ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจ จากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของเครดิตบูโร (NCB) เฉลี่ย 1.7-1.8 ล้านบัญชีต่อไตรมาส (ข้อมูลถึง ณ ไตรมาส 2/2567) พบอินไซต์น่าสนใจ ดังนี้
คุณภาพหนี้ถดถอยยาวตั้งแต่ปลายปี 66
ช่วงหลังเกิดโควิด สัดส่วนหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ขึ้นจุดสูงสุดที่ 7.18% ณ ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ก่อนจะค่อย ๆ เข้าสู่ทิศทางดีขึ้น โดยในช่วงปี 2566 อยู่ระหว่าง 4.60-4.70%
แต่ในปีนี้คุณภาพหนี้ได้ถดถอย จนสัดส่วนหนี้ค้างชำระกลับมาแตะระดับ 5.02% ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 จากการหมดแรงส่งของมาตรการช่วยเหลือ และเศรษฐกิจเปราะบาง ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
ธุรกิจยิ่งเล็ก หนี้เสียยิ่งสูง
เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้ค้างชำระ ทั้งกลุ่มหนี้ที่เพิ่งมีวันค้างชำระ (1-30 วัน) และหนี้เอ็นพีแอล (ค้างชำระเกิน 90 วัน) เรียงตามสัดส่วนมากไปหาน้อย จะเป็นธุรกิจขนาดยิ่งเล็กยิ่งมีปัญหา ดังนี้
- Super Micro (มียอดสินเชื่อคงค้างน้อยกว่า 5 ล้านบาท)
- Micro (มียอดสินเชื่อคงค้าง 5-20 ล้านบาท)
- Small (มียอดสินเชื่อคงค้าง 20-100 ล้านบาท)
- Medium (มียอดสินเชื่อคงค้าง 100-500 ล้านบาท)
“คุณภาพหนี้เริ่มถดถอยลง ไล่เรียงจากธุรกิจขนาดจิ๋วมาที่ขนาดเล็กและกลาง สะท้อนความอ่อนไหวของภาคธุรกิจต่อปัจจัยแวดล้อมที่มากขึ้นเมื่อธุรกิจมีขนาดที่เล็กลง”
อสังหา-ที่พัก-อาหาร-ค้าปลีก เป็นหนี้เรื้อรัง มากสุด
ทั้งนี้ กลุ่มที่มีสัญญาณของ “ปัญหาหนี้เรื้อรัง” มีสัดส่วนหนี้ค้างชำระทุกระยะต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ประมาณ 9.47% ในไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้นชัดเจนจากระดับ 5.50% ณ ไตรมาส 2/2564 ตามหนี้ชั้นเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น
สะท้อนว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หรือการเยียวยาปัญหาหนี้ของภาครัฐและสถาบันการเงินระหว่างทางเท่าที่ควร
ในแง่หนี้เรื้อรังส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง บริการที่พักและอาหาร ค้าส่งค้าปลีก และภาคการผลิต หลัก ๆ มาจาก
- ปัญหาหนี้ครัวเรือนกดดันอำนาจการซื้อ
- สงครามการค้า ส่งผลให้สินค้าต่างประเทศราคาถูกมาทุ่มตลาดในไทย หลังจากส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง อาทิ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ธุรกิจรายเล็ก พึ่งหนี้นอกระบบสัดส่วน 42.8% จากเดิม 21.3%
อย่างไรก็ดี หากต้นเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ปี 2568 จะเป็นอีกปีที่เราจะเผชิญกับปัญหาสินเชื่อใหม่ที่เติบโตต่ำท่ามกลางตลาดผู้กู้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ที่จำกัดลง และหนี้ด้อยคุณภาพที่ยังจะมีทิศทางเพิ่มขึ้น
ขณะที่ผู้ประกอบการและครัวเรือนที่ประสบปัญหาเรื้อรังอาจต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งผลสำรวจของ สสว.ในไตรมาส 3/2567 ชี้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีพึ่งพำหนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ดังนี้
- ภาพรวม MSME ใน Q3/67 พึ่งพาหนี้นอกระบบสัดส่วน 42.8% จาก Q2/67 อยู่ที่ 21.3%
- กลุ่ม Micro (ธุรกิจรายย่อย) ใน Q3/67 พึ่งพาหนี้นอกระบบสัดส่วน 46.6% จาก Q2/67 อยู่ที่ 20.3%
- กลุ่ม Small (ธุรกิจขนาดย่อม) ใน Q3/67 พึ่งพาหนี้นอกระบบสัดส่วน 45.1% จาก Q2/67 อยู่ที่ 27.8%
- กลุ่ม Medium (ธุรกิจขนาดกลาง) ใน Q3/67 พึ่งพาหนี้นอกระบบสัดส่วน 19.7% จาก Q2/67 อยู่ที่ 17.4%
ผลสำรวจ ชี้ เอสเอ็มอี ต้องการภาครัฐหนุนเศรษฐกิจ-อยากให้แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้
ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำนวน 400 ตัวอย่าง (ณ สิ้นเดือน พ.ย. 67) ชี้ถึงความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แบ่งเป็น
1.ความต้องการต่อภาครัฐ
- การสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวม เพื่อให้เกิดผลดีต่อรายได้ของธุรกิจ (28.5%)
- การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสและความสะดวกในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (22.7%)
- การช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อลดภาระหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้ (22.0%) ต่อลมหายใจเฉพาะหน้า
2.ความต้องการต่อสถาบันการเงิน
- การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ยอดผ่อนต่อเดือนสอดคล้องกับรายได้ (21.2%)
- การปรับเงื่อนไขและขั้นตอนการขอสินเชื่อให้เหมาะกับลูกค้า (20.0%)
- การกำหนดค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงกับลูกค้าแต่ละราย (17.5%)