DKSH ร่วมกับ FrontierView เผยผลการศึกษาตลาดสุขภาพของไทย ชี้โอกาสและความท้าทายเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัดร่วมมือกับ FrontierView เผยผลการศึกษาตลาดสุขภาพของไทยในหัวข้อ “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอกาสแห่งการเติบโตของธุรกิจดูแลสุขภาพ” ผลการศึกษาฉบับนี้ได้เผยถึงแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาของตลาดสุขภาพ โดยเฉพาะในประเทศไทย

บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ด้านโซลูชันการดูแลสุขภาพและผู้นำด้านการขยายตลาดสำหรับบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยาบริษัทผู้ผลิตยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ (OTC) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ ได้ร่วมมือกับ FrontierView บริษัทที่ปรึกษาและให้บริการด้านข้อมูลชั้นนำ จัดทำเอกสารการศึกษา (Whitepaper) ในหัวข้อ “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โอกาสแห่งการเติบโตของธุรกิจดูแลสุขภาพ” ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของตลาดสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีการเติบโตสูงและได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยาทั่วโลกเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ยังมีความท้าทายที่หลายฝ่ายต้องหาแนวทางจัดการบริหารร่วมกัน เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้มากขึ้น
อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การขยายธุรกิจการดูแลสุขภาพของภาคเอกชน และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPPs) อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้มาพร้อมกับความท้าทายหลายประการ ตั้งแต่การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ความต้องการด้านงบประมาณ และข้อจำกัดด้านนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ หากสามารถบริหารจัดการความท้าทายเหล่านี้ได้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้

นายแพทริค แกรนเด รองประธานฝ่ายบริหาร และหัวหน้าฝ่าย Commercial Outsourcing ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก DKSH กล่าวว่า “เอกสารการศึกษานี้ช่วยยืนยันในความเชื่อมั่นที่เรามีต่อตลาดในประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูงที่สุดในภูมิภาค สำหรับบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยา สินค้าสุขภาพ และอุปกรณ์การแพทย์ การขยายตัวของชนชั้นกลางอย่างต่อเนื่องและการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ความต้องการบริการด้านสุขภาพจากภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพในประเทศไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาและการดูแลที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน”

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนคือกลยุทธ์สำคัญสำหรับการเติบโตในระยะยาว

เมื่อความต้องการด้านสุขภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPPs) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในระบบสุขภาพภาครัฐ ตัวอย่างที่เด่นชัดคือโครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ที่ภาครัฐและเอกชนทำร่วมกัน ความร่วมมือเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพภายใต้ทรัพยากรที่ภาครัฐมีอยู่ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนยังนำเอาความเชี่ยวชาญ ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และนวัตกรรมที่จำเป็นมาช่วยจัดการกับความต้องการด้านสุขภาพที่ซับซ้อนมากขึ้นของประเทศไทยอีกด้วย

ความท้าทายในตลาดสุขภาพของประเทศไทย

แม้ว่าอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพในประเทศไทยจะเติบโตอย่างมาก แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการร่วมกันเพื่อความยั่งยืน

• การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์คือความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่ง แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์มีแนวโน้มจะย้ายไปยังภาคเอกชน ทำให้การกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ไม่สมดุลส่งผลให้ภาครัฐต้องรับมือกับความต้องการในด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น

• ระบบประกันสังคมของประเทศไทยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดหาทุนสำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชนกำลังเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรายได้ในระบบลดลงในขณะที่ความต้องการบริการสุขภาพโดยเฉพาะในโรงพยาบาลภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มการลงทุนในประกันสุขภาพเอกชนอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการกับสถานการณ์นี้

• ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบควบคุมดูแลระบบสุขภาพส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีการออกมาตรการต่างๆเช่น แนวทางการประเมินร่วมของอาเซียน (The ASEAN Joint Assessment pathway) การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ แต่การผลิตเวชภัณฑ์ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศก็ยังไม่เพิ่มมากนัก ไทยยังคงนำเข้าสินค้าทางการแพทย์จำนวนมากและหากบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศ ก็อาจทำให้การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นอีก

• ธุรกิจสุขภาพภาคเอกชนในประเทศไทยเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ยากขึ้น โรงพยาบาลหลายแห่งจึงเลือกที่จะเช่าอุปกรณ์การแพทย์แทนการซื้อขาด ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น

การบริหารจัดการโอกาสและความท้าทาย

ตลาดสุขภาพของประเทศไทยมีโอกาสมหาศาล โดยเฉพาะการเติบโตที่ต่อเนื่องของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาทิศทางที่ดีนี้ เอกสารการศึกษาได้ระบุว่า ประเทศไทยจะต้องบริหารจัดการเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ และข้อจำกัดจากกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้การแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นทางแก้ปัญหาที่ดี แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบการดูแลสุขภาพ

“DKSH ยังคงเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมสุขภาพในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านความเชี่ยวชาญด้านการขยายตลาดเชิงพาณิชย์ การปฏิบัติตามกฏระเบียบต่างๆ และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้มากขึ้นด้วยประสบการณ์กว่า 100 ปีในการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เคียงข้างคู่ค้าของเราในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย เราได้สะสมองค์ความรู้มากมายและมีความภาคภูมิใจและยินดีอย่างยิ่งที่ได้แบ่งปันองค์ความรู้ของเราเพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเอกสารการศึกษาฉบับนี้” นายแพทริคกล่าวเพิ่มเติม

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยจากเอกสารการศึกษาฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/hecwhitepaper.