwash ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ไส้กรอง Ultrafiltration ซึ่งสามารถนำน้ำสะอาดกลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 44,513 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อเทียบกับระบบเดิมในปี 2565 ช่วยลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ถึง 9%
- ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อปรับเสถียร บนพื้นที่ 26 ไร่ ซึ่งใช้พลังงานต่ำ โดยใช้แบคทีเรียที่ไม่ต้องการอากาศ (Anaerobic) ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย สามารถรองรับน้ำทิ้งได้เพียงพอกับกำลังการผลิตของโรงงาน และเป็นไปตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การบริหารจัดงานทางด้านนี้ หาดทิพย์ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารผลิต และแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ จำนวนมากกว่า 9,000 แผง ที่โรงงานพุนพิน ช่วยผลิตพลังงานทดแทนมาใช้ภายในโรงงานได้ 19% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 3,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติม โดยคาดว่า จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานได้ 28% ก่อนสิ้นปี 2568
ขณะที่การใช้พลังงานทดแทน เช่น เพิ่มการใช้รถยกไฟฟ้าในคลังสินค้า จำนวน 29 คัน และใช้รถขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิง NGV จำนวน 8 คัน นอกจากนี้ โรงงานพุนพินยังติดตั้งหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง LPG รวมถึงระบบหมุนเวียนความร้อนกลับมาใช้ใหม่
การดำเนินการทั้งหมด จะมีการประเมินผลอย่างจริงจัง เช่น การประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมขององค์กรที่จะมีการประเมินเป็นประจำทุกปี เพื่อพัฒนาการดำเนินงาน และขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยในปี 2567 บริษัทฯ ได้ขอการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของหน่วยสินค้าจำนวน 83 ประเภท