ธุรกิจฟิกบอร์ดแบนด์ หรือ เน็ตบ้าน แม้จะเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับ โมบาย แต่ความยากถือว่าต่างกัน เพราะมีต้นทุนที่สูง แถมมีความเสี่ยงมากกว่า ทำให้ กำไร น้อยกว่าธุรกิจโมบาย ดังนั้น ความท้าทายคือ การเพิ่มกำไรโดยไม่ขึ้นราคา
ธุรกิจเน็ตบ้าน ต้นทุนสูงกว่าโมบาย
ดูเหมือนสงครามราคาในตลาด เน็ตบ้าน แม้จะยังมี แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ต้นทุน ที่สูงเมื่อเทียบกับธุรกิจโมบาย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการติดตั้ง อุปกรณ์ที่ต้องมีให้ลูกค้า แถมยังมีความเสี่ยงเรื่องของความเสียหายสายไฟเบอร์ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ผู้ในตลาดทุกรายคงไม่อยากจะแข่งราคาแน่นอน แต่แข่งกัน เข้าใจผู้บริโภค ว่าต้องการอะไรมากกว่า และเพิ่มบริการต่าง ๆ เพื่อ สร้างมูลค่า
“แน่นอนว่าธุรกิจเน็ตบ้านกำไรไม่ได้ดีเท่ามือถือ เพราะมีต้นทุนสูงกว่า อย่างโมบายลูกค้าลงทุนซื้อมือถือเอง มือถือพังลูกค้าเปลี่ยนเอง แต่เน็ตบ้านไม่ใช่ ต้องมีช่างเข้าไปดูที่บ้าน สายขาดก็ต้องซ่อมเอง เราเตอร์ก็ต้องเปลี่ยนให้ลูกค้า” ธีร์ สีอัมพรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจบรอดแบนด์ AIS อธิบาย
ชูความบันเทิง สร้างรายได้ใหม่
การจะทำกลยุทธ์เรื่องราคาอาจไม่ใช่ทางที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่ ธีร์ มองว่า ผู้บริโภคเองก็ ไม่ได้ต้องการของถูกที่สุด แต่ต้องการบริการที่เหมาะสมกับราคา ซึ่งปัจจุบัน ARPU เฉลี่ยของเอไอเอสไฟเบอร์อยู่ที่ 505 บาท ซึ่ง ธีร์ มองว่า เป็นราคาเฉลี่ยที่ลูกค้า จ่ายไหว
ดังนั้น เพื่อไม่ต้องลดกำไรของตัวเอง กลยุทธ์ของเอไอเอสจึงชูเรื่องของ ความบันเทิง เพื่อสร้าง จุดแตกต่าง และเป็นการ เพิ่มมูลค่า ไปในตัว เอไอเอสจึงเปิดตัว Sound Bar Android TV รุ่นแรกของไทย ที่รวมความบันเทิงทั้งคาราโอเกะ และบริการสตรีมมิ่งในตัวเดียว โดยจะมี ค่าสมาชิกรายเดือน 350 บาท/เดือน พร้อมค่าแรกเข้า 1,000 บาท โดยผู้สมัคร 5,000 คนแรกจะได้รับแพ็กเกจสตรีมมิ่ง Max Ultimate ฟรี 12 เดือน พร้อม AIS Karaoke นาน 24 เดือนด้วย
“เรามองว่าพฤติกรรมคนเดี๋ยวนี้สามารถหาความสุขได้จากที่บ้าน ดังนั้น เรามองว่าสิ่งที่ตอบโจทย์ว่าอะไรจะทำให้อยู่ร่วมกันได้ ก็คือการดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง และการทำตลาดของไฟเบอร์ไม่ใช่การนำเสนอแค่เรื่องความเร็ว แรง แต่ต้องแข่งขันกันที่ความเร็วในการให้บริการด้วย และต้องเข้าใจพฤติกรรมการใช้งาน เพื่อสร้างจุดแตกต่าง”
กลุ่มที่อยู่ตัวคนเดียว โอกาสใหญ่ขยายตลาด
ปัจจุบัน ตลาดไฟเบอร์มีการเติบโตเฉลี่ย +5% ต่อปี ปัจจัยที่เติบโตคือ การเติบโตของตัวเมือง ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสินค้าและบริการที่ตรงใจมากขึ้น แต่มีอีกโอกาสใหญ่ที่เอไอเอสเห็นก็คือ กลุ่มคนที่อยู่คนเดียว ที่มักมองว่า ใช้โมบายก็เพียงพอ ดังนั้น การจับลูกค้ากลุ่มนี้จะช่วยขยายตลาดได้ แต่โจทย์คือ ทำอย่างไรให้เขาเห็นประโยชน์ของเน็ตบ้าน
สำหรับ 9 เดือนแรก เอไอเอสมีลูกค้าเพิ่ม +2 แสนราย และคาดว่ารวมไตรมาส 4 จะมีลูกค้าใหม่ทะลุ 2.7 แสนราย ส่งผลให้ภายในสิ้นปี เอไอเอสจะมีลูกค้ากว่า 5 ล้านราย จากที่ต้นปีมีประมาณ 4.7 ล้านราย และเมื่อคิดจากผู้ใช้งานเน็ตบ้านในประเทศไทยทั้งหมด 10.6 ล้านครัวเรือน เอไอเอสจะมีส่วนแบ่งตลาดที่ 46.6%
สำหรับเป้าหมายปีหน้ามั่นใจว่า จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 2.7 แสนราย และเชื่อว่าการควบรวมระบบจะแล้วเสร็จปลายปีหน้า และถ้าควบรวมเสร็จมีโอกาสจะเหลือแบรนด์เดียว