ไขปม “พฤกษา” เขย่าโครงสร้างผู้บริหาร ตั้ง “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” นั่งประธานบอร์ด “แมนพงศ์ เสนาณรงค์” นั่งกรรมการอิสระ ควบประธานคณะกรรมการลงทุน
ดึง 2 มือปืนรับจ้าง นั่งบริหารงาน
หลัง “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์“ ผู้ก่อตั้ง และผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) หวนคืนตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ไปเมื่อท้ายปี 2567 ไปหมาด ๆ
พฤกษา ก็ปรับโครงสร้างผู้บริหารอีกระลอก ตามสไตล์ทองมา “คิดเร็ว ทำเร็ว” โดยได้แต่งตั้ง 2 ผู้บริหารใหม่ ประสบการณ์โชกโชน ได้แก่
1.รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท แทน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ซึ่งเกษียณอายุครบ 72 ปี ตามข้อกำหนดในกฎบัตรคณะกรรมการบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
รุ่งโรจน์ สำเร็จการศึกษา MBA จาก Harvard Business School และเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (ปี พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2566) และพาบริษัทฝ่าวิกฤตหลายระลอก โดยเฉพาะด่านหินอย่างโควิด รวมไปถึงการดัน SCG Packaging เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และการเดินหน้าโครงการในเวียดนาม
สะท้อนว่า “รุ่งโรจน์” มีความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการธุรกิจเศรษฐกิจ และการลงทุนในองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ การต่างประเทศ การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ และการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2.แมนพงศ์ เสนาณรงค์ ตำแหน่ง กรรมการอิสระรวมทั้งแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการลงทุน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
สำหรับ “แมนพงศ์” สำเร็จการศึกษา MBA ด้าน Finance and Quantitative จาก Cleveland State University ประเทศสหรัฐอเมริกา
รวมถึงเป็นอดีตรองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความรู้ด้านการจัดการโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างธุรกิจ และการวางกลยุทธ์ธุรกิจ
และมีประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารวาณิชธนกิจ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินให้กับบริษัทเอกชน และสถาบันการเงิน
ทำไมพฤกษาปรับโครงสร้าง?
ในการการแต่งตั้งผู้บริหารครั้งนี้ พฤกษา มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน จากปัจจุบันมี 2 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเฮลท์แคร์
ที่แม้ปัจจุบันจะผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปแล้ว แต่ผลกระทบยังลากยาวมาถึงขณะนี้ ในแง่การเติบโตเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว
พฤกษา มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่ ราว ๆ 70% ในกลุ่มล่างและกลุ่มกลาง ซึ่งจะได้รับปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโดยตรง สะท้อนจากผลประกอบการพฤกษาที่ปรับลดลง
โดยช่วง 9 เดือน (ม.ค. – ก.ย.) ปี 2567 ทำรายได้รวม 15,607 ล้านบาท ลดลง 21.55% (YoY) และกำไรสุทธิ 752 ล้านบาท ลดลง 63.85% (YoY)
ทั้งนี้ ด้านรายได้ตกมาเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่มอสังหา และกำไรสุทธิอยู่ที่อันดับ 10 ของกลุ่มอสังหา “จากช่วงพีก ๆ เคยติด Top 3”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพฤกษา พยายามปรับแผนหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ บาลานซ์พอร์ตที่อยู่อาศัยเน้นบ้านระดับบนมากขึ้น โดยกลุ่มบน (ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป) มีสัดส่วน 30% กลุ่มกลาง (ราคา 3-10 ล้านบาท) สัดส่วน 40% และกลุ่มล่าง (ต่ำกว่า 3 ล้านบาท) สัดส่วน 30%