‘Solar D’ ผุด ‘หุ่นยนต์’ ติดตั้ง ‘โซลาร์เซลล์’ ชูจุดเด่นเร็วขึ้น 10 เท่า ชิงความได้เปรียบชิงชัยตลาด 4 หมื่นล้าน

เชื่อว่าจากราคาค่าไฟที่แพงขึ้น หลายเลยเริ่มมองหาพลังงานทางเลือก และ โซลาร์เซลล์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยปัจจุบัน ไทยมีอัตราการใช้พลังงานทางเลือกเพียง 7% เท่านั้น แปลว่าตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

ไทยใช้พลังงานสะอาดแค่ 7%

รัฐบาลไทยมีการตั้งเป้าการใช้ พลังงานสะอาด เป็นสัดส่วน 60% ภายในปี 2040 ขณะที่ปัจจุบัน การใช้พลังงานสะอาดไทยมีสัดส่วนเพียง 7% หรือราว 10,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น ซึ่งแปลว่ายังมี โอกาสเติบโตอีกมากสำหรับพลังงานสะอาด

สำหรับตลาด พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด หรือ Solar D ประเมินว่า ประเทศไทยมีการใช้โซลาร์เซลล์ปีละ 1,000-2,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเกือบ 100% และปัจจุบัน ตลาดยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

“ในวันที่ราคาพลังงานสูงขึ้น ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมองหาการลดต้นทุนพลังงาน เพื่อการเติบโตระยะยาว และหลายบริษัทมีนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนด้วย” สัมฤทธิ์ กล่าว

เข้าถึงง่าย เพราะต้นทุนลดลงเกือบ 80% 

โดย สัมฤทธิ์ เล่าว่า การเติบโตของตลาดโซลาร์เซลล์ส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์การใช้พลังงานสะอาด และอีกปัจจัยก็คือ ต้นทุนระบบที่ต่ำลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต้นทุนลดลงในระดับ 70-80% ทำให้การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันด้าน ราคา ทำให้ผู้เล่นแต่ละรายหาทาง ลดต้นทุน โดยเฉพาะด้าน การติดตั้ง ที่เป็น pain point ของทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ 

เช่นเดียวกับ Soler D ที่ลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาทตลอด 4 ปีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ Light Speed version 1.0 ที่ช่วยลดเวลาการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถึง 10 เท่า จาก 60 วัน เหลือ 6 วัน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น ช่วยลดรักษาต้นทุน และลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งการติดตั้งที่ เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประหยัดไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 6 แสนบาท 

“ตลาดโซลาร์เซลล์มันก็คืองานก่อสร้าง ดังนั้น ก็จะเน้นที่การคุมต้นทุน ซึ่งเราถือเป็นผู้เล่นที่ทำครบวงจร โดยในตลาดอาจมีไม่น้อย แต่บริษัทที่ทำจริงจังเหมือนเรามีแค่หลักสิบราย”

คาดปีหน้าโกยรายได้แตะ 2,000 ล้าน

ปัจจุบัน Solar D มีรายได้จาก 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell Installation), อีวี ชาร์จเจอร์ (EV charger) และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานอย่าง Tesla Powerwall นอกจากนี้ และยังมีธุรกิจภายใต้สัญญาเพื่อซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนในระยะยาว

โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท  เติบโตขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตเป็น 1,400 ล้านบาท และในปีหน้ามั่นใจว่ารายได้จะแตะที่ 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะเน้นจับลูกค้าอาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงงาน เป็นต้น 

ปีหน้าเข้าตลาด

นอกจากทำรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท อีกเป้าหมายของบริษัทก็คือ เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดย สัมฤทธิ์ อธิบายว่า เพราะ ไม่อยากแค่ขายพลังงาน เนื่องจากตลาดพลังงานสะอาดมีขนาดใหญ่ และมีเรื่องให้ทำอีกมาก และมองว่าพลังงานสะอาดจะช่วยเข้ามาแก้ปัญหาสังคมไทยได้ด้วย เช่น การผลิตไฟที่เกินกว่าที่ใช้หมด ก็สามารถนำมาขายได้ สร้างรายได้ใหม่ ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้พลังงานโซลาร์เซลล์จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะต้นทุนที่ถูกลง แต่หากนับเฉพาะ การใช้โซลาร์เซลล์ในบ้าน ยังเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากมีเรื่องทางเทคนิค และต้องติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งต้นทุนสูง ดังนั้น บริษัทจึงต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านนี้ เร่งการเปลี่ยนผ่านพลังานแสงอาทิตย์ไปสู่เมนสตรีม

“เราต้องการเข้าไปจัดการและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานสะอาด จนนำไปสู่การมี well being ที่ดีขึ้นของคนไทยในอนาคต ดังนั้น มันไม่ใช่แค่ทำให้ค่าไฟถูกลง แต่โซลาร์เซลล์จะเข้าไปแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ของสังคม เพราะตอนนี้คนไทยไม่มีตัวเลือก พลังงานไฟฟ้าไทยยังเป็น Centralization” สัมฤทธิ์ ทิ้งท้าย