เชื่อว่าคนไทยไม่มีทางลืมเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือช่วงกลางปี เพราะถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี แต่ที่หลายคนไม่รู้ก็คือ ภาคเหนือ คือภูมิภาคที่เจอภัยพิบัติเกือบทุกรูปแบบ ยกเว้นแค่ สึนามิ และนี่คือความท้าทายอย่างยิ่งของ เอไอเอส ที่จะการันตีการเข้าถึงสัญญาณ
ความสำคัญของภาคเหนือ
ประชากรไทยมีทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน เฉพาะภาคเหนือมีประชากรกว่า 11 ล้านคน แต่อย่างที่หลายคนรู้ว่าภาคเหนือเป็นอีกภูมิภาคที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะ เชียงใหม่ ที่ติดอันดับ 4 เมืองน่าเที่ยวของโลก โดยตลอด 9 เดือนแรกที่ผ่านมา เชียงใหม่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 8 ล้านคน
นอกจากนี้ ภาคเหนือยังเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายของชนเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่เพียงเท่านี้ ภาคเหนือยังเป็นภูมิภาคที่มี Digital Nomad และ Migrant Worker รวมกว่า 3 แสนราย ดังนั้น ลูกค้าของ เอไอเอส (AIS) จึงไม่ใช่แค่คนในพื้นที่เท่านั้น
ภูมิศาสตร์ ชาเลนจ์สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ 78% เป็น ทิวเขา ทำเป็นข้อจำกัดในการยิงสัญญาณเป็นทางตรง นอกจากนี้ ภาคเหนือยังเป็นภูมิภาคที่ต้องเจอกับ ภัยพิบัติเกือบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า, พายุฝน, น้ำท่วม และแผ่นดินไหว รวมถึงยังมี พลังงานไม่เสถียร เนื่องจากบางพื้นที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ด้วยอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้การวางโครงข่ายจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS เล่าให้ฟังว่า เอไอเอสต้องผสมผสานระบบการกระจายสัญญาณและคลื่นไมโครเวฟ ด้วย Super Cell LINK จำนวน 1,600 สถานี เพื่อเชื่อมโยงจากจุดต่อจุด ทั้งจากพื้นที่ราบและพื้นที่หลังทิวเขา มาสู่พื้นที่ร่องเขาด้านล่าง ทำให้ภาคเหนือ เป็นภูมิภาคที่ใช้คลื่นไมโครเวฟมากที่สุด
และด้วยปัญหาด้านพลังงาน ทำให้เสาสัญาณในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 1,700 แห่ง จากทั้งหมด 7,500 แห่ง ใช้พลังงานธรรมชาติอย่างโซลาร์เซล กังหันลม และไฮโดรเจน เพื่อแก้ปัญหา โดยรวมแล้ว ปัจจุบันเอไอเอสมีสถานีฐานกว่า 40,000 แห่ง ทั่วประเทศ และกว่า 13,000 แห่ง ใช้พลังงานธรรมชาติ
น้ำท่วมกลางปี กับภารกิจยื้อสัญญาณ
ช่วงน้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือเมื่อกลางปีที่ผ่านมา หนึ่งในจุดที่ได้รับผลกระทบหนักก็คือ ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เนื่องจากมี ปางช้างมากสุดในไทย รวมช้างกว่า 418 เชือก โดยในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 พื้นที่ดังกล่าวสามารถสร้างรายได้กว่า 1 ล้านบาท/วัน ปัจจุบัน มีรายได้เฉลี่ย 6-8 แสนบาท/วัน
เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้เอไอเอสได้ปูพรมสัญญาณ 5G ทั้งหมด แต่จากเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมา พื้นที่ปางช้างได้รับผลกระทบมาก เพราะฝนตกตลอดเวลา ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ระบบสื่อสารจะล่ม ซึ่งการติดต่อสื่อสารกับภายนอกคือสิ่งสำคัญมาก เพราะต้องใช้เพื่อ ขอความช่วยเหลือ
“น้ำมาตอนตี 4 ซึ่งเราไม่ทันตั้งตัว อย่างแรกที่ต้องทำคือ ติดต่อกับการไฟฟ้าเพื่อตัดไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟช็อต ดังนั้น การสื่อสารสำคัญมาก” อาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ AIS เล่า
ดังนั้น สิ่งที่เอไอเอสต้องทำคือ นำแบตเตอรี่สำรองมาเปลี่ยน ซึ่งมีความหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม ทำให้ต้องใช้รถแม็คโคร ขนแบตเตอร์รี่ขึ้นไปเพื่อไปเพิ่มบรรจุไฟฟ้า ซึ่งแบตฯ 1 ลูกใช้ได้เพียง 3 ชั่วโมง ดังนั้น การจัดการระบบคือ ใช้สัญญาณเพื่อการ สื่อสารเท่านั้น เพื่อยื้อระยะเวลาแบตเตอรี่ให้ใช้ได้นานที่สุด นอกจากนี้ เอไอเอสจะมีรถดาวเทียมปักหลักอยู่เกือบครึ่งเดือน เพื่อเป็นตัวช่วย
“น้ำแรงมาก เราเอารถเข้าไม่ได้ ดังนั้น ต้องใช้รถตักขนแบตเตอรี่เข้ามาเปลี่ยน โชคดีที่เสาสัญญาณสูง 3 เมตร และสายไฟเบอร์ไม่ขาด แต่ที่เรากังวลคือ การใช้งานยิ่งเยอะ ยิ่งกินแบตฯ”
ไม่ใช่แค่การสื่อสาร แต่เปลี่ยนวิถีชีวิต
ปัจจุบัน โครงข่ายสื่อสารของเอไอเอสภาคเหนือมีความพร้อมในการตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งมีความครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ อาทิ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา, อุทยานแห่งชาติแม่ปิง, ห้วยกุ๊บกั๊บ, ทุ่งเกี๊ยะ, บ้านป่าข้าวหลาม, และดอยม่อนล้าน
รวมถึงในพื้นที่ห่างไกลอย่างชายแดน โดยทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในโครงการ Green Energy Green Network For Thais พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและโครงข่ายดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนทั้งการเรียนการสอน, วิถีชีวิตโดยช่วยสร้างาน สร้างอาชีพ รวมถึงการแพทย์ทางไกล
“เราก็เป็นผู้โพรไวด์ทั้งระบบสื่อสารและไฟฟ้า ดังนั้น นอกจากเรื่องสื่อสารมันไม่ใช่แค่โทรได้ แต่การสื่อสารเข้าถึงมันเปลี่ยนการใช้ชีวิต ทำให้เขาเข้าถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น การศึกษา ดังนั้น การสื่อสารมันไม่ใช่เเค่เรื่องการสื่อสาร แต่มันเปลี่ยนเเปลงวิถีชุมชน” กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี AIS ทิ้งท้าย