ชื่อทรัมป์ทำพิษ! ฉุดส่งออก ‘จีน’ ชะลอตัวลง นักวิเคราะห์เชื่อ ผลกระทบจะยิ่งชัดในเดือนธ.ค.-ม.ค

ขนส่ง รถไฟจีน
คาร์โกขนส่งจากจีนระหว่างทางไปยุโรป ในเมืองเบรสต์ เบลารุส (Photo: Shutterstock)
การส่งออกของ จีน ในเดือนพ.ย. เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าหดตัวกว่าที่คาด ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์จะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ ที่นำมาซึ่งความเสี่ยงทางการค้าใหม่

ข้อมูล ศุลกากรจีน แสดงให้เห็นว่า การส่งออกของประเทศในเดือนพ.ย. เติบโตเพียง +6.7% ซึ่งน้อยกว่าการสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์ของ Reuters ที่ระบุว่า เพิ่มขึ้น +8.5% และน้อยกว่าในเดือนตุลาคมซึ่งเพิ่มขึ้น +12.7%

ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ปริมาณ การนำเข้าหดตัว 3.9% ซึ่งถือเป็นผลงานที่แย่ที่สุดในรอบ 9 เดือน และต่ำกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้มีการสนับสนุนนโยบายเพิ่มเติมเพื่อพยุงอุปสงค์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยผลการส่งออกที่ลดลง ได้เกิดขึ้นหลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มอีก 10% เพื่อกดดันให้รัฐบาลจีน หยุดยั้งการค้าสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเฟนทานิล และก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยกล่าวไว้ว่า จะเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนเกิน 60%

ในขณะเดียวกัน จีนยังไม่สามารถจัดกับความตึงเครียดกับสหภาพยุโรปกรณีภาษีนำเข้าสูงถึง 45.3% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน ถือเป็นภัยคุกคามที่จะเปิดแนวร่วมที่สองในการทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับฝ่ายตะวันตก ดังนั้น การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อจีนมากขึ้น เนื่องจากการส่งออกของเศรษฐกิจจีนที่มีมูลค่า 19 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นแรงกระตุ้นการเติบโตหลักประการหนึ่ง ในขณะที่ความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจ ลดลงจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์

“สัญญาณเริ่มแรกของการเร่งรัดการค้าเพื่อเตรียมรับมือภาษีของทรัมป์ในปีหน้าเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว แต่ผลกระทบเต็มที่จะไม่ปรากฏให้เห็นจนกว่าจะถึงเดือนต่อ ๆ ไป โดยเฉพาะเดือนธันวาคมและมกราคม” Xu Tianchen นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Economist Intelligence Unit กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการนำเข้าที่ลดลง ส่งผลให้การค้าของจีนเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 97,440 ล้านดอลลาร์ ในเดือนที่แล้ว จาก 95,720 ล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม โดยเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างเล็กน้อยเมื่อไม่นานนี้ โดยผู้ผลิตรายงานสภาวะการดำเนินธุรกิจที่ดีที่สุดในรอบ 7 เดือนจากการสำรวจโรงงานในเดือนพฤศจิกายน

บริษัทต่าง ๆ กล่าวว่า พวกเขายังคง ได้รับคำสั่งซื้อส่งออกน้อยลง แสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อยังคงหายากในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และผู้ส่งออกกำลังย้ายสินค้าไปยังคลังสินค้าในต่างประเทศ เนื่องจากคาดว่าความต้องการจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ขณะที่การส่งออกของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการนำเข้าของจีน ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนในเดือนพฤศจิกายน และการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ไปยังจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ผลิตในจีนซื้อส่วนประกอบของเกาหลีใต้น้อยลงเพื่อส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปอีกครั้ง

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาของรัฐบาลแนะนำให้ปักกิ่งคงเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ประมาณ 5% ในปีหน้า และดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของสหรัฐฯ โดยอาศัยตลาดผู้บริโภคภายในประเทศ